จังหวัดอุบลฯรวมพลคนทำอินทรีย์ เกษตรไร้สารอาหารปลอดภัย

จันทร์ ๑๐ มิถุนายน ๒๐๑๓ ๑๓:๓๕
มูลนิธิประชาสังคมอุบลฯรวมพลคนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอุบลฯ จังหวัดไร้ยุทธศาสตร์หนุน เครือข่ายชี้เป็นวิกฤตินโยบายเพราะไปขัดผลประโยชน์มหาศาล แนะคนทำจริงรวมพลังแลกเปลี่ยนขยายเครือข่าย ท้อปซุปเปอร์มาร์เก็ตเผยแนวโน้มสดใสคนรักสุขภาพเพิ่มแต่คนผลิตยังน้อย

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2556 ที่หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มูลนิธิประชาสังคมจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมภาคีเครือข่ายจัดเวทีปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูปอุบล ฮ่วมเฮ็ด ฮ่วมส่าง อนาคตเมืองอุบลในปี2565 ว่าด้วยการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ มีการเสวนาในหัวข้อ “เกษตรอินทรีย์จะก้าวผ่านวิกฤติและโอกาสทางการตลาดได้อย่างไร” มีนายวิสิฏฐ มณีวรรณ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดฯ , นายอุดร ชมาฤกษ์ เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี , นายสมชาติ พงคพนาไกร รองประธานหอการค้าจ.อุบลราชธานี , นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดยโสธร , นายปิยทัศน์ ทัศนิยม เครือข่ายกสิกรรมไร้สารอำเภอสำโรง , นายทศพล เมืองชินบัญชร ผู้จัดการบริษัทท้อปซุปเปอร์มาร์เก็ตจำกัด สาขาอุบลราชธานี ดำเนินรายการโดยนายสุชัย เจริญมุขยนันท

นายปิยทัศน์ ทัศนิยม เครือข่ายกสิกรรมไร้สารอำเภอสำโรง กล่าวว่าคนส่วนใหญ่ไม่ทำเกษตรอินทรีย์เพราะทำยากต้องใช้เวลามาก คนทำได้ต้องเปลี่ยนความคิดจากกระแสหลักของคนส่วนใหญ่ และจะเป็นไปได้มากขึ้นหากฝ่ายวิชาการและรัฐสนับสนุนอย่างจริงจัง และการจดทะเบียนเกษตรอินทรีย์ต้องเป็นไปได้โดยง่ายด้วย

นายอุดร ชมาฤกษ์ เกษตรจังหวัดอุบลราชธานีเผยเกษตรกรยังทำเกษตรอินทรีย์จำนวนน้อย ที่อุบลฯมีประมาณ 20,000 ไร่เท่านั้น การทำอินทรีย์เป็นเรื่องยาก หากในระดับปลอดภัยจะง่ายกว่าคือใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็นและเก็บผลผลิตในระยะที่ปลอดภัย ทางจังหวัดยินดีสนับสนุนแต่คงต้องค่อยเป็นค่อยไป

นายสมชาติ พงคพนาไกร รองประธานหอการค้าจ.อุบลราชธานีแสดงความเห็นด้วยกับเกษตรจังหวัดว่าการทำอินทรีย์ เป็นเรื่องที่ยากต้องค่อยเป็นค่อยไป น่าจะเริ่มจากในระดับปลอดภัยก่อน ในทางการตลาดต้องดูความต้องการว่าผู้บริโภคชอบกินอะไร อะไรที่ขายได้ อะไรที่คนกลัว จับจุดให้ได้ และอินทรีย์ทำยากกว่าเคมีต้องราคาแพงกว่าจึงจะคุ้มค่า เสนอให้เริ่มที่ร้านอาหารซื้อแต่ผักปลอดภัย ทำตลาดที่โรงพยาบาล,โรงเรียนก่อน ทางหอการค้าอุบลเคยเสนอเรื่องเกษตรอินทรีย์กับทางจังหวัดไปแล้วแต่ยังไม่มีการตอบรับกลับมา

นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดยโสธรชี้เกษตรอินทรีย์ไม่ได้วิกฤติเหมือนหัวข้อเรื่อง มีการเติบโตปีละ 20-30% ทั้งในและต่างประเทศ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ห้างต่าง ๆ ไม่พอขาย แต่ที่วิกฤติคือนโยบายของภาครัฐ ไม่มีนโยบายที่ชัดเจน อาจเป็นเพราะผลประโยชน์การค้าของสารเคมีที่มีมากมายมหาศาล แต่ถ้าผู้นำเอาจริงเช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์นำให้เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ ส่วนราชการชาวบ้านก็ทำตาม เป็นจริงได้ คนอุบลราชธานีมีต้นทุนทางความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์อยู่มากมายหากทางราชการหนุนจะไปได้ แต่ต้องเริ่มต้นด้วยสร้างความเข้มแข็ง ศรัทธาให้ผู้ที่ทำอยู่แล้วขยายวงแลกเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

นายวิสิฏฐ มณีวรรณ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดฯ กล่าวว่ายุทธศาสตร์จังหวัดเน้นเรื่องข้าวหอมมะลิ การท่องเที่ยว การค้าชายแดน ไม่มีเรื่องเฟกษตรอินทรีย์โดยตรง การที่บอกว่ามีการเติบโตมีความต้องการมาก ห้างไม่พอขายนั้นก็มีคำถามว่าแล้วทำไมคนยังปลูกน้อย จากสี่ล้านไร่ปลูกเพียง 2 หมื่นไร่ เป็นเรื่องน่าคิด ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าในระดับปลอดภัยก็มีโอกาสเป็นไปได้

นายทศพล เมืองชินบัญชร ผู้จัดการบริษัทท้อปซุปเปอร์มาร์เก็ตจำกัด สาขาอุบลราชธานีเปิดเผยว่าทุกวันนี้คนดูแลสุขภาพตัวเองมากยิ่งขึ้น ท้อปซุปเปอร์มาร์เก็ตพยายามตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และพยายามจะนำสินค้าที่ผลิตโดยคนอุบลฯเอง แต่ที่ผ่านก็ยังมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ หากเกษตรกรที่ปลูกพืชแบบปลอดสารพิษสนใจสามารถติดต่อได้ที่ท้อปซุปเปอร์มาร์เก็ตห้างเซ็นทรัลอุบลฯได้ ทางห้างยินดีสนับสนุน

นายบุญยง สาระ กลุ่มเกษตรคุณธรรม จังหวัดอำนาจเจริญผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาแสดงความเห็นว่า ทำไมเกษตรอินทรีย์ไม่เกิดสักที เป็นเพราะโครงสร้างของประเทศ ผลประโยชน์ของพ่อค้า เสนอข้อมูลว่าไทยนำเข้าสารเคมี สารปราบศัตรูพืช ยาฆ่าหญ้า ในปี 42 1,600 ตันต่อ ปี ปัจจุบัน 160,000 ตันต่อปี ประชาชนจ.อำนาจเจริญได้รวมตัวกันเสนอธรรมนูญคนอำนาจเจริญ เพื่อแก้ไขปัญหา จัดการตัวเอง โดยเน้นเป็นเมืองธรรมะเกษตร คนมีธรรมะและทำเกษตรอินทรีย์ อุบลฯเป็นเมืองพี่น่าจะทำได้ไม่ยาก

นายปิยท้ศน์ ทัศนิยม ได้ฝากบทกลอนเอาไว้ว่า

เพื่อนเอยชาวนา เม็ดข้าวเลี้ยงเรามา ทุกชีวาจึงเติบใหญ่

ชีพเจ้าหวังสิ่งใด หรือเพียงได้ เจียดเงินตรา

ที่ถูกจะต้องสู้ ลุกขึ้นกู้พลิกผืนนา

เลิกปุ๋ยเลิกใช้ยา พลิกผืนนาใช้อินทรีย์

การเสวนาครั้งนี้มีการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน FM.102.75 MHz และบันทึกเทปโดยสร้างสุขแชนแนล ออกอากาศทางวีเคเบิ้ลทีวี sansgook.net และ App: สื่อสร้างสุข

ติดต่อ:

สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี 045242654

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๗ เอ. เจ. พลาสท์ คว้า 2 รางวัลใหญ่ จาก SET Awards 2024 และได้รับการประเมิน CGR ดีเลิศ ระดับ 5 ดาว
๑๖:๑๓ เปิดมาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยเหลือ SMEs ถูกน้ำท่วมในงาน มันนี่ เอ็กซ์โป 2024 เชียงใหม่
๑๖:๓๙ หน้าหนาวมาเยือน! กรมอนามัยเตือนดูแลสุขภาพให้พร้อม เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย
๑๖:๕๗ เปิดรันเวย์อวดผลงานไอเดียสร้างสรรค์ของ 5 ผู้ชนะรางวัลทุนการศึกษา จากโครงการ Jaspal Group Scholarship Program
๑๖:๐๘ กิฟฟารีน แนะนำไอเทมเด็ด กิฟฟารีน เอช เอ็ม บี พลัส วิตามินดี 3 สำหรับช่วยดูแลมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
๑๕:๐๑ ไขข้อสงสัย สินเชื่อรถแลกเงินคืออะไร
๑๕:๓๘ ซื้อมอเตอร์ไซค์ ออกรถใหม่ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง
๑๕:๐๕ ยางขอบ 17 ยี่ห้อไหนดีที่ขับขี่สนุก และยังคงนุ่มสบาย
๑๔:๕๖ heygoody คว้าแชมป์จากเวที Thailand Influencer Awards 2024 ตอกย้ำความเข้าใจลูกค้า Introvert
๑๔:๐๓ เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 4 รางวัลใหญ่ระดับสากล ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเป็นองค์กรสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