นายไฮเม่ ริเวร่า (Jaime Rivera) ผู้อำนวยการคณะกรรมมาธิการการค้าชิลี (ProChile) ประจำภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กรมส่งเสริมการส่งออกชิลี สถานฑูตชิลี กล่าวว่า “ชิลี มีปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อการเป็นผู้ส่งออก ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนของรัฐบาลชิลี โครงสร้างพื้นฐานและระบบการขนส่งเพื่อการส่งออกที่ทันสมัย การทำความตกลงการค้าเสรีกับนานาประเทศ และเทคโนโลยีในการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานและการรับรองระดับนานาชาติ สิ้งเหล่านี้ทำให้ชิลีเป็นผู้ผลิตอาหารที่ปลอดภัย และมีคุณภาพที่ไว้วางใจได้ เห็นได้จากการรายงานดัชนีวัดความปลอดภัยของอาหารจากทั่วโลกซึ่งจัดทำโดย EIU ฉบับล่าสุด ปี 2555 และมูลค่าการส่งออกอาหารของชิลีในแต่ละปีที่มีอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2555 อยู่ที่ 13,716 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประเทศที่ส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกา 3,100 ล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่น 1,700 ล้านดอลลาร์ และจีน 758 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้วันนี้ ชิลี ขึ้นเป็นผู้นำของประเทศในแถบละตินอเมริกา และมีความโดดเด่นในฐานะผู้ส่งออกบลูเบอร์รี่ องุ่น พลัม ลูกพรุน แอปเปิ้ลแห้ง ปลาเทราท์ และแปซิฟิกแซลมอน รายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นผู้ส่งออกอะโวคาโด เชอร์รี่สด ราสเบอร์รี่แช่แข็ง วอลนัท และแอตแลนติกแซลมอน มากที่สุดเป็นอันดับที่สองของโลก มีกิตติศัพท์เลื่องลือในด้านไวน์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์พิเศษ น้ำแร่ ปิสโก้ ผลไม้อบแห้ง และมีอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ภายในประเทศที่น่าสนใจ อาทิ
อุตสาหกรรมผลไม้
ผลไม้จากชิลีขึ้นชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์ระดับโลก และปัจจุบันชิลีมีฐานะเป็นผู้ส่งออกสินค้าผลไม้ใหญ่ที่สุดในซีกโลกใต้ มีผู้ปลูกและผู้ส่งออกผลไม้รวมกันมากกว่า 9,000 รายในประเทศ ส่งสินค้าไปสู่ตลาดต่างๆ มากกว่า 70 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป โดยสินค้าหลัก คือ แอปเปิ้ลและองุ่นสด รวมกันแล้วมีปริมาณมากกว่า 52% ของการส่งออกผลไม้สดทั้งหมด และการยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าชิลีเป็นเขตปลอดแมลงผลไม้ ได้ช่วยขยายตลาดการส่งออกไปสู่ผลไม้ชนิดอื่นๆ อย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ตระกูลเบอร์รี่และส้ม
ในฐานะประเทศผู้ส่งออก ชิลีได้ผ่านเกณฑ์ของมาตรการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices, GAP) ซึ่งตลาดโลกต้องการ จนได้รับการรับรองจากสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ
ในปี 2555 มูลค่าการส่งออกผลไม้ชิลีอยู่ที่ 3,955 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดส่งออกหลัก คือสหรัฐอเมริกา 1,428 ล้านดอลลาร์, เนเธอร์แลนด์ 363 ล้านดอลลาร์ และจีน 353 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อุตสาหกรรมน้ำมันมะกอก
การปกป้องตามธรรมชาติจากแมลงและเชื้อโรค ทำให้ต้นมะกอกของชิลีปลอดจากแมลงวันมะกอกตัวร้าย ประกอบกับการมีสภาพอากาสและดินที่มีความใกล้เคียงกับแอ่งเมดิเตอเรเนียน (Mediterranean Basin) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของต้นมะกอก และการนำเทคโนโลยีชั้นนำและคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีที่สุดของผู้ผลิต ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพโดดเด่นไม่เหมือนใคร และไม่แพ้น้ำมันมะกอกที่ดีที่สุดในโลก
