กรมการแพทย์พร้อมรับมือหากโรคไข้เลือดออกเกิดการระบาดใหญ่ในปี 56

พฤหัส ๓๐ พฤษภาคม ๒๐๑๓ ๐๙:๕๐
แพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกว่า จากข้อมูลการคาดสถานการณ์โรคไข้เลือดออกทั่วประเทศจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคมีการพยากรณ์เอาไว้ว่าในปี 2556 จะมีการระบาดใหญ่ของโรคไข้เลือดออก โดยคาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 100,000 — 150,000 ราย และอาจมีผู้ป่วยเสียชีวิตสูงถึง 100-140 ราย ในขณะที่ข้อมูลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2556 ระบุว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงถึง 30,588 ราย เสียชีวิต 36 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 ในช่วงเวลาเดียวกันพบว่ามีผู้ป่วยมากเป็น 3.4 เท่า จำนวนผู้เสียชีวิตมากเป็น 3.67 เท่า และเป็นปีที่พบว่ามีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา

สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโรคไข้เลือดออกที่อาจเกิดขึ้นในปี 2556 กระทรวงสาธารณสุขได้มอบนโยบายให้กรมการแพทย์จัดอบรมแพทย์ทั้งแพทย์ดูแลเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อฟื้นฟูองค์ความรู้ให้มีความชำนาญและแม่นยำในการวินิจฉัยผู้ป่วย กรมการแพทย์จึงได้มีการจัดอบรมให้ความรู้แก่ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ครูและประชาชน 4 ครั้งใน 4 ภาค มีการเตรียมทีมวิทยากรด้านการแพทย์และการพยาบาลที่มีความรู้และประสบการณ์สูงและพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือในการพัฒนาศักยภาพด้านการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ประสานให้มีเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ ที่จำเป็นในการวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกในสถานบริการทุกระดับ ร่วมพัฒนาระบบการปรึกษาในระดับจังหวัดและเขต จัดให้มีกิจกรรมการให้ความรู้ประชาชน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขอย่างทั่วถึง มีการติดตาม กำกับ และประเมินผลการปฏิบัติงาน จัดให้มีเครือข่ายระบบการปรึกษาปัญหาเรื่องโรคไข้เลือดออกผ่านทางโทรศัพท์สายด่วน แพทย์ และพยาบาล ตลอด 24 ชั่วโมง โทร. 08-9204-5522 และ 08-9294-2255 รวมทั้งมีการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทันเวลา

ด้าน แพทย์หญิงศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางโรคไข้เลือดออก สังกัดกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในปัจจุบันพบว่าไม่ว่ากลุ่มเด็ก หรือผู้ใหญ่ สามารถป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ กลุ่มอายุที่พบมากคือระหว่าง 10-25 ปี กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตสูงเมื่อป่วยเป็นไข้เลือดออกได้แก่ เด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี ผู้สูงอายุ คนท้อง คนอ้วน ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ โรคเลือด เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วย ที่มีลักษณะเหล่านี้ จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมแพทย์พยาบาลที่มีประสบการณ์

สาเหตุการเสียชีวิตทั้งในเด็กและผู้ใหญ่มาจากสาเหตุ สำคัญ ๆ ได้แก่ 1.ผู้ป่วยไม่รู้หรือคาดไม่ถึงว่าจะป่วยเป็นไข้เลือดออกเมื่ออาการไข้ลงก็เข้าใจว่าหาย กลับเป็นคนไข้กำลังเข้าสู่ระยะช็อก 2. ผู้ป่วยซื้อยามากินเอง มีผลให้เลือดออกง่ายขึ้น 3. ผู้ป่วยมาด้วยอาการอื่นที่ไม่ใช่อาการหลักของโรคไข้เลือดออก เช่น ท้องเสีย น้ำมูกมาก ฯลฯ ทำให้ มีโอกาสวินิจฉัยคลาดเคลื่อนได้รับการรักษาพยาบาลที่ไม่ถูกต้อง

คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไปในการสังเกตอาการที่สงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออกคือหากมีไข้สูงในช่วงนี้ให้คำนึงถึงโรคไข้เลือดออกเป็นหลัก อาจปวดศีรษะ ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา มีผื่น มีเลือดออก เช่นจุดเลือดออกตามผิวหนัง เลือดกำเดาไหล หรือมีประจำเดือน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารปวดท้อง ที่สำคัญถ้ามีไข้สูง 2-3 วัน กินยาลดไข้แล้วไม่หายหรือเมื่อไข้ลดแล้วยังมีอาการอ่อนเพลียอยู่ ให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อเจาะเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคและทำการรักษาต่อไป

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการแพทย์ โทร.0-2591-8254

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