กระทรวงเกษตรฯ ปลื้ม “โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่

พุธ ๑๒ มิถุนายน ๒๐๑๓ ๑๖:๓๔
กระทรวงเกษตรฯ ปลื้ม “โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่ ภายใต้ความร่วมมือสนับสนุนการสร้าง Smart Farmer” ประสบความสำเร็จ หลังพัฒนาศักยภาพให้นิสิต นักศึกษา เรียนรู้จัดทำแผนธุรกิจเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินงาน “โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่ ภายใต้ความร่วมมือสนับสนุนการสร้าง Smart Farmer ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนานิสิต นักศึกษา ที่กำลังอยู่ในระดับอุดมศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษาแล้วไม่เกิน 5 ปี ให้ได้รับทักษะที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจการเกษตรจนสามารถจัดทำแผนธุรกิจเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างเป็นระบบและมีคุณภาพนั้น

โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการนำร่องที่มีระยะเวลาดำเนินงาน 1 ปี คือ ระหว่างเดือนมีนาคม 2556 — กุมภาพันธ์ 2557 ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ 1.การฝึกอบรมการเขียนแผนธุรกิจ และ 2. การบ่มเพาะธุรกิจ ซึ่งกำหนดผู้เข้าร่วมโครงการในเบื้องต้น จำนวน 30 คน/รุ่น

โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องมีคุณสมบัติเป็นนิสิต / นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาชั้นปีที่ 3 และ 4 หรือเป็นบัณฑิตที่จบการศึกษาไม่เกิน 5 ปี หรือเป็นทายาทธุรกิจเกษตร ที่จบการศึกษาอย่างน้อยในระดับอุดมศึกษาไม่เกิน 5 ปี ซึ่งได้ปิดการรับสมัครไปแล้วตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2556 และมีการฝึกอบรมการเขียนแผนธุรกิจ จัดการฝึกอบรมการเขียนแผนธุรกิจ ในระหว่างวันที่ 7-17 พฤษภาคม 2556 ณ อาคารวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยชนิดธุรกิจที่ประสงค์จะดำเนินการ ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ข้าว พืชไฮโดรโปนิกส์ ไม้ประดับ ปลาสวยงาม ฟาร์มแพะ ฟาร์มไก่พื้นเมือง น้ำส้มสายชูหมักจากเปลือกสับปะรด ปุ๋ยชีวภาพไมโครฟิลด์ น้ำนมข้าวโพด และไอศกรีมอองเกร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ มีผู้ผ่านการฝึกอบรมการเขียนแผนธุรกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดทั้งสิ้นจำนวน 29 ราย และจัดให้มีพิธีมอบโล่ เงินรางวัลการนำเสนอแผนธุรกิจ และประกาศนียบัตรผู้ผ่านการอบรม ในวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้รับเกียรติจากนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองศาสตราจารย์วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายชัยยุทธ์ รื่นจิตต์ รองผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อบุคคล ธกส. เป็นประธานในพิธีฯ โดยผู้ได้รับรางวัลการเขียนแผนธุรกิจจำนวนทั้งสิ้น 5 รางวัล ได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายตฤณ ธรรมเนียม แผนธุรกิจ “ปลาสวยงาม TIN Exotic Fish” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายธารางกูร อ่วมแย้ม แผนธุรกิจ “ธารางกูรเมล็ดพันธุ์ข้าว พิษณุโลก 2” รางวัลชมเชย ได้แก่ นายปัญญา เชื้อสาย แผนธุรกิจ “ปุ๋ยชีวภาพ ไมโครฟิลด์”

รางวัลชมเชย ได้แก่ น.ส.วลัยกร ศรีเจริญ แผนธุรกิจ “ไอศกรีมอองเกร์” รางวัลชมเชย ได้แก่ นายวรรณมงคล วิจักขณา แผนธุรกิจ “น้ำส้มสายชูจากเปลือกสับปะรด”

โดยจากการสำรวจความพึงพอใจของผู้รับการอบรมพบว่า มีความพึงพอใจในระดับมาก ถึงมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ผู้เข้ารับการอบรมมีข้อเสนอแนะที่ตรงกันว่าเห็นควรเพิ่มระยะเวลาในการบ่มเพาะ (หลักสูตร 10 วัน) เพื่อให้สามารถเรียนรู้และมีเวลาในการสืบค้นข้อมูลในการเขียนแผนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจ มีผู้ผ่านการอบรมทั้งสิ้น 29 คน ซึ่งจะเข้ากระบวนการบ่มเพาะธุรกิจเป็นระยะเวลา 9 เดือน ในระหว่างเดือนมิถุนายน 2556 - กุมภาพันธ์ 2557 และเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ คณะกรรมการดำเนินงานโครงการจึงได้เห็นชอบให้สำรวจและวิเคราะห์ความจำเป็นในการฝึกอบรม (Training needs) ของผู้เข้ารับการบ่มเพาะแยกรายบุคคล เพื่อให้การจัดหลักสูตรและจัดหาวิทยากรที่เหมาะสมแก่ผู้รับการอบรมเนื่องจากพื้นฐานความรู้ ประสบการณ์และชนิดธุรกิจของผู้เข้ารับการบ่มเพาะแต่ละรายที่มีความแตกต่างกัน โดยหลักสูตรพื้นฐาน ประกอบด้วย เทคนิคการผลิต การเงินการบัญชี การตลาดและการประชาสัมพันธ์ และเทคนิคการสืบค้นข้อมูล เป็นต้น

นอกจากนี้ จากการสำรวจข้อมูลในเบื้องต้นเกี่ยวกับความต้องการสินเชื่อ พบว่า ผู้ผ่านการอบรมเขียนแผนธุรกิจจำนวน 29 ราย มีความประสงค์ขอสินเชื่อจาก ธกส. จำนวน 13 ราย โดยมีวงเงินตั้งแต่ 300,000 — 3,000,000 บาท ซึ่งผู้ประสงค์ขอสินเชื่อสามารถยื่นขอสินเชื่อได้จากธนาคารสาขาตามภูมิลำเนาโดยสำนักงานใหญ่จะแจ้งรายชื่อให้แก่ธนาคารสาขา ซึ่งธนาคารสาขาจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้ยื่นขอโดยมีเงื่อนไขพิเศษ ได้แก่ การอนุมัติเต็มวงเงิน และไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และเพื่อให้การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานถูกต้องตามหลักวิชาการและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการโครงการ Smart Farmer ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ ต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม