สำหรับโครงการแปลงแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทยสู่การปฏิบัติเชิงพื้นที่ พ.ศ. 2556 นี้ สสช.ได้กำหนด กลุยุทธ์ในการดำเนินการไว้ 3 กลยุทธ์ คือ การขับเคลื่อนด้วยกลไกคณะกรรมการจัดระบบสถิติประเทศไทย 3 ด้าน (ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ซึ่งมีรัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีเป็นประธานคณะฯ กลยุทธ์ที่สองการสร้างพันธมิตรด้วยการลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อขยายผลการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ระดับกลุ่มจังหวัด ซึ่งได้มีการลงนามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การขยายผลการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในระดับพื้นที่ ภายใต้โครงการ การแปลงแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทยสู่การปฏิบัติเชิงพื้นที่ ลงนามไปแล้วเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2556 และกลยุทธ์สุดท้ายการจัดระบบและรูปแบบการทำงานที่ผสมผสานระหว่างผู้ใช้และผู้ผลิตข้อมูล โดยนำความต้องการของผู้ใช้ข้อมูล และประเด็นยุทธศาสตร์มากำหนดเป้าหมายในการทำงาน
โดยในปีนี้มีเป้าหมายในการลงพื้นที่ 2 กลุ่มจังหวัด คือ กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดอีก 3 ท่าน เป็นที่ปรึกษาฯ และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (สกลนคร นครพนม มุกดาหาร) ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดอีก 2 ท่าน เป็นที่ปรึกษาฯ โดยคาดว่าภายในปี 2557 จะขยายผลการดำเนินงานไปให้ครบทั้ง 76 จังหวัด และ 18 กลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ โดยจะดำเนินการตามยุทธศาสตร์จังหวัด และประเด็นปัญหาที่สำคัญในพื้นที่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการติดตามแผนพัฒนาสถิติระดับพื้นที่ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วม AEC
เมื่อโครงการนี้สำเร็จลุล่วงประเทศไทยจะมีชุดข้อมูลสถิติและสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ (Product Champion) และสนับสนุนการวิเคราะห์การกำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ (Positioning) ในระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยชุดข้อมูลดังกล่าวจะเป็นชุดข้อมูลที่สำคัญ จำเป็นและเพียงพอต่อการตัดสินใจในเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะประเด็นยุทธศาสตร์จังหวัด กลุ่มจังหวัด และประเด็นปัญหาที่สำคัญในพื้นที่ โดยมีหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบการผลิตข้อมูลอย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นการสร้างนวัตกรรมในการใช้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ การจัดทำแผนพัฒนาสี่ปีหรือแผนพัฒนาแบบหมุนเวียน (Rolling Plan) ส่งผลให้เกิดธรรมาภิบาลในภาครัฐ (Good Governance) และยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านสถิติ ขององค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างวัฒนธรรมการผลิต และการใช้ข้อมูลสถิติและสารสนเทศสนับสนุนการตัดสินใจ โดยมีความเป็นมืออาชีพด้านการผลิตและใช้ข้อมูลสถิติและสารสนเทศ
ติดต่อ:
PR.MICT 02-141-6747