สพฉ. จับมือมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กสทช. และทีโอทีพัฒนาระบบการแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุและผู้บกพร่องทางการได้ยิน

พุธ ๑๙ มิถุนายน ๒๐๑๓ ๐๘:๔๔
สพฉ. จับมือมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กสทช. และทีโอทีพัฒนาระบบการแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุและผู้บกพร่องทางการได้ยิน นำร่องพัฒนา 7 จังหวัด พร้อมจัดหาล่ามและจัดทำฐานข้อมูลคนพิการ หวังให้เข้าถึงบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที

ที่ห้องประชุมอาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๘๔ พรรษา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการและบริษัททีโอทีจำกัด (มหาชน) จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุ และผู้บกพร่องทางการได้ยินและการพูด

นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบันที่ผู้สูงอายุจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และพัฒนาระบบในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส คนพิการทางการได้ยิน โดยจากฐานข้อมูลทะเบียนกลางคนพิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติมีทั้งสิ้นกว่า 1,374,133 คน เป็นคนพิการทางการได้ยินและสื่อความหมายจำนวน 221,199 คน ซึ่งจะได้รับประโยชน์และเข้าถึงการบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เกิดความร่วมมือในการบูรณาการดูแลตั้งแต่การเริ่มแจ้งเหตุ ไปจนกระทั่งการเข้าถึงผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว และจะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยฉุกเฉิน

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ สพฉ. คือจะต้องดูแลผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินให้สามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และเป็นไปตามนโยบาย 5 ค. ได้แก่ ครอบคลุมคนทุกคน คล่องแคล่วและให้การช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ ครบพร้อม 24 ชั่วโมง และคุ้มครอง ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ตอบโจทย์ความครอบคลุมประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนพิการทางการได้ยินและการพูด ซึ่งในเบื้องต้นจะมีการนำร่องทดสอบระบบก่อนใน 7 จังหวัด คือ จังหวัดชลบุรี ระยอง ขอนแก่น หนองบัวลำภู อุดรธานีกาฬสินธุ์ และอุบลราชธานีและต่อจากนี้ในอนาคต สพฉ.จะมีการพัฒนาระบบต่างๆ สำหรับคนพิการทางการเห็น และคนพิการทางร่างกาย และคนพิการอื่นๆ ด้วย เนื่องจากเราเล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน และที่สำคัญเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ขณะที่นายพจน์ จิรวุฒิกุล กรรมการ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการพัฒนาระบบเครือข่ายสารสนเทศของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าตอบสนองนโยบายประเทศ Smart Thailand ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้วยการนำระบบสื่อสารโทรคมนาคมมาพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทย เพื่อประโยชน์ต่อการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉิน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพมาตรฐาน และทันต่อเหตุการณ์

นายยงยุทธวัฒนสินธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอทีกล่าวว่า ทีโอที ได้พัฒนานวัตกรรม TOT Help Call Center ด้วยการเพิ่มศักยภาพระบบโทรศัพท์พื้นฐาน พร้อมระบบจัดเก็บข้อมูลที่มีมาตรฐานและระบบแสดงผลอัตโนมัติเกี่ยวกับข้อมูลประวัติผู้สูงอายุ ประวัติรักษาพยาบาล และ สำคัญที่สุดคือตำแหน่งของบ้านพักอาศัยของผู้สูงอายุบนแผนที่ดาวเทียม เชื่อมโยงกับระบบรับแจ้งเหตุของสายด่วน 1669 ประจำจังหวัดนั้น ๆ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการแจ้งเหตุ และการรับรู้สถานที่เกิดเหตุของผู้ป่วยที่ถูกต้องและรวดเร็ว เพิ่มโอกาสการให้บริการกับผู้ป่วยฉุกเฉินได้ อย่างทันท่วงทีมากยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการนี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับบริการโทรศัพท์ประจำที่ ยังเป็นการช่วยเหลือสังคมในด้านสถาบันครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

ด้านศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กล่าวว่า มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการมีวัตถุประสงค์สนับสนุนให้คนพิการได้รับความช่วยเหลือทุกด้านจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน รวมทั้งดำเนินกิจกรรมให้คนพิการได้มีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป ในด้านการสนับสนุนให้คนพิการทางการได้ยินได้มีโอกาสใช้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง มูลนิธิฯ ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ในการจัดตั้งศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทยเพื่อให้บริการถ่ายทอดการสื่อสารแก่คนพิการทางการได้ยินและการพูดกับคนอื่นๆในสังคม ในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่มั่นคงในการช่วยเหลือคนพิการทางการได้ยินได้มีโอกาสเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ในอนาคตยังจะมีการพัฒนาระบบทุกรูปแบบเพื่อที่จะช่วยให้คนพิการทุกคนสามารถเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์อย่างมาก

สำหรับการปฏิบัติงานตามการลงบันทึกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในครั้งนี้นั้น จะเกิดการจัดทำระบบฐานข้อมูลของผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐาน เช่น โรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา พิกัดของสถานที่บ้านพัก หมายเลขโทรศัพท์พื้นฐานหรือหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ และข้อมูลอื่นๆ ที่คนพิการทางการได้ยินได้ลงทะเบียนไว้กับมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และจะนำไปเชื่อมโยงต่อกับระบบการรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 1669 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

นอกจากนี้จะมีการจัดหาล่ามภาษามือให้เป็นบุคคลกลางในการติดต่อสื่อสารขอความช่วยเหลือระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกับคนพิการทางการได้ยินด้วย พร้อมกันนี้จะมีการติดตั้งชุดคอมพิวเตอร์เพื่อให้บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบการแพทย์ฉุกเฉินให้เชื่อมโยงกับระบบการรับแจ้งเหตุการช่วยเหลืออีกด้วย

เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร.1669

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