ในปี 2555 มูลค่าส่งออกรวมของสินค้าชนิดนี้อยู่ที่ 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีตลาดส่งออกหลัก คือสหรัฐอเมริกา 16 ล้านดอลลาร์, เวเนซูเอล่า 4 ล้านดอลลาร์ และบราซิล 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อุตสาหกรรมไวน์
ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในการผลิตไวน์ที่โดดเด่นของชิลี ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศแบบเมดิเตอเรเนียน คุณภาพของดิน การปกป้องจากเทือกเขาแอนเดส หรือสายลมจากมหาสมุทรแปซิฟิกที่ช่วยในการควบคุมอุณหภูมิ ได้ช่วยให้ไวน์ของชิลีกลายเป็นไวน์ระดับโลก และมีสาวกเพิ่มขึ้นทุกวัน
ถึงแม้ชิลีจะเริ่มส่งออกไวน์เมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ชาวชิลีก็ได้มีการผลิตไวน์มานานกว่า 450 ปี และมีตัวเลขการส่งออกไวน์อยู่ที่ 3.7% ของยอดส่งออกรวมทั้งโลก ทำให้ขณะนี้ชิลีเป็นผู้ผลิตไวน์รายใหญ่สุดเป็นลำดับที่ 8 และเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางถึงจำนวนโรงกลั่นที่มีในประเทศและคุณภาพของผลิตภัณฑ์
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ไวน์ชิลีได้รับรางวัลจากการประกวดอันทรงเกียรติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัล Decanter World Wine Awards และได้รับการยอมรับจากสื่อสิ่งพิมพ์ทางการค้าที่ทรงอิทธิพลอย่าง Wine Spectator และปัจจัยสำคัญที่มีส่วนสร้างความสำเร็จอันโดดเด่นให้แก่อุตสาหกรรมไวน์ของชิลี ก็คือ นโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนการลงทุนโดยผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ แรงงานที่ได้รับการอบรมมาเป็นอย่างดี ผู้เชี่ยวชาญการผลิตไวน์ระดับโลก โรงงานอันก้าวหน้าล้ำสมัย และการก่อตั้ง Wines of Chile ปีพ.ศ.2545 ซึ่งเป็นสมาคมการค้าที่ทำหน้าที่ออกแบบและลงมือนำความริเริ่มต่างๆ มาดำเนินการ
สำหรับมูลค่าการส่งออกไวน์ชิลีในปี 2555 อยู่ที่ 1,806 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีตลาดส่งออกหลัก คือสหรัฐอเมริกา 299 ล้านดอลลาร์, สหราชอาณาจักร 228 ล้านดอลลาร์ และจีน 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ชิลีได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นผู้ผลิต “หมายเลขหนึ่ง” ของไวน์คุณภาพสูงจากประเทศโลกใหม่ ซึ่งมีทั้งความหลากหลายและยั่งยืน เพื่อให้ตัวเลขการส่งออกไวน์บรรจุขวดขึ้นถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ.2563”
ปัจจุบันนี้ ชิลีกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น เพื่อมุ่งเน้นตลาดเฉพาะกลุ่มต่างๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์จำพวกกอร์เมท์ โปรดักส์ (gourmet products) เช่น น้ำมันมะกอก อาหารทะเลสำเร็จรูป น้ำแร่ปรุงแต่ง แยม เยลลี่ ไวน์ ผลไม้และมะเขือเทศพื้นเมืองอบแห้ง น้ำผึ้ง บรั่นดีกลั่นจากองุ่นหรือปิสโก้ และเบียร์สด และมีความพยายามในพัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ การสร้างตราสินค้าเฉพาะให้แก่ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด หรือการส่งเสริมการเจาะตลาดผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มมุสลิมและยิว โดยการพัฒนาอาหารฮาลาล (Halal) และโคเชอร์ (Kosher) ที่ได้รับใบรับรอง เป็นต้น
และเพื่อเป็นการลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการขนส่งสินค้า 90% ของสินค้าชิลีจึงส่งออกทางทะเล ดังนั้น ปริมาณคาร์บอนฟุตพรินท์ (carbon footprint) ของสินค้าชิลีโดยทั่วไปจึงต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตและขายอยู่ในยุโรปหรืออเมริกา และProChile เองยังได้กระตุ้นบริษัทต่างๆ ให้วัดคาร์บอนฟุตพรินท์ของผลิตภัณฑ์ และพัฒนาวิธีการการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพรินท์ เพื่อช่วยสร้างมูลค่าให้กับตราสินค้าอีกด้วย