กว่า 9 เดือน ที่บริษัท เอออน ฮิววิท จำกัด ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ เฟ้นหานายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ประจำปี 2556 ผ่านกระบวนการคัดเลือกอย่างเข้มงวด โดยข้อมูลที่ได้ถูกกลั่นกรองด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จนได้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือที่สุด ซึ่งในปีนี้ มีผู้ได้รับรางวัลนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย 9 องค์กรด้วยกัน โดย บริษัท Mc Thai จำกัด หรือที่คุ้นหูในชื่อ ‘แมคโดนัลด์’ ครองแชมป์ สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งปี 2556 (Best of the Best) รางวัล นายจ้างดีเด่น (Best Employer) ได้แก่ AIS, Advanced Contact Center, DHL Express, MARS Thailand, โรงพยาบาลสมิติเวช, Minor Group (เดอะพิซซ่า คอมปานี และซิสเลอร์) และ Tisco Bank โดยมีอีก 2 รางวัลพิเศษ คือ องค์กรที่มีความเป็นเลิศในการดูแลพนักงาน Generation Y (Best Employer for Generation Y) ซึ่งตกเป็นของ บริษัท Advanced Contact Center จำกัด และรางวัล ‘องค์กรที่ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องในความมุ่งมั่นเพื่อยกระดับความผูกพันของพนักงาน’ (Best Employer Commitment to Engagement) ตกเป็นของ โรงพยาบาลสมิติเวช
การศึกษาเรื่องสุดยอดนายจ้างดีเด่นโดยบริษัทเอออน ฮิววิทได้จัดทำขึ้นครั้งแรกในเอเชีย ปี 2001 โดยจุดประสงค์ของการศึกษา เพื่อให้ทราบแง่มุมเชิงลึกขององค์กรต่างๆ ที่ขับเคลื่อนองค์กรให้มีความได้เปรียบคู่แข่งขันด้วยการดูแลเรื่องบุคคลากร เพื่อเสาะหาปัจจัยที่ทำให้องค์กรเป็นสถานที่ทำงานที่ทุกคนต้องการอยากทำงานด้วย และ เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนายจ้างดีเด่นในภูมิภาคนั่นเอง
ดร.หลุยส์ ดนัย คริสธานินทร์ กรรมการบริหาร บริษัทเอออน ฮิววิท (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการเฟ้นหานายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ในครั้งนี้ ว่า “การศึกษาสุดยอดนายจ้างดีเด่นของบริษัทเอออน ฮิววิท กลายเป็นการศึกษาที่มีความครอบคลุมและน่าเชื่อถือที่สุดในเอเชียแปซิฟิค มีการศึกษาทั้งสิ้น 10 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, จีน, ฮ่องกง, อินเดีย, อินโดนิเซีย, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และ ไทย การวิจัยมีกระบวนการคัดเลือกอย่างเข้มงวด ผ่านการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ อย่างเช่นในปีนี้ ทางบริษัทฯ ได้เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือน สิงหาคม ปีที่แล้ว รวมระยะเวลากว่า 9 เดือน มาผ่านการกลั่นกรองมาด้วยผู้ทรงคุณวุฒิอีกชั้นหนึ่ง ข้อมูลที่ได้จึงมีความน่าเชื่อถือที่สุดของการศึกษาหนึ่งทีเดียว “
ในปีนี้ได้มีการเพิ่มรางวัลเป็นพิเศษสำหรับ ‘องค์กรที่มีความเป็นเลิศในการดูแลพนักงาน Generation Y’ เพราะถือเป็นองค์กรที่มีการปรับตัวอย่างรวดเร็วต่อการเข้าถึงพนักงานรุ่นใหม่ และ Gen Y กำลังเป็นกระแสที่องค์กรต้องให้ความสนใจทั้งในด้านพฤติกรรม การสื่อสาร และการทำงานร่วมกัน เพราะนอกจากที่พวกเขาเหล่านี้จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนขององค์กรในอนาคตแล้ว การสื่อสารและการลดช่องว่างของพนักงานในแต่ละรุ่นในปัจจุบันยังถือเป็นทิศทางหลักที่จะทำให้องค์กรเติบโตอย่างก้าวหน้า ยั่งยืน
