ระดมทีมก่อตั้งอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยประสานผู้เชี่ยวชาญระดับโลก จัดงาน INET Bangkok 2013

ศุกร์ ๓๑ พฤษภาคม ๒๐๑๓ ๐๙:๔๘
ระดมทีมก่อตั้งอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยประสานผู้เชี่ยวชาญระดับโลก จัดงาน INET Bangkok 2013 วางยุทธศาสตร์พัฒนาทุกมิติหลังเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วเชื่อในงาน 6-7-8 มิถุนายนนี้เกิดทางออกของภูมิภาค

นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที เปิดเผยว่า เมื่อปลายปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ร่วมกับอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ประเทศไทย หรือ ISOC ในการแสดงเจตนารมย์ไม่บรรจุคำนิยามเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตเข้าไว้ในวาระการประชุมของ ITU เพื่อทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีข้อจำกัดทางธุรกิจมาเป็นตัวขัดขวางทำให้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและตัวแทนภาคเอกชนของไทยได้ใกล้ชิดและมองเห็นแนวทางที่จะร่วมกันพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตของไทยให้เติบโตขึ้นอย่างมีแบบแผนโดยมีองค์กรในระดับโลกเข้ามาช่วยเหลือ

งาน INET Bangkok ซึ่งเป็นงานด้านอินเทอร์เน็ตระดับภูมิภาคจึงเป็นรูปธรรมของการจะพัฒนาอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคนี้ที่เกิดจากความร่วมมือของกระทรวงไอซีที สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือ สวทช., สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์, สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, ทีโอที, ทีเฮชนิค และกลุ่มผู้ร่วมงานรายอื่นๆ อีกจำนวนมาก จับมือกับ ISOC ซึ่งเป็นเจ้าของงานและเลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพที่ถือว่าเป็นครั้งแรก ต้อนรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ของโลก ทำให้ไทยกลายเป็นจุดสำคัญในภูมิภาคนี้ขึ้นมาทันที

ในรอบปีที่ผ่านมากระทรวงไอซีที แม้จะเร่งความเร็วในการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะผ่านสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็ได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น แต่การที่ยุทธศาสตร์ของกระทรวงในช่วงนี้ถือเป็นการปูพื้นฐานเพื่อที่จะรองรับการก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ระบบ GIN กลายเป็น Super GIN ทำให้หน่วยงานภาครัฐไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดก็สามารถเข้ามาใช้โครงข่ายสารสนเทศภาครัฐได้ทั้งหมดก็จะทำให้เกิดการพลิกโฉมหน้าครั้งใหญ่ในการทำงานต่อไป

ยิ่งการที่สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เปิดให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งภาครัฐ ก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงาน และทัศนคติในการให้บริการประชาชนแนวใหม่ ถือเป็นการขับเคลื่อนโดยการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งลูกเล่นที่จะตามมาไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบบ Software as a Service ภาครัฐและการสร้างระบบ Government App Store ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนสามารถโหลดโปรแกรมการบริการของภาครัฐไปใช้ในอุปกรณ์ต่างๆได้ก็จะยิ่งทำให้การวางยุทธศาสตร์ใหญ่ทางด้านอินเทอร์เน็ตมีความจำเป็นมากขึ้น

ขณะเดียวกันกระทรวงไอซีทีก็ให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ยกร่างแผนแม่บทเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ เพื่อให้เกิดกฎหมายรองรับอนุสัญญาว่าด้วยการใช้การติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ในสัญญาระหว่างประเทศ หรืออนุสัญญา e-Contracts ขึ้นมา และเกิดมาตรฐานการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ National Payment MessageStandard หรือ NPMS สำหรับภาคการเงิน นอกจากนี้ยังได้ทำกฎหมายที่รองรับการจัดทำสิ่งพิมพ์ให้กับระบบการออกใบรับรองนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ e-Certificate ของกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงต้องลดปัญหาภัยคุกคามPhishing ที่ช่วยปกป้องมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 3,500 ล้านบาท

