วันนี้ (28 พฤษภาคม 2556) ณ โรงแรมดุสิตธานี เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า เป็นอีกหนึ่งในงานใหญ่ประจำปี ที่จะแสดงศักยภาพและแสดงถึงความก้าวหน้า ในการผลิตเหรียญกษาปณ์ของไทยในระดับสากล สำหรับงาน การประชุมโรงกษาปณ์ในกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 16 (The Technical Meeting of Mints in ASEAN) หรือ TEMAN ที่กระทรวงการคลังจะเป็นเจ้าภาพภายใต้แนวคิดหลัก “Partnership in Excellence” ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2556 นี้โดยมีผู้แทนจากโรงกษาปณ์ในกลุ่มประเทศอาเซียน รวม 10 ประเทศ ประกอบด้วย บรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศไทย
นอกจากกลุ่มประเทศในอาเซียนที่จะเข้าร่วมงานดังกล่าวแล้ว ภายในงานจะมีผู้แทนจากโรงกษาปณ์ ตลอดจนภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเหรียญกษาปณ์ ในกลุ่มประเทศทวีปอเมริกา ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย ประมาณ 200 คน เข้าร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันด้วย
นายนริศ กล่าวต่อว่า การจัดงาน การจัดงานประชุม TEMAN ครั้งที่ 16 นอกจากเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้ ระหว่างกันแล้ว ยังมีการจัดแสดงเทคโนโลยีล่าสุดในการผลิตเหรียญกษาปณ์ โดยบริษัทผู้ผลิตเหรียญเปล่า เครื่องมือ และเครื่องจักร พร้อมทั้งนำชมการผลิตเหรียญกษาปณ์ของไทยเพื่อแสดงถึงศักยภาพความเป็นผู้นำทั้งฝีมือการผลิตและความชำนาญที่ได้รับการยอมรับ และถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตเหรียญกษาปณ์เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเซีย นอกจากนี้ โรงกษาปณ์ไทย ยังมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางในการผลิตเหรียญกษาปณ์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องด้วยหลายประเทศในอาเซียนยังไม่มีโรงกษาปณ์ เป็นของตัวเอง และจำนวนประชากรในอาเซียนมีความจำเป็นต้องใช้เหรียญกษาปณ์ มากกว่า 600 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้เข้าของประเทศนับหมื่นล้านบาทต่อปี หลังจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558
โดยในการประชุมทางวิชาการ ในวันอังคารที่ 28 — วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2556 จะมีเนื้อหาสาระสำคัญ จำนวนทั้งสิ้น 21 บทความ ซึ่งแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 “Future of Money” เป็นเรื่องเกี่ยวกับอนาคตของเงินตรา มี 2 บทความ บทความแรก บรรยายโดยผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และโรงกษาปณ์ออสเตรีย กล่าวถึงแนวโน้มการใช้จ่ายเงินทั้งธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ เปรียบเทียบกับการใช้ electronic card และวิธีการชำระเงินแบบอื่น ๆ ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ยังคงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกหรือไม่ บทความที่ 2 เป็นเรื่องรูปแบบเงินตราในอนาคตอันใกล้ มีลักษณะคล้ายเหรียญทำด้วยพลาสติก บรรจุข้อมูลอิเลคทรอนิกของการใช้จ่ายเงิน ใช้แทนเงินตราเรียกว่า “MintChip” เป็นวิวัฒนาการของเงินตรา เสนอโดยโรงกษาปณ์แคนาดา
กลุ่มที่ 2 “Coinage Material & Coin Security” มี 4 บทความ เป็นเรื่องเกี่ยวกับโลหะผลิตเหรียญและการออกแบบเหรียญกษาปณ์ให้มีต้นทุนต่ำแต่มีความปลอดภัยสูง (ในการป้องกันการปลอมแปลง)
กลุ่มที่ 3 “Development & Innovation in Minting Industry” มี 7 บทความ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการผลิตเหรียญกษาปณ์ ทั้งเครื่องจักรในการตีตราเหรียญ คัดเลือกเหรียญ และล้างเหรียญตัวเปล่า และเทคโนโลยีเลเซอร์ในการทำแม่ตรา ดวงตรา
กลุ่มที่ 4 หัวข้อ “Process Improvement” มี 5 บทความ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตเหรียญ นำเสนอโดยผู้แทนโรงกษาปณ์ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งโรงกษาปณ์ไทย ซึ่งจะนำเสนอ 2 บทความ คือ เรื่อง “Improvement of Royal Medal Manufacturing Process” กล่าวถึงการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตเหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ และเรื่อง “Die Steel for 1 Baht Nickel Plated Steel Coin” กล่าวถึงการศึกษาเลือกเหล็กทำดวงตราสำหรับตีตราเหรียญชนิดราคา 1 บาท โลหะนิกเกิลชุบเคลือบไส้เหล็ก
และกลุ่มที่ 5 หัวข้อ “Advancement of Plating Process” มี 3 บทความ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของกระบวนการผลิตเหรียญตัวเปล่าโลหะชุบเคลือบไส้เหล็ก
สำหรับการประชุม TEMAN ครั้งที่ 16 ในครั้งนี้ กรมธนารักษ์ยังได้จัดทำเหรียญที่ระลึก TEMAN สำหรับ มอบให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุม และนับเป็นครั้งแรกที่จะเปิดจำหน่ายเหรียญที่ระลึก TEMAN ให้ประชาชนที่สนใจ โดยมี 2 ประเภท คือ เหรียญที่ระลึกเงิน ราคาเหรียญละ 3,500 บาท และเหรียญที่ระลึกทองแดง ราคาเหรียญละ 600 บาท โดยจัดจำหน่าย ณ สำนักกษาปณ์ รังสิต ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2556 เป็นต้นไป และที่โรงแรมดุสิตธานี เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 27 — 30 พฤษภาคม 2556 อธิบดีกรมธนารักษ์กล่าว