นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับบริเวณกว้างในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ 14 จังหวัดภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อประชาชน ภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีห่วงใยผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อม โดยถือว่าการป้องกันและลดผลกระทบจากไฟฟ้าดับเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล พร้อมมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บูรณาการหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องและจังหวัดจัดทำแผนเผชิญเหตุรองรับผลกระทบจากไฟฟ้าดับ เพื่อเตรียมการรับมือเหตุไฟฟ้าดับบริเวณกว้าง กระทรวงมหาดไทยจึงได้จัดประชุมหน่วยงานด้านการไฟฟ้า 3 หน่วยงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 14 หน่วยงาน และผู้ว่าราชการจังหวัด 8 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าสำคัญของประเทศ พื้นที่ตั้งสถานีจ่ายไฟฟ้า พื้นที่สำคัญด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว เพื่อสรุปบทเรียนเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ พิจารณาและปรับปรุงร่างแผนเผชิญเหตุไฟฟ้าดับบริเวณกว้าง ให้มีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน สามารถบูรณาการและประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพและ เป็นรูปธรรม รวมถึงได้สั่งกำชับให้จังหวัดนำแนวทางไปปรับใช้เป็นแผนเผชิญเหตุระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินจากไฟฟ้าดับบริเวณกว้างรวดเร็วและคล่องตัว ตลอดจนเตรียมจัดหาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง เช่น อุปกรณ์ให้แสงสว่างทั้งชนิดประจำที่และเคลื่อนที่ รถไฟฟ้าส่องสว่าง รถผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น ให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละพื้นที่ และพร้อมที่จะนำไปแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ที่สำคัญ ในขณะที่เกิดสถานการณ์ไฟฟ้าดับ ให้เร่งชี้แจงข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน ทั้งนี้ ให้เพิ่มระดับความมั่นคงด้านไฟฟ้าในจุดที่มีความเสี่ยงและพื้นที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล สนามบิน โรงงานอุตสาหกรรม โครงข่ายการสื่อสาร เป็นต้น ต้องมีกระแสไฟฟ้าใช้งานตลอดเวลา
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึงการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับบริเวณกว้าง ว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนรับมือ โดยสำรวจแก้ไขจุดเสี่ยง พร้อมจัดทำแผนสำรองรองรับการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับบริเวณกว้าง โดยเฉพาะในขณะเกิดเหตุจะได้ประสานข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา เน้นการรายงานข้อมูลจากพื้นที่ไฟฟ้าดับ การสื่อสารข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและลดความตื่นตระหนกที่อาจทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น พร้อมบูรณาการสนธิกำลังทุกภาคส่วนและหน่วยงานด้านการไฟฟ้าเร่งแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ให้มีไฟฟ้าสำรองใช้ในพื้นที่สำคัญ รวมถึงปฏิบัติการรองรับผลกระทบจากเหตุไฟฟ้าดับ เช่น การก่ออาชญากรรม การรักษาความสงบเรียบร้อย การจราจร การสื่อสารข้อมูลแก่ประชาชน การเฝ้าระวังอัคคีภัย เป็นต้น ทั้งนี้ การเตรียมการรองรับเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม สามารถปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม การลงทุน และการท่องเที่ยวของประเทศ