โดยในการแข่งขันมีทั้งสิ้น 8 ประเภท ได้แก่ แข่งขันสาวไหมไหมไทยพื้นบ้านจำนวน 3 ประเภท ในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และบุคคลทั่วไป แข่งขันการทำอาหารจากหม่อนและไหม จำนวน 2 ประเภท แบ่งเป็นการทำอาหารหวานจากหม่อนไหมและการทำอาหารคาวจากหม่อนไหม การแข่งขันสิ่งประดิษฐ์จากรังไหม จำนวน 2 ประเภท ในระดับเยาวชนและบุคคลทั่วไป และการแข่งขันกองเชียร์ จำนวน 1 ประเภท
ทั้งนี้ กรมหม่อนไหม ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตและศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้ง 26 แห่ง ทั่วประเทศ ดำเนินการจัดการแข่งขัน และคัดเลือกทีมที่ชนะการประกวดในระดับจังหวัด เพื่อเข้าแข่งขันในระดับประเทศ ดังรายละเอียด ดังนี้ 1.เส้นไหมน้อยและเส้นไหมหลืบ ระดับประถม จำนวน 16 ทีม 2.เส้นไหมน้อยและไหมหลืบ ระดับมัธยม จำนวน 18 ทีม 3. เส้นไหมน้อยและไหมหลืบ ระดับบุคคลทั่วไป จำนวน 21 ทีม 4.กองเชียร์ จำนวน 19 ทีม 5. การทำอาหารหวาน จากหม่อนและไหม จำนวน 11 ราย 6. การทำอาหารคาว จากหม่อนและไหม จำนวน 11 ราย 7.สิ่งประดิษฐ์จากรังไหม ระดับเยาวชน จำนวน 10 ราย 8.สิ่งประดิษฐ์จากรังไหม ระดับมืออาชีพ จำนวน 10 ราย โดยมีพิธีมอบโล่พระราชทาน มอบให้แก่ผู้ชนะการแข่งขันแต่ละประเภท และจะนำเส้นไหมและสิ่งประดิษฐ์จากรังไหมที่ชนะการประกวดไปจัดแสดงในงาน “ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย และงานพระมารดาแห่งไหมไทย” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี 2556 ต่อไป
“การแข่งสาวไหมไทยพื้นบ้าน กองเชียร์ การทำอาหารจากหม่อนและไหม และสิ่งประดิษฐ์จากรังไหมระดับประเทศ จะเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนรุ่นใหม่ และ ผู้มีอาชีพด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าไหมได้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยในอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม และการทอผ้าไหม อันเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ที่สืบทอดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน ดังนั้น คนไทยทุกคนต้องช่วยกันอนุรักษ์ให้คงอยู่คู่กับประเทศไทย ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สืบต่อไป” นายศิริวัฒน์กล่าว