ด้านนโยบายที่จะสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้พร้อมรับการแข่งขันในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC มั่นใจเห็นผลใน 1 ปี มีผลงานอย่างเป็นรูปธรรม โดย 3 เดือนแรกจะปรับระบบงานภายใน ส่วนช่วง 6 เดือนจากนี้ไป จะเน้นสร้างตลาดภายในประเทศ พร้อมทั้งเร่งดำเนินมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในด้านต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับแผนระยะยาว ช่วง 12 เดือนจะขยายการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ออกไปทำตลาดในต่างประเทศ ด้านของการสร้างบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มีแผนการที่จะพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องซอฟต์แวร์อย่างจริงจังร่วมกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ โดยจะให้น้ำหนักไปกับการเสริมจุดเด่นที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว เพื่อเน้นให้เป็นจุดเด่นที่จดจำได้ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ
ขณะเดียวกัน SIPA ยังให้ความสำคัญเรื่องการส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญา หรือ intellectual property (IP) จะพยายามดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในระยะ 12 เดือน ตั้งเป้าจะเน้นให้เกิด IP ทางซอฟต์แวร์ขึ้นใหม่ไม่น้อยกว่า 20 รายการ และต้องเป็น IP ที่สามารถตีมูลค่าทางพาณิชย์ได้ด้วย ซึ่งงานนี้จะทำควบคู่ไปกับงานส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจซอฟต์แวร์ เช่น การผลักดันให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและมี IP ที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ตลาด MAI เป็นต้น
นายไตรฉัตร กล่าวว่า อีกโจทย์ใหญ่คือ เร่งสร้างความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ก่อนเข้าสู่ AEC 2015 โดยมีแผนงานดังนี้ มุ่งเน้นการจัดสรรกำลังคนทางด้านซอฟต์แวร์เพื่อรองรับ AEC อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะเร่งผลิตบุคลากรคุณภาพด้านซอฟต์แวร์ใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่มีการคัดเลือกมาแล้ว คือ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มขนส่ง กลุ่มการแพทย์ กลุ่มการศึกษา การเกษตร กลุ่มอัญมณี อย่างจริงจัง และให้ครบวงจรตั้งแต่การคิดค้นลิขสิทธิ์ใหม่ ไปจนถึงการขายบริการซอฟต์แวร์รูปแบบใหม่ เพื่อที่จะทำให้ประเทศที่จะเข้ามาแข่งขันในอาเซียนไม่สามารถเข้ามาแย่งตลาดบุคลากรในด้านนี้ได้
สำหรับปีนี้ซิป้าได้มีโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและผู้ประกอบการ ใน โครงการรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับซอฟต์แวร์ไทย ได้มีการกิจกรรมสัมมนาใหญ่ให้ความรู้ 5 ครั้งในภาคกลาง เหนือ อีสานและใต้ เจาะกลุ่มเป้าหมาย ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ และดิจิทัลคอนเทนต์ นักศึกษาในคณะ หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น IT , วิทยาศาสตร์ , วิศวกรรมศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบุคคล ทั่วไปที่มีความสนใจ
วัตถุประสงค์โครงการนี้ เพื่อให้ผู้ที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือบริการซอฟต์แวร์เข้าใจถึงการปกป้องสิทธิที่ได้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สามารถมาใช้เชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และปรับตัวรองรับการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้นจากประเทศอื่นในอาเซียน ให้ผู้ประกอบการเข้าใจในกระบวนการจดแจ้งลิขสิทธิ์ผลิตภัณฑ์หรือบริการซอฟต์แวร์ ที่ตนเองพัฒนาคิดค้นขึ้น จนนำไปสู่การจดลิขสิทธิ์ ผลิตภัณฑ์หรือบริการซอฟต์แวร์ ชี้ได้เห็นถึง ผลกระทบของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการซอฟต์แวร์ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และผลกระทบในเชิงพาณิชย์ภาพรวมของประเทศ และเพื่อให้ผู้ที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือบริการซอฟต์แวร์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้พร้อมต่อการเปิดตลาด (Single Market) และขยายตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน
สำหรับการจัดสัมมนาทั้ง 5 ครั้งนั้น จะมีการจัดครั้งแรก เรื่อง "การจัดการทรัพย์สินทางปัญญากับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Intellectual Property management for AEC)” ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ พฤษภาคม นี้จัดที่ จังหวัดขอนแก่น ครั้งถัดไป 13 มิถุนายน ที่ภาคใต้ หาดใหญ่ และวันที่ 27 มิถุนายน ที่ภูเก็ต ส่วนภาคเหนือจัดในวันที่ 18 กรกฎาคมที่ จังหวัดพิษณุโลก ภาคกลางจัดในวันที่ 25กรกฎาคม ที่ กรุงเทพฯ