แม้ปัจจุบันการทำธุรกรรมทางออนไลน์ หรือ e-Transaction จากผู้ใช้คอมพิวเตอร์ประมาณ 32% ของประชากร มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือประมาณ 66.4% มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 23.7% มีบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ค (Facebook) ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียยอดนิยมสูงถึง 12,797,500บัญชี ตัวเลขจากมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ปี 53 หรืออีคอมเมิร์ซ จากมูลค่าที่สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจได้ คือ 608,587 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขของการโอนเงินและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็มีตัวเลขที่สูงถึง795,495พันล้านบาท ตัวเลขทั้งหมดจะเติบโตขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้นยุทธศาสตร์การพัฒนาอินเทอร์เน็ตจึงต้องถูกวางให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังเข้ามาโดยเร่งด่วน

ในงาน INET Bangkok 2013 ในครั้งนี้กระทรวงไอซีทีเองก็คาดหวังเช่นกันว่า ประเทศไทยจะได้เห็นแนวทางการรับมืออันเกิดจากเทคโนโลยีใหม่ ไม่ว่าจะเป็น IPV6, WebRTCหรือแม้กระทั่ง Big Data ที่กำลังพูดถึงในขณะนี้จะได้ถูกขยายและทำให้ทุกภาคส่วนให้มองเห็นภาพได้ชัดเจน จนสามารถเข้ามารับมือได้อย่างถูกต้อง ซึ่งงานนี้มีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีมาชี้นำแนวทาง และมีผู้เข้าร่วมทั้งจากภาครัฐของไทย ภาคธุรกิจอินเทอร์เน็ตทั้งของไทยและจากทุกมุมโลก มาร่วมกันหาแนวทาง แน่นอนจะทำให้ทุกภาคส่วนของประเทศไทยได้ตื่นตัวและเห็นความสำคัญของประเด็นเหล่านี้ได้อย่างทันท่วงที

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือ สวทช. เปิดเผยว่า 25 ปีที่ผ่านมา อินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนแปลงระบบสื่อสารของคนทั่วโลกจากโทรศัพท์ราคาแพง กลายเป็นการหลอมรวมของสื่อจดหมาย ข้อความสั้น ประชุมทางไกลด้วยภาพ การกระจายเสียง สื่อสิ่งพิมพ์ กลายเป็นสื่อสังคมทั้งในสภาพข้อความ เสียง ภาพเคลื่อนไหว ควบคู่ไปกับอุปกรณ์ (devices) ราคาถูก อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และเครื่องมือค้นหาข้อมูล (search engines) ที่ทรงพลังน่าจะกล่าวได้ว่า อินเทอร์เน็ตเป็นของทุกคน

และอีก 25 ปี ข้างหน้าเราจะเห็นภาพอนาคตอย่างไร อำนาจทางเศรษฐกิจ และการเมืองระดับโลกจะอยู่กับชาติใด ย่อมขึ้นอยู่กับความพร้อมของคนในชาตินั้นๆ ประเทศไทยพร้อมที่จะยืนอยู่ในสังคมไซเบอร์จริงหรือไม่ อินเทอร์เน็ตยุคหน้า, ประเด็นความมั่นคง, การคุ้มครองชื่อการค้า การค้าข่ายในอินเทอร์เน็ต, การสร้าง/สื่อสารกับมวลชนในอินเทอร์เน็ต และการพัฒนากองทัพผู้ชำนาญการเข้าสู่วงการค้าปกติที่ต้องซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต รวมถึงการไล่จับผู้ร้ายทางอินเทอร์เน็ต และการดูแลข้อมูลมหาศาล (Bigdata) ที่เกิดจากข้อมูลที่หลั่งไหลมาจากอุปกรณ์นานาชนิด (Internet of Things) กับระบบการบริการเก็บข้อมูล และคำนวณแบบคลาวด์ ซึ่งในงานINET Bangkok 2013 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 6-7-8 มิถุนายนนี้ จะเป็นการจุดประกาย ให้กับประเทศไทยในครั้งนี้