และอีกรางวัลหนึ่งสำหรับ ‘องค์กรที่ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องในความมุ่งมั่นเพื่อยกระดับความผูกพันของพนักงาน’ เพราะเป็นที่ทราบกันดี ว่าปัจจุบันพนักงานมีความภักดีและผูกพันต่อองค์กรน้อยลง ด้วยสภาพปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างไปจากอดีตมาก มีการเคลื่อนไหวด้านกำลังคน สับเปลี่ยนหมุนเวียนแรงงานในตลาดสูง องค์กรที่มีการให้ความสำคัญกับพนักงานในการมุ่งสร้างความผูกพันและยกระดับให้พนักงานรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรได้ จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างมั่นคง แข็งแรง แต่สำหรับรางวัลพิเศษสุดท้ายซึ่งเป็นรางวัลใหม่ในแถบเอเชียคือ รางวัลองค์กรนายจ้างดีเด่นสำหรับผู้หญิงนั้น ไม่ได้มีการมอบรางวัลดังกล่าวในประเทศไทย”
MC Thai : สร้างแบรนดิ้งให้องค์กร ให้ผู้สมัครงานเลือกมาหาเรา ตั้งแต่เริ่มก้าวเท้าออกจากบ้าน
Mr.Hester Chew, Chairman of Executive Committee & Chief Executive บริษัท Mc Thai จำกัด เจ้าของรางวัล สุดยอดนายจ้างดีเด่น 2556 (Best of the Best) เผยถึงความท้าทายในการทำงานขององค์กรว่า “ ความท้าทายของเราคือการ บริหารงานด้านคน ที่จะทำอย่างไรให้พนักงานทุ่มเทกับการทำงาน ไม่ใช่เพียงคิดว่าทำตามหน้าที่ 8 ชั่วโมงก็เตรียมตัวกลับบ้าน สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยเทคนิคในการจัดการมากพอสมควร เราใช้เวลา 7 ปี ตั้งแต่ที่เริ่มเข้าทำสำรวจกับ เอออน ฮิววิท ใหม่ๆ ค่อยๆเรียนรู้และเห็นปัญหา การเข้าไปนั่งในใจพนักงาน จะทำให้เราเห็นช่องว่าง และเมื่อเรานำสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาปรับปรุง พนักงานก็เริ่มเกิดความรู้สึกดี มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร มีความทุ่มเทให้กับงานที่ได้รับมอบหมาย ให้บริการลูกค้าจากใจ สิ่งที่เราได้คืนกลับมาคือ ใจพนักงาน และใจลูกค้า
และหากมองความท้าทายในตลาดแรงงานวันนี้ อยากให้นายจ้างปรับความคิดใหม่ ไม่ใช่แค่คุณเป็นคนเลือกพนักงานเข้ามาทำงานอีกต่อไป ผู้สมัครงานเองก็มีตัวเลือกมากยิ่งขึ้น หากเราต้องการคนเก่ง คนที่มีศักยภาพ เราต้องมาศึกษาว่า จะทำอย่างไรให้เขาเลือกเรา จุดนี้เราต้องสร้าง ‘Employer Branding’ ให้เป็นแรงดึงดูด เพราะสิ่งที่เราตั้งใจเลยคือ ทำอย่างไรให้เค้าเลือกที่จะพุ่งตรงมาสมัครงานกับเราตั้งแต่เริ่มจะก้าวเท้าออกจากบ้าน”
Minor Group : เราไม่มุ่งสร้าง “ผู้นำ” แต่เราสร้าง “ภาวะผู้นำ” ให้พนักงานทุกคน
Minor Group มีบริษัทในเครือที่ได้รับรางวับ Best Employer2013 ถึง 2 บริษัทด้วยกัน คือ The Pizza Company และ Sizzler ให้ความเห็นตรงกันในเรื่องการสร้างการสร้างแบรนดิ้งให้องค์กร (Employer Branding) โดย คุณปัทมาวลัย รัตนพล, Chieft People Officer แห่ง ไมเนอ กรุ๊ป กล่าวเพิ่มเติมถึงกุญแจสำคัญในการนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จว่า “การสร้าง แบรนดิ้งให้องค์กร คือ 1 ใน 4 มิติของกุญแจสู่ความสำเร็จ โดยยังมีอีก 3 มิติที่เหลือ คือ ความผูกพันของพนักงาน (Employee Engagement) ภาวะผู้นำ (Leadership) และการทำงานที่มีคุณภาพ (High Performance )
ที่ไมเนอร์ กรุ๊ป เรามีแบรนดิ้งที่ค่อนข้างชัดเจน หากองค์กรประสบความสำเร็จ (success) เราจะให้ (offer) แก่พนักงานทันทีเป็นการสร้างความผูกพัน (engagement) ไปในตัว ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือความรู้สึกภายในของพนักงาน เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้เขามีเป้าหมายในชีวิต และทำให้เขาตระหนักเห็นว่าทุกวันที่เขามาทำงาน เขามาทำไม เค้าต้องการจะทำอะไรให้สำเร็จ ฝ่ายบุคคลจึงจะไม่ได้แค่สร้าง “คน” แต่เราสร้างให้องค์กรมีความสามารถ (organization keep ability) ทำให้พนักงานภูมิใจและรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถ ซึ่งเราการันตีได้เลยว่าคุณเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแน่นอน จะไปที่ไหนรับรองได้เลยว่าคุณสามารถทำงานได้
ในส่วนของ ‘ผู้นำ’ ทาง Minor Group จะไม่มุ่งสร้างผู้นำแบบตัวบุคคล (Leadership) แต่เราเน้นการสร้าง ‘ภาวะผู้นำ’ (Leader skill) เพราะคนทุกคนมีคุณค่า ที่ไมเนอร์ ฝ่ายบุคคลจะมีการพัฒนาบุคลากรที่ชัดเจน โดยเน้นที่การพัฒนาการปฏิบัติงาน (performance) เพราะ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริการ มีหัวใจสำคัญ 2 อย่าง คือ คุณภาพ และ การปฏิบัติงาน ซึ่งหมายถึงการทำงานบนหน้าที่ความรับผิดชอบ และการให้บริการลูกค้า โดยเมื่อพนักงานสามารถทำได้ใน 2 สิ่งที่บริษัทตั้งไว้ ต่อมาก็จะเป็นเรื่องที่เราต้องรักษาคนไว้ นั่นคือ “Carrier Advance”
คุณปัทมาวลัย กล่าวเพิ่มเติม ถึงความท้าทายของตลาดแรงงานในอนาคตว่า “ในภาพรวม เชื่อว่าประเทศไทยต้องการคนที่มีความสามารถ และในช่วงที่กำลังเปิดประเทศสู่ AEC หากคนไทยไม่แข็งแกร่ง ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีศักยภาพในการปฏิบัติงาน เราจะไปสู่กับโลกภายนอกไม่ได้ โดยในส่วนของ Minor Group ความท้าทายคือ การสร้างความเข้มแข็ง และไม่ประนีประนอมในเรื่องคุณภาพ ทั้ง คุณภาพการทำงาน, คุณภาพคน และคุณภาพวิสัยทัศน์ ซึ่งโจทย์ ณ ปัจจุบันของเรา คือ เราจะทำอย่างไรให้พนักงาน 4 หมื่นคนใน Minor เป็นเสมือน ‘ทูตขององค์กร’ ให้ได้”
รพ.สมิติเวช : ทุกคนเดินมาหาเราด้วยความทุกข์ แต่จะทำอย่างไรให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน
โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลหนึ่งเดียวที่ได้รับรางวัล Best Employer 2013 และรางวัลพิเศษในปีนี้ Best Employer Commitment to Engagement พญ.สมสิริ สกลสัตยาทร กรรมการผู้จัดการ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสมิตติเวช จำกัด มหาชน ให้ข้อมูลน่าสนใจในแง่มุมองค์กรที่ให้บริการด้านสุขภาพ ว่า
”Work Life Balance ใช้ไม่ได้กับที่นี่ เพราะทุกเวลานาทีมีความสำคัญในการช่วยต่อชีวิตลมหายใจของคนที่อยู่ตรงหน้า เราต้องสร้าง passion และ inspiration ให้พนักงาน ให้เขารู้สึกว่าที่นี่เป็น Happy work place ทำให้โรงพยาบาลเหมือนเป็นบ้านที่อบอุ่นและน่าอยู่อีกหลังหนึ่ง"
พญ.สมสิริ กล่าวอีกว่า “ด้วยความที่เราเป็นโรงพยาบาล เป็นสถานที่ที่คนเดินเข้ามาแบบมีความทุกข์ ทุกคนเดินมาเพื่อหาความสุข เพราะฉะนั้นพนักงานทุกคนที่คอยให้บริการอยู่นั้น เขาจะต้องมีความสุขอยู่ในกระเป๋าตุนไว้ เพื่อเวลาเรามอบบริการให้ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย เขาจะสัมผัสได้ว่าเราใส่ใจและรับรู้ได้ถึงความสุขที่เรามอบให้
พนักงานทุกคนจะต้องมี quality และ safety เป็นบรรทัดฐานในใจ ตั้งแต่ Staff ไปจนถึง CEO และอีกอย่างคือความเป็นมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล หรือพนักงาน ทุกคนจะต้องมองในภาพความรู้สึกของคนไข้ให้ได้ นั่นแปลว่าเขาจะต้องรู้ความรู้สึกของตัวเองก่อน และสิ่งสำคัญอีกอย่างคือการสื่อสารกับผู้อื่น ทั้งเพื่อนร่วมงาน ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย เราต้องถามใจตัวเองก่อนว่าเรามีความสุขที่จะทำสิ่งนั้นออกไปไหม หากเราพอใจก็หยิบยื่นสิ่งนั้นออกไปให้คนไข้ คอนเซ็ปต์ของเราจึงเป็น We care, We give, We growth, Journey of care.
‘ผู้นำ’ หรือ Leadership สร้างขึ้นโดยทำให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง ทุกคนต้องเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง และถึงนำไปพัฒนาให้เป็นทีมได้ และถึงพัฒนาต่อเนื่องไปยังระดับองค์กร ธุรกิจทางด้านนี้ค่อนข้างจะละเอียดอ่อน เราจึงให้ความสำคัญมากกับทุกๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการนัดหมาย การรับสายจากลูกค้า รวมถึงส่วนบริการอื่นๆ เราเหมือนการนำเอาหลากหลายเครื่องดนตรี มารวมการทำงานให้เป็นหนึ่งเดียวแบบวงออเครสต้า เพราะฉะนั้นตัว Conductor ต้องสำคัญมาก”
รางวัลนายจ้างดีเด่น 2556 : เก็บข้อมูลไป…นายจ้างได้อะไร ลูกจ้างได้อะไร?
การศึกษาและวิจัยนายจ้างดีเด่นของ เอออน ฮิววิท นั้นเป็นประโยชน์แก่องค์กรและเหล่าบุคลากรในอุตสาหกรรมแรงงานหลายมิติด้วยกัน เช่น การเป็นข้อมูลให้องค์กรได้ทราบถึงความคิดเห็น และความรู้สึกของพนักงานที่มีต่อองค์กร เหตุผลที่พนักงานให้ความสนใจกับแบรนด์นายจ้างบางองค์กรเป็นพิเศษ รวมไปถึงข้อมูลด้านวัฒนธรรมขององค์กรที่สามารถผูกทั้ง ”กาย และ ใจ” ของพนักงาน ถือเป็นการศึกษาที่ให้ทั้งข้อมูลเชิงลึกจากงานวิจัยต่างๆ รวมไปถึงข้อมูลภาคปฏิบัติด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์จากองค์กรที่เป็นสุดยอดนายจ้างดีเด่นอีกด้วย
โดยผลการเก็บข้อมูลเชิงลึกที่ผ่านมา ได้เปิดเผย 6 เทรนด์มาแรง ของนายจ้างดีเด่นที่ประสบความสำเร็จในปี 2556 ดังนี้
1. กำไรทางธุรกิจสูง การลาออกต่ำ คนในมีฝีมือทำงานแทนกันได้
1.1 องค์กรที่ได้รับรางวัลนายจ้างดีเด่น บรรลุผลการเติบโตทางธุรกิจในแง่รายได้สูงกว่าองค์กรอื่นๆ ถึง 33% โดยประมาณ โดยค่าเฉลี่ยการเติบโตของบริษัทอื่นๆ ที่ทำการรวบรวมข้อมูลอยู่ที่ 12%
1.2 องค์กรที่ได้รับรางวัลนายจ้างดีเด่น มีเปอร์เซ็นของการลาออกเพียง 8% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยขององค์กรอื่นที่มีการลากออกถึง 13%
1.3 องค์กรที่ได้รับรางวัลนายจ้างดีเด่น สามารถหาคนภายในมาแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ได้ถึง 48% เมื่อเทียบกับองค์กรอื่นที่หาคนภายในมาทำแทนได้เพียง 21 % เท่านั้น
