ผลคะแนนเฉลี่ยดังกล่าวได้มาจากกลุ่มผู้หางานจาก 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และไทย ในทุกระดับตำแหน่ง ตั้งแต่ระดับพนักงาน (Entry and Executive), พนักงานอาวุโส (Senior Executive), ผู้จัดการ (Manager) และผู้จัดการอาวุโส (Senior Manager) พบว่า สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีผลคะแนนเฉลี่ยสูงสุด คือ 81% รองลงมา คือ ฟิลิปปินส์ 73%, มาเลเซีย 72%, อินโดนีเซีย 59% ตามลำดับ และไทยมีคะแนนเฉลี่ยเป็นลำดับสุดท้าย คือ 55% และหากมีการจำแนกคะแนนเฉลี่ยตามกลุ่มระดับตำแหน่งงานจะพบว่า ระดับพนักงานประสบการณ์ 0 — 3 ปี (Entry and Executive Level) เป็นกลุ่มที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มระดับตำแหน่งงานอื่นๆ ในประเทศตัวเอง
นางสาวฐนาภรณ์ สถิตพันธุ์เวชา ผู้จัดการสาขาประเทศไทย บริษัท จ็อบสตรีท (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “จากผลสำรวจได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขาดทักษะการสื่อสารด้านภาษาอังกฤษของกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ทักษะด้านภาษาอังกฤษเป็นตัวแปรสำคัญที่องค์กรใช้ในการพิจารณาคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงานในปัจจุบัน ผู้ที่มีทักษะภาษาอังกฤษดีย่อมมีโอกาสในการได้งานมากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ”
จากผลคะแนนของกลุ่มคนทำงานในประเทศไทยที่ทำแบบทดสอบยังพบความสอดคล้องกันระหว่างระดับตำแหน่งงานและระดับคะแนนเฉลี่ย กล่าวคือ ผู้ที่มีระดับตำแหน่งสูงจะมีคะแนนเฉลี่ยด้านทักษะภาษาอังกฤษสูงตามไปด้วย โดยพบว่า กลุ่มพนักงานทั่วไป มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 53% ในขณะที่กลุ่มพนักงานอาวุโส มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 57%, กลุ่มผู้จัดการ 60% และกลุ่มผู้จัดการอาวุโส 64% ตามลำดับ
นอกจากนี้ เมื่อจำแนกคะแนนเฉลี่ยการวัดทักษะด้านภาษาอังกฤษของกลุ่มคนทำงานในประเทศไทยตามสายอาชีพ จะพบว่า 3 สายอาชีพที่ได้ระดับคะแนนเฉลี่ยมากที่สุด คือ 63% ได้แก่ นักหนังสือพิมพ์/บรรณาธิการ, นักการตลาด/พัฒนาธุรกิจ และเลขานุการผู้บริหาร ในขณะที่สายอาชีพที่มีทักษะอ่อนที่สุด คือ ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งมีผลคะแนนเฉลี่ยเพียง 17%
“ผู้หางานหรือคนทำงานทั่วไปที่เข้ามาทำแบบทดสอบวัดทักษะด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษในการทำงานผ่านแบบทดสอบ JobStreet ELA (JobStreet English Language Assessment) จะทราบผลคะแนนของตัวเอง โดยการแบ่งการวัดผลออกเป็น 4 ทักษะ ได้แก่ คำศัพท์ (Vocabulary), การสนทนา (Conversation), ไวยากรณ์ (Grammar) และความเข้าใจ (Comprehension) ซึ่งผู้หางานสามารถทราบว่าทักษะใดที่เป็นจุดแข็งและทักษะใดที่เป็นจุดอ่อน เพื่อนำไปฝึกฝนและพัฒนาศักยภาพของตนเองต่อไป
นอกจากนี้ระบบยังแจ้งอันดับคะแนนโดยเปรียบเทียบกับผลคะแนนของผู้ที่อยู่ในสายอาชีพเดียวกัน, ผลคะแนนของผู้ที่เคยทำแบบทดสอบทั้งหมดภายในประเทศที่ตนอยู่ และผลคะแนนของผู้ที่เคยทำแบบทดสอบทั้งหมดในฐานข้อมูลกว่า 1.5 ล้านคน จากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และไทย) โดยผู้หางานจะทราบว่า ผลคะแนนที่ตนเองได้นั้นจัดอยู่ในลำดับที่เท่าไหร่ของผู้ที่เคยทำแบบทดสอบในกลุ่มดังกล่าว” นางสาวฐนาภรณ์ กล่าวเพิ่มเติม
ผู้สนใจสามารถเข้ามาทำแบบทดสอบวัดทักษะด้านภาษาอังกฤษดังกล่าว ได้ที่ www.jobstreet.co.th/english