ISOC เจาะลึกงาน INET Bangkok

อนาคตอินเทอร์เน็ตภูมิภาคเปลี่ยน

นางสาวดวงทิพย์ โฉมปรางค์ ผู้บริหารอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ประเทศไทย (ISOC) เปิดเผยว่า งาน INET Bangkok ถือว่าเป็นการจัดงาน INET ในระดับภูมิภาค ซึ่งแต่ละปีจะมีประเทศในแต่ละภูมิภาคที่มีศักยภาพเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับให้เป็นผู้จัดงาน ซึ่งลักษณะงานจะแตกต่างจากการจัดงาน INET Global ซึ่งจะเน้นทิศทางในระดับโลก แต่สำหรับงานนี้ ISOC มุ่งเน้นแค่การเกิดยุทธศาสตร์ใหม่ของประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องอินเทอร์เน็ต และทิศทางโดยรวมของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งหัวข้อในปีนี้คือ The Power to Create หรือ อินเทอร์เน็ต : พลังแห่งการ สร้างสรรค์

ปกติแล้วงาน INET จะไม่ใช่เป็นเพียงงานเวทีเสวนาวิชาการในเรื่องเกี่ยวกับพัฒนาการและบทบาทของอินเทอร์เน็ตที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของผู้คนในประเทศเท่านั้น แต่จะเป็นเวทีที่ผลักดันให้เกิดการรวมตัวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการใช้อินเทอร์เน็ต ทั้งจาก ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชน โดยมุ่งหวังว่าผลจากการจัดงานจะเกิดกลุ่มเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอินเทอร์เน็ตของประเทศไทย ที่เข้มแข็ง และสามารถผลักดันให้เกิดการทำงานที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้ขึ้นต่อไป

งาน INET Bangkok ครั้งนี้ ทาง ISOC ได้ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือสวทช. และหน่วยงานพันธมิตรที่มีส่วนในการร่วมพัฒนาอินเทอร์เน็ตของประเทศไทย โดยในงานจะมีทั้งส่วนที่เป็นการสัมมนาและนิทรรศการ ในส่วนการสัมมนา จะมี 4 เรื่อง ได้แก่ Technology Track, Innovation Track, iSociety Track, และ Future Track

ในส่วนของหมวดเทคโนโลยี หรือ Technology Track จะมีการนำเสนอประเด็นด้านโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว กับผลกระทบต่อการทำธุรกิจและกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ IPv6, Cloud Computing Software Development, และ WebRTC

ประเด็นสำคัญของ IPV6 ที่จะมีการหายุทธศาสตร์การบริหารต่อไปคือ สาเหตุที่ประเทศไทยต้องนำ IPv6 มาใช้, ข้อได้เปรียบเสียเปรียบและผลกระทบในระยะยาวจะมีต่อกลุ่มใดมากที่สุด, คำตอบที่ถูกต้องสำหรับอนาคตของประเทศไทยกรณี IPV6ส่วนประเด็นของ WebRTCถือเป็นเรื่องใหม่อย่างมากในระดับโลกและหลายคนในวงการคาดว่าจะเปลี่ยนโฉมการใช้งานของอินเทอร์เน็ตโดยสิ้นเชิง โดยในงาน INET Bangkok จะเปิดการสาธิตวิธีการใช้งานใหม่ที่หายาก จากการนำเสนอโดยผู้ริเริ่มคิดเทคโนโลยี WebRTCเอง คือ Dr. Cullen Jennings ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานคณะทำงานกลุ่มพัฒนามาตรฐาน Web RTC กับหน่วยงาน IETF และ W3C ซึ่งเป็นองค์กรกลางที่กำหนดมาตรฐานอินเทอร์เน็ตและเว็บเทคโนโลยี งานนี้จะทำให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสนวัตกรรมใหม่ของโลกที่ยังไม่ได้นำไปใช้ที่ใดในโลกมาก่อน สามารถนำแนวคิดใหม่ๆ มาสร้างโอกาสให้กับตัวเอง เช่น การประยุกต์บริการใหม่ๆ สินค้าใหม่ๆ หรือแม้ธุรกิจใหม่ๆ ภายใต้แนวคิดอนาคตของ “Internet of Things”

ด้านหมวดนวัตกรรม หรือ Innovation Track นั้นจะมีการนำเสนอเรื่องนวัตกรรมที่ส่งผล ต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งานทั้งในระดับองค์กร และพฤติกรรมของผู้ใช้ในระดับปัจเจกบุคคล เช่นMobile-Commerce, E-Commerce, Cloud Computing, e-Government (Cloud), และ Smart Devices/ Systems 4. Smart Service/ System โดยจะนำประสบการณ์ของประเทศไทยมาวิเคราะห์ทั้งระบบ รวมถึงมีการสาธิตระบบเกษตรกรอัจฉริยะ e-farming และระบบคุณหมอไร้สาย e-healthcare