2. ให้ความสำคัญกับ “คน” เป็นลำดับต้นๆ
เกือบ 80% ของ CEO จากองค์กรที่เข้าร่วมการศึกษา บ่งชี้ว่าประเด็นเรื่อง ‘คน’ เป็นประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับความสำเร็จทางธุรกิจ การค้นหาพนักงานที่มีความสามารถและเหมาะสมกับตำแหน่งและองค์กร และ การดึงดูดและทำให้พนักงานที่มีศักยภาพมีความผูกพันกับองค์กรได้นั้น คือความท้าทายหลักของธุรกิจ
3. พนักงานมีความผูกพันต่อองค์กรสูง
จากการศึกษาพบว่า องค์กรที่ได้รับรางวัลนายจ้างดีเด่นในครั้งนี้ มีคะแนนความผูกพันของพนักงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยอย่างชัดเจน ระหว่าง 83% ต่อ 62% ซึ่งถือเป็นเครื่องการันตีว่าหากพนักงานผูกพันกับองค์กร เขาจะทุ่มเทแรงกายแรงใจ มีการตั้งใจทำงาน โดยทุ่มเต็มที่นอกเหนือจากสิ่งที่องค์กรคาดหวัง
4. แบรนด์นายจ้าง น่าสนใจและมีความดึงดูด
ทำให้พนักงานมีความภาคภูมิใจในตัวองค์กร อยากเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร มีการเรียนรู้และพัฒนา และ การยกย่องชมเชยพนักงาน
5. การบริหารที่มีประสิทธิภาพ
5.1 100% ขององค์กรนายจ้างดีเด่นในปีนี้ มีขั้นตอนการคัดเลือกกลุ่มพนักงานที่มีศักยภาพสูง เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยองค์กรทั่วไปที่ 64%
5.2 และหากมีตำแหน่งงานว่างในองค์กร 48% ของนายจ้างดีเด่นสามารถหาคนในองค์กรมาทำแทนได้ทันที สูงกว่าค่าเฉลี่ยขององค์กรอื่นๆ ซึ่งอยู่ที่ 21%
6. วัฒนธรรมองค์กร เน้น ทำงานดี มีประสิทธิภาพ
6.1 จากงานวิจัยของเอออน ฮิววิท องค์กรที่เน้นประสิทธิภาพการทำงาน (high performance culture) นั้น จะมีการแสดงออกที่ชัดเจนในเรื่องการมีความรับผิดชอบ เป็นเจ้าของงานอย่างแท้จริง พนักงานจะรู้สึกว่าตนเองได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้างาน และองค์กรมีการให้รางวัลและเล็งเห็นความสำคัญโดยให้การยกย่องผู้ทำงานจริง
6.2 พนักงานจากบรรดาองค์กรนายจ้างดีเด่นถึง 73% มีความเห็นตรงกันว่า “ฉันได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมกับผลงานที่ทำให้กับบริษัท” เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรทั่วไปซึ่งมีเพียง 46% ที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้
6.3 มอบโอกาสการเติบโตในหน้าที่การงานที่สอดคล้องกับความจำเป็นในอนาคตขององค์กร โดย 85% ของนายจ้างดีเด่นยืนยันว่า “แนวทางการประเมินผลงานขององค์กรผลักดันให้ฉันมุ่งทำงานอย่างเต็มที่เพื่อสร้างความสำเร็จขององค์กร” ในขณะที่องค์กรทั่วไปมีพนักงานเพียง 58% เท่านั้นที่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว
“การเป็นองค์กรสุดยอดนายจ้างดีเด่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่เกิดขึ้นได้เพียงข้ามคืน หากแต่ต้องมีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะพัฒนาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรอย่างต่อเนื่อง การเป็นสุดยอดองค์กรนายจ้างดีเด่นนั้นเป็นไปได้สำหรับทุกองค์กรแค่เพียงมีเป้าหมายและวางแผนการเดินทางไปสู่เป้าหมายนั้นอย่างชาญฉลาด” ดร.หลุยส์ กล่าวทิ้งท้าย