รายงานผลการศึกษาระดับโลกโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย (University of British Columbia) ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์อีกหลายท่านเผยให้เห็นว่า กิจกรรมการดูฉลามเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยสามารถทำรายได้ 314 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี รายงานยังได้ระบุถึงการคาดการณ์ที่ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับฉลามจะเพิ่มมากกว่า 2 เท่าภายในระยะเวลา 20 ปี ซึ่งจะสร้างรายได้กว่า 780 ล้านดอลลาร์ต่อปี และจากผลการศึกษาดังกล่าว ทางองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร The Pew Charitable Trusts จึงเรียกร้องให้มีการคุ้มครองฉลามอย่างจริงจังมากขึ้นด้วยการกำหนดเขตอนุรักษ์ปลาฉลามทั่วโลก
รับชมสื่อมัลติมีเดียที่เกี่ยวข้องกับข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับนี้ได้ที่ http://www.prnewswire.com/news-releases/sharks-ecotourism-could-double-in-next-two-decades-study-says-209572001.html
ธุรกิจการท่องเที่ยวเกี่ยวกับฉลามกำลังขยายตัวไปทั่วโลก โดยมีการดำเนินกิจการไม่น้อยกว่า 83 แห่งใน 29 ประเทศ ถึงแม้ว่าแอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียจะครองอุตสาหกรรมนี้มาโดยตลอด แต่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อการอนุรักษ์ฉลามกำลังสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่อีกหลายประเทศในแถบมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเช่นกัน ผลการศึกษาพบว่า กิจกรรมการดูฉลามดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 590,000 ราย และสนับสนุนการจ้างงานมากกว่า 10,000 ตำแหน่งในแต่ละปี
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อการอนุรักษ์ฉลามและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นก่อให้เกิดแนวคิดในการกำหนดเขตอนุรักษ์ปลาฉลาม ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเล ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ประเทศต่างๆ 9 ประเทศ ได้แก่ ปาเลา มัลดีฟส์ ฮอนดูรัส โตเกเลา บาฮามาส หมู่เกาะมาร์แชล หมู่เกาะคุก เฟรนช์โปลินีเซีย และนิวแคลิโดเนีย ได้กำหนดเขตอนุรักษ์ขึ้นโดยห้ามไม่ให้ล่าฉลามเชิงพาณิชย์ เพื่อคุ้มครองสัตว์อื่นๆในแหล่งน้ำ
“เป็นที่ทราบกันดีว่า ฉลามช่วยให้สภาพแวดล้อมทางทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งนับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อสวัสดิภาพทางสังคม วัฒนธรรม และการเงินในระยะยาวของประชาการหลายล้านคนทั่วโลก” จิลล์ เฮปป์ (Jill Hepp) ผู้อำนวยการการอนุรักษ์ฉลามโลกจาก Pew กล่าว “หลายประเทศนำมาตรการจูงใจทางการเงินมาใช้เพื่อกระตุ้นให้มีการอนุรักษ์ฉลาม และคุ้มครองแหล่งอาศัยของฉลาม”
อย่างไรก็ดี ในขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศกำลังขยายตัวมากขึ้น มูลค่าของการล่าปลาฉลามทั่วโลกกลับลดลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการจับปลาเกินขนาด โดยในแต่ละปี ฉลามประมาณ 100 ล้านตัวถูกฆ่าเพื่อเอาครีบไปใช้ในการปรุงซุปหูฉลามซึ่งเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในเอเชีย
รายงานวิจัยของมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบียซึ่งสนับสนุนโดย Pew ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Oryx แล้ววันนี้
pewenvironment.org