สถาบันอนาคตไทยศึกษา นำเสนอ 5 ข้อเท็จจริงจาก 10 ปีงบประมาณไทย สร้างบทเรียนรู้เพื่อไม่ต้องเดินซ้ำรอยในอนาคต

ศุกร์ ๑๔ มิถุนายน ๒๐๑๓ ๑๐:๑๓
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (“สถาบันฯ”) ออกรายงานวิจัยเรื่อง “10 ปีงบประมาณไทย.. เราเรียนรู้อะไร?” นำเสนอ 5 ข้อเท็จจริงจากการวิเคราะห์โครงสร้างภาพรวมของงบประมาณไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อปูภาพใหญ่ให้เห็นว่างบประมาณของประเทศถูกใช้ไปในเรื่องที่ “ถูกที่” หรือไม่ ตอบโจทย์ของประเทศอย่างไร และได้ผลลัพท์ที่ต้องการหรือไม่ แนะใช้บทเรียนเป็นเครื่องเตือนใจไม่เดินซ้ำรอยเดิมในอนาคต

ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า “เมื่อพูดถึงงบประมาณ สิ่งที่คนสนใจมักจะเป็นเรื่องที่ว่าปีนี้รัฐจะใช้งบประมาณเท่าใด เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากี่เปอร์เซ็นต์ หรืออย่างมากก็ดูว่าแต่ละกระทรวงจะได้รับการจัดสรรวงเงินงบประมาณมากเท่าใด แต่การพิจารณางบประมาณแบบปีต่อปีเช่นนี้ อาจทำให้เราละเลยภาพใหญ่ของงบประมาณ ดังนั้น สถาบันฯ จึงได้ศึกษาโครงสร้างภาพรวมของงบประมาณไทยโดยมองย้อนกลับไป 10 ปี และขอนำเสนอ 5 ข้อเท็จจริงของงบประมาณไทยเพื่อให้เป็นบทเรียนรู้แก่สังคมไทยต่อไป:

ข้อเท็จจริงที่ 1: 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 2.4 เท่า หรือเพิ่มขึ้นเป็นเงินถึง 1.4 ล้านล้านบาท ในขณะที่งบลงทุนกลับเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 แสนล้านบาท และมีสัดส่วนเพียง 12% ของงบประมาณเท่านั้น นอกจากนี้ งบประมาณรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.2% ต่อปี ยังขยายตัวเร็วกว่าอัตราการเติบโตของ GDP (รวมเงินเฟ้อ) ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 7.2% ต่อปีอีกด้วย

ข้อเท็จจริงที่ 2: งบลงทุนจริงๆ อาจจะไม่ได้มากเหมือนที่ปรากฎในรายงานทั่วไป ในเอกสารงบประมาณโดยสังเขปประจำปี 2557 มีการรายงานตัวเลข “รายจ่ายเพื่อการลงทุน” มูลค่าราว 4.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 17% ของงบประมาณทั้งหมด แต่หากดูตัวเลขงบลงทุนตามระบบของ GFS ซึ่งหมายถึงการซื้อสินทรัพย์ถาวร จะพบว่ามีมูลค่าเพียง 3 แสนล้านบาทเท่านั้น

ข้อเท็จจริงที่ 3: การจัดสรรงบประมาณเป็นไปตามหน่วยงานมากกว่าตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไปกว่า 10 ปีแล้ว และโจทย์ของประเทศก็เปลี่ยนไปแล้วเช่นกัน แต่การจัดสรรงบประมาณไปยังกระทรวงต่างๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก สังเกตได้จากสัดส่วนงบประมาณของแต่ละกระทรวงที่แทบจะไม่เปลี่ยน หรือเปลี่ยนน้อยมากเมื่อเทียบกับตัวเลขเมื่อสิบปีที่แล้ว ยกเว้นกระทรวง ศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทยที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ในขณะที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับกระทรวงพลังงานที่รับผิดชอบวาระของประเทศที่ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศกลับได้รับการจัดสรรงบประมาณที่ลดลง

ข้อเท็จจริงที่ 4 : รูปแบบของการจัดสรรงบประมาณยังไม่เอื้อต่อการวัดผลว่าประเทศจะได้ผลลัพธ์อะไร คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปหรือไม่ การที่งบประมาณไปกระจุกตัวอยู่ในบางหน่วยงาน โดยเฉพาะในที่ที่ไม่ค่อยมีการแจกแจงรายละเอียดการใช้งบประมาณ จะทำให้การวัดผลเป็นไปได้ยาก เช่น งบกลางที่ได้การจัดสรรวงเงินเพิ่มขึ้นจาก 10 ปีที่แล้วมากถึง 2 เท่า มีมูลค่าเทียบเท่างบของกระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม และกระทรวงแรงงานรวมกัน แต่ไม่ต้องทำแผนแจกแจงรายละเอียดการใช้จ่าย หรือเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินที่ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีในการอนุม้ติก็มีวงเงินงบประมาณเพิ่มขึ้นเกือบ 8 เท่าเมื่อ 10 ปีผ่านไป และก็มีการใช้จ่ายที่เกินจริงกว่างบประมาณที่ตั้งเอาไว้

ข้อเท็จจริงที่ 5 : งบประมาณที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลงานที่ดีขึ้น หรือมีการนำเม็ดเงินงบประมาณไปแปลงให้เป็นผลลัพท์ตามโจทย์ที่ประเทศต้องการ ตัวอย่างเช่น กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการจัดสรรงบเพิ่มกว่า 2 เท่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ผลการสอบมาตรฐาน PISA ด้านคณิตศาสตร์ของเด็กไทยกลับมีคะแนนที่ลดน้อยลง หรือกระทรวงคมนาคมที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ดัชนีความสามารถด้านโลจิสติกส์ของไทยกลับลดลงไปอยู่ในอันดับที่ 38 ในปี 2555 จากเดิมในอันดับที่ 31 ในปี 2550

“เราควรใช้ประโยชน์จาก 5 ข้อเท็จจริงของ 10 ปีงบประมาณไทย เพื่อเป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และปรับปรุงสิ่งที่จะทำในอนาคต โดยสถาบันฯ ขอเสนอ 3 เรื่องที่รัฐควรทำ ได้แก่ 1) ต้องจัดสรรงบประมาณให้ถูกที่ ให้ตอบโจทย์ด้านยุทธศาสตร์ของประเทศ และตามลำดับความสำคัญของยุทธศาสตร์ในแต่ละด้าน มากกว่าการพิจารณาตามสัดส่วนที่เคยได้รับการจัดสรรในปีก่อนหน้า 2) เน้นการวัดผลลัพธ์ของงบประมาณ เพื่อให้มั่นใจว่างบประมาณที่ได้จัดสรรลงไปจะถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง การจัดสรรต้องโปร่งใส มีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน และต้องเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือต่างๆ ในการตรวจสอบงบประมาณ และ 3) ต้องมีการวิเคราะห์ต้นทุนเพื่อรับประกันว่าผลลัพธ์ที่ได้มีความคุ้มค่า โดยต้องยกเลิกโครงการหรือแผนงานที่ไม่รู้ต้นทุน และต้องจัดทำมาตรฐานต้นทุนเพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบที่ชัดเจน” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวสรุป

สำหรับท่านที่สนใจ สามารถอ่านหรือดาวน์โหลดรายละเอียดแบบสมบูรณ์ของรายงาน “10 ปีงบประมาณไทย .. เราเรียนรู้อะไร?” ได้จากเว็บไซด์ของสถาบันอนาคตไทยศึกษา (www.thailandfuturefoundation.org)

สถาบันอนาคตไทยศึกษาขอขอบพระคุณสื่อมวลชนทุกท่านที่ช่วยเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับนี้

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมใดๆ โปรดติดต่อ:

สุนทรี ปานนิลวงศ์ / ฐานิดา กมลจรัสกิจ

โทร. 02 2645481-3 อีเมล์ [email protected]

www.thailandfuturefoundation.org

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version