ส่วนทางด้านหมวดอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม หรือ i-Society Track จะมีการนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับความท้าทายและความกังวลที่เกิดขึ้นในสังคมข้อมูลข่าวสาร และเศรษฐกิจยุคดิจิตอลตั้งแต่ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงแนวทางพัฒนาอินเทอร์เน็ต หรือ Integrated Internet Development Strategies, ยุครัฐบาลโปร่งใสด้วยอินเทอร์เน็ตและการเปิดเสรีทางการค้า หรือGovernance in the Age of the Internet and Free Trade Agreements (FTA), และ Digital Footprint

โดยเฉพาะ Digital Footprint จะมีการจัดเวิร์คชอปเพื่อให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้รับรู้เรื่องสิทธิประโยชน์และความแตกต่างจากผู้บริโภคทั่วๆไป, เรียนรู้กฎหมายอินเทอร์เน็ตที่ปกป้องผู้ใช้, เข้าใจคำศัพท์เฉพาะทางที่เกี่ยวกับสังคม ในยุคดิจิตอลและนัยสำคัญเช่น Net neutrality, Privacy, Trust ,digital identity, intermediary liability เป็นต้น ภายใต้แนวคิดที่ว่าสังคมยุคใหม่จะต้องรู้มากกว่าไม่รู้ เพราะกฎหมายจะบังคับให้ทุกๆ คนไม่สามารถเพิกเฉยได้ การไม่รู้ถือว่าเป็นภัยกว่าและเสียโอกาส

ในเรื่อง Governance in the age of the Internet and Free Trade Agreements (FTAs) ในที่ประชุมจะมีการตรวจสอบประเทศไทยว่ามีการเตรียมพร้อมมากน้อยแค่ไหนในเวทีการต่อรองสนธิสัญญาการค้าของโลกในเรื่องเกี่ยวโยงกับอินเทอร์เน็ตเนื่องจากในอนาคต คู่ค้าและธุรกรรมจะอยู่บนอินเทอร์เน็ตทั้งหมดเช่นกฎหมายปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) เป็นต้น รวมถึงการเรียนรู้กติกาใหม่ๆ ที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งในด้านบวกและลบ โดยนำบทเรียนและกรณีการศึกษาที่น่าสนใจจากต่างประเทศ และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศมานำเสนอ

สำหรับหมวดอนาคตหรือ Future Track นั้นจะนำเสนอประเด็นของอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับการลดช่องว่างด้านดิจิตอลและการวิจัยพัฒนาด้าน Cloud และ Big Data ตัวอย่าง หัวข้อการบรรยายสำหรับ Track นี้คือ Rural Internet technologies และ Cloud and Big Data ซึ่งในปัจจุบันเกิดข้อถกเถียงกันอย่างมากเรื่องการเกิดของ Big Data แล้วใครจะเข้ามาบริหารเนื่องจากระบบข้อมูลขนาดใหญ่กลายเป็นของสาธารณะ โดยในหมวดนี้จะรวมเรื่อง Enabling Smart & Open government- Cloud computing ซึ่งจะมีการชี้แจงแผนงาน Smart Government อันเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อน Smart Thailand ที่จะเปลี่ยนโฉมใหม่ของการให้บริการประชาชนโดยภาครัฐ และระบบ G-Cloud กับการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมถึงความท้าทายของประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยในการนำเทคโนโลยี Cloud Computing มายกระดับในการบริการประชาชนที่เทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว

วิเคราะห์ภาคธุรกิจอินเทอร์เน็ต

ขานรับงาน INET Bangkok

นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ของธุรกิจอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยในขณะนี้ ถือเป็นการครอบครองตลาดโดยกลุ่มโทรคมนาคมรายใหญ่ โดยขณะนี้มีผู้ให้บริการโทรคมนาคม 3 รายที่สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 97% ของรายได้ ขณะที่เหลืออีก 20-30 ราย โดยในกลุ่มนี้มีเพียง 2-3% เท่านั้นที่ให้บริการกับองค์กรขนาดใหญ่ส่งผลให้เกิดตัวเลขการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือประมาณ 6-7 ล้านรายขณะที่การใช้งานอินเทอร์เน็ตจากที่บ้านด้วยระบบ ADSL จะมีประมาณ 5 ล้านครัวเรือนซึ่งทั้งสองกลุ่มอาจเป็นตัวเลขทับซ้อนหรือเป็นกลุ่มเดียวกันคาดว่ารูปแบบธุรกิจการให้บริการอินเทอร์เน็ตเช่นนี้จะยังคงอยู่ต่อไปไม่น้อยกว่าสิบปีหากยังไม่มีการเปลี่ยนกฎการออกใบอนุญาตใหม่

อย่างไรก็ตามจากการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยการเข้าสู่ยุค IP Base หรืออุปกรณ์ทุกอย่างเริ่มจะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้หมด ก็จะทำให้ยุคของการพัฒนาระบบโทรเข้าโทรออกมาเป็นการเล่นอินเทอร์เน็ตจนเติบโตมาเข้าสู่ยุค Social Media เริ่มเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยจะเริ่มเห็นการแตกตัวออกเป็นโซลูชั่นทางธุรกิจมากกว่าเชิงสังคม ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะหาจุดแตกต่างในการให้บริการและสร้างแนวทางธุรกิจเฉพาะของตนเองเพื่อเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้าที่จะเปลี่ยน Life Style หรือการใช้ชีวิตเข้าสู่ยุคใหม่ของดิจิตอล

ปัจจัยที่จะมีผลต่อการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยหลังจากที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเริ่มให้บริการ 3G ต่อจากนี้ไปคือเครื่องโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะบรรดา Smart Phone ซึ่งจะมีลูกเล่นใหม่ที่จะทำให้เกิดการใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตง่ายและมากขึ้น และจะมีแอพพลิเคชันที่เกี่ยวกับ VDO เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญหรือ Killer Application ที่จะทำให้ปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

สำหรับงาน INET Bangkok นั้นทางสมาคมฯต้องการให้งานนี้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนทิศทางอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยโดยเฉพาะการชี้ช่องทางการทำธุรกิจแนวใหม่และแนวโน้มที่สำคัญ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตเช่นภาคการเงิน หรือภาคขนส่ง และยังต้องการชี้นำเรื่องความเปลี่ยนแปลงในทางเทคโนโลยีให้กับผู้เกี่ยวข้องเช่น การลงทุนเปลี่ยนระบบ IPV6 ของระบบเว็บไซต์ของไทยดังนั้นงานนี้นอกจากจะเป็นการระดมผู้เชี่ยวชาญด้านอินเทอร์เน็ตจากทั่วโลกและประเทศไทยเพื่อนำเสนองานวิจัยที่สำคัญและมีผลต่ออินเทอร์เน็ตโลกแล้วยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นกับธุรกิจแนวใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของไทยอีกด้วย

เผยมิติทางสังคมไทย

THNIC จัด 25 ปีหาทางออกร่วม

ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต รองประธานมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย หรือ THNIC เปิดเผยว่า งานประชุม INETจัดได้ว่าเป็นงานประชุมของประชาคมอินเทอร์เน็ตแรกของโลกที่มีความสำคัญยิ่งต่อการขยายการเชื่อมโยงและเจริญเติบโตของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโลกในช่วงก่อกำเนิด THNICซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลกลไกสำคัญของระบบอินเทอร์เน็ต นั่นก็คือ โดเมนเนม .TH และเจริญเติบโตคู่กับอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมาตั้งแต่แรกเริ่ม การเจริญเติบโตของอินเทอร์เน็ตและโดเมนเนม .TH ในประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับการรับรู้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในสังคมไทย มีลักษณะการเจริญเติบโตที่พิเศษ เนื่องจาก ชุมชนอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยได้กำหนดให้นโยบายที่รัดกุมและป้องกันปัญหาอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอินเทอร์เน็ต ทำให้จำนวนโดเมนเนม .TH เติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง แต่ก่อให้่เกิดความเชื่อมั่นในความมีตัวตนของธุรกิจไทยที่ให้บริการบนอินเทอร์เน็ต

ในงาน INET Bangkok ครั้งนี้ทางTHNIC จะจัดงานฉลองครบรอบ 25 ปี .TH ภายใต้ชื่องาน ".TH 25 ปี ทบทวนอดีต พิจารณาปัจจุบัน ผลักดันอนาคต" โดยเนื้อหาภายในงานจะมีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของอินเทอร์เน็ต และ สังคมอินเทอร์เน็ตไทย โดยจะมุ่งประเด็นไปที่โครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตไทย รวมไปถึง Domain Name System, การไหลเวียนของข้อมูลภายในประเทศ และมุ่งไปสู่ประเด็นที่สร้างความปลอดภัยให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อให้โครงสร้างอินเทอร์เน็ตไทยมีประสิทธิภาพ เตรียมพร้อมที่จะก้าวสู่ทศวรรษต่อไป

ในงานจะมีการจัด TH-Neutral NIXWorkshop ซึ่ง THNIC เห็นว่าปัจจุบันนี้การประสานงานของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ทำให้การเก็บแคชหรือการเก็บข้อมูลของเว็บไซต์ที่ถูกเรียกซ้ำๆไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตนั้น เป็นการทำแบบต่างคนต่างทำ ส่งผลให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์ในเรื่องการใช้จ่ายในการต่อเชื่อมแบนด์วิชไปต่างประเทศจำนวนมาก ทาง THNIC ต้องการรณรงค์ให้เกิดการประสานงานให้มีระบบการเก็บแคชในที่เดียวเพื่อลดการซ้ำซ้อนและลดแบนด์วิชที่เป็นต้นทุนใหญ่ของประเทศลงโดยในการประชุมครั้งนี้ทาง THNIC จะหารือร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวเนื่องทุกฝ่ายเพื่อทำให้เกิดทิศทางที่สามารถดำเนินการจัดทำ Internet Exchange หรือ IXให้เกิดขึ้นในเมืองไทยได้อย่างเป็นจริง

ส่วนการอบรมเชิงปฏิบัติการ DNSSEC เนื่องจากทาง THNIC เห็นว่าในขณะนี้ปัญหาเรื่องการใช้ Domain หรือชื่อทางอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยยังมีความปลอดภัยในระดับต่ำ โดยเฉพาะองค์กรที่เป็นหัวใจทางด้านการผลักดันอินเทอร์เน็ตในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ การเงิน ราชการ ดังนั้นจำเป็นต้องมีการหารือแนวทางการทำ DNS Security ที่ถูกต้อง ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยตัวองค์กรนั้นๆ เอง ดังนั้นจำเป็นที่ต้องเร่งรณรงค์ให้เกิดการลงทุนในด้านนี้หากต้องการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตของไทยในระยะยาว

ในมิติทางสังคมที่สำคัญนั้น ทาง THNIC จะผลักดันผ่านเวที Thai Cyber Society เนื่องจากขณะนี้เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากมีนวัตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้นทุกวันภาคสังคมเกิดการปรับตัวตามไม่ทัน เกิดคำถามทางสังคมตามมามากมาย เช่น ทำไมประเทศไทยถึงเป็นเมืองหลวงของการใช้ Facebook ฯลฯโดยทาง THNIC จะอาศัยจุดแข็งของวัฒนธรรมทางอินเทอร์เน็ตที่เน้นสังคมแบบประชาธิปไตยไม่มีใครเป็นเจ้าของรายใหญ่ เพื่อสร้างต้นแบบในเชิงสัญลักษณ์ โดยเน้นกระบวนการแบบ Bottom-Up Process หาคำตอบเหล่านี้ให้กับสังคมไทย

นอกจากนั้น THNIC ยังได้เชิญDr. Steve Crocker ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์กรอินเทอร์เน็ตโลก หรือ ICANN และคุณVint Cerf ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งอินเทอร์เน็ตของโลกมาวิเคราะห์แนวทางของอินเทอร์เน็ตทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่ล่อแหลมมากในปัจจุบันในงานนี้อีกด้วย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่:

นายธรรณพ ศิริธรรมวิไล

โทรศัพท์ ๐-๒๖๑๒-๖๐๐๐ ต่อ ๖๒๐๓

โทรศัพท์มือถือ ๐๘-๑๘๔๕-๑๔๕๙

อีเมล์ [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO