เอแบคโพลล์เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อโครงการรับจำนำข้าวในสายตาของสาธารณชน

จันทร์ ๑๗ มิถุนายน ๒๐๑๓ ๑๒:๓๑
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อโครงการรับจำนำข้าวในสายตาของสาธารณชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อโครงการรับจำนำข้าวในสายตาของสาธารณชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,384 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 12 — 15 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกอำเภอ/เขต ตำบล/แขวง ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7

จากการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.1 เชื่อว่ารัฐบาลกำลังขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าว ในขณะที่ร้อยละ 27.9 ไม่เชื่อ นอกจากนี้เกือบ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 63.2 ระบุว่าการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลมีผลค่อนข้างน้อยถึงไม่มีผลเลยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง ในขณะที่ร้อยละ 36.8 คิดว่ามีผลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

ที่น่าสนใจคือกลุ่มตัวอย่างส่วนมากหรือร้อยละ 54.3 ระบุว่าการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลมีผลค่อนข้างน้อยถึงไม่มีผลเลยต่อความน่าเชื่อถือของตนเองต่อรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 45.7 ระบุมีผลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

เมื่อสอบถามถึงการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวว่าควรดำเนินต่อไปหรือควรหยุดโครงการ พบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 52.8 คิดว่ารัฐบาลไม่ควรหยุดโครงการรับจำนำข้าว ในขณะที่ร้อยละ 47.2 คิดว่าควรหยุด อย่างไรก็ตามประชาชนส่วนมากหรือร้อยละ 58.7 เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลควรหาทางชดเชยการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างว่า ถ้ารัฐบาลหาทางชดเชยการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว โดยหาทางเรียกเก็บรายได้จากตนเองทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นจำนวนเงินทั้งหมดประมาณ 1,000 บาท เพราะรัฐบาลบอกผ่านสื่อว่าขาดทุนประมาณหกหมื่นล้านบาท พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.4 ไม่เห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 14.6 เห็นด้วย

และเมื่อถามต่อไปว่าถ้ารัฐบาลหาทางชดเชยการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว โดยหาทางเรียกเก็บรายได้จากตนเองทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นจำนวนเงินทั้งหมดประมาณ 3,000—4,000 บาท เพราะมีบางฝ่ายบอกว่ารัฐบาลขาดทุนกว่าสองแสนล้านบาท พบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.0 ไม่เห็นด้วย มีเพียงร้อยละ 8.0 เท่านั้นที่เห็นด้วย

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามถึงบุคคลที่ต้องรับผิดชอบและวิธีการรับผิดชอบ ถ้ารัฐบาลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว พบว่า รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 53.5 ระบุให้หาเงินมาชดเชย ในขณะที่ร้อยละ 31.8 ระบุให้ลาออก และร้อยละ 14.7 ให้ทำงานต่อไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

ส่วนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 54.7 ให้หาเงินมาชดเชย ในขณะที่ร้อยละ 30.1 ให้ลาออก และร้อยละ 15.2 ให้ทำงานต่อไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.7 ให้หาเงินมาชดเชย ในขณะที่ร้อยละ 27.0 ให้ลาออก และร้อยละ 16.3 ให้ทำงานต่อไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

ข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้อง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 54.2 ให้หาเงินมาชดเชย ในขณะที่ร้อยละ 26.1 ให้ลาออก และร้อยละ 19.7 ให้ทำงานต่อไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

และพรรคเพื่อไทย พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 57.5 ให้หาเงินมาชดเชย ในขณะที่ร้อยละ 25.1 ให้ลาออก และร้อยละ 17.4 ให้ทำงานต่อไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

ผู้ช่วย ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวจะมีผลทำให้เกิดความเดือดร้อนอะไรต่อวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนและยังสนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวต่อไป อย่างไรก็ตาม ถ้าประชาชนรับรู้ได้ว่าจะเดือดร้อนในลักษณะต้องจ่ายเงินเพิ่มทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับรัฐบาลในจำนวนใดจำนวนหนึ่ง ผลที่ตามมาคือ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยถึงแม้จะขาดทุนด้วยตัวเลขที่ต่ำสุดของรัฐบาล นอกจากนี้ ผลกระทบตามมาคือประชาชนเกือบ 1 ใน 3 เรียกร้องให้รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และส่งผลทำให้เชื่อมโยงถึงนายกรัฐมนตรีให้ลาออกเนื่องจากปัญหาโครงการรับจำนำข้าวอีกด้วย

“ในขณะที่ส่วนใหญ่ระบุต้องหาเงินมาชดเชยภาวะการขาดทุน ดังนั้นผลสำรวจครั้งนี้น่าจะทำให้รัฐบาลทบทวนและเดินหน้าต่อไปเนื่องจากโดยทั่วไปรัฐบาลเกือบทุกรัฐบาลจะ “ไม่หยุด” โครงการขนาดใหญ่และที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยอย่างมากที่สุดรัฐบาลมักจะเลือกยุบสภาเลือกตั้งใหม่แทนการยกเลิกโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลและให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศตัดสินแทนการใช้กระแสโจมตีรัฐบาล หรือทางออกอีกทางหนึ่งคือ การปรับปรุงออกโครงการรับจำนำข้าวเฟส 2 เพื่อไม่ทำให้รัฐบาลเสียหน้าจากภาวะการขาดทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล” นางสาวปุณฑรีก์ กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 51.7 เป็นหญิง ร้อยละ 48.3 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 3.9 อายุ น้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.0 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 23.0 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 22.1 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 31.0 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 77.1 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 20.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 2.2 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 39.3 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 18.8 ระบุอาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 15.2 ระบุพนักงานเอกชน ร้อยละ 9.4 เป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.0 ระบุ เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 5.5 เป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 0.3 เป็นเกษตรกร ในขณะที่ร้อยละ 2.5 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