รายได้รัฐบาลเดือนพฤษภาคม 2556 และในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556

พุธ ๑๙ มิถุนายน ๒๐๑๓ ๐๙:๔๖
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555 — พฤษภาคม 2556) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,433,851 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 84,186 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.2 เป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังที่สูงกว่าเป้าหมาย 54,664 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.8 โดยมีสาเหตุสำคัญจากภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย สะท้อนถึงอุปสงค์ภายในประเทศ รายได้ภาคครัวเรือน และผลประกอบการของภาคธุรกิจพลังงานที่ขยายตัวได้ดี ประกอบกับการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นและการนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจสูงกว่าเป้าหมาย 44,847 และ 5,874 ล้านบาท หรือร้อยละ 60.2 และ 7.6 ตามลำดับ นอกจากนี้ การคืนภาษีของกรมสรรพากรสูงกว่าประมาณการ 21,117 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.8 สำหรับเดือนพฤษภาคม 2556 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 326,803 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 21,887 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.3 สาเหตุสำคัญมาจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ สืบเนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยที่ส่งผลให้ผลประกอบการของภาคธุรกิจที่ยื่นชำระภาษีจากกำไรสุทธิประจำปี 2555 (ภ.ง.ด. 50) ต่ำกว่าประมาณการ และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าที่ต่ำกว่าประมาณการ ตามมูลค่า การนำเข้าที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ยังจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ สะท้อนถึงผลประกอบการของภาคธุรกิจพลังงาน รายได้ภาคครัวเรือน และอุปสงค์ในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ขยายตัวดี ทั้งนี้ นายสมชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าจากผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 8 เดือนแรก ของปีงบประมาณที่สูงกว่าประมาณการ ทำให้มั่นใจว่าในปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลให้ฐานะการคลังของประเทศมีความมั่นคง

1. เดือนพฤษภาคม 2556 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 326,803 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 21,887 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.3 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.7) สาเหตุสำคัญมาจากภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 25,113 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.0 สืบเนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยในปี 2554 ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงผลประกอบการที่ยื่นชำระภาษีจากกำไรสุทธิประจำปี 2555 (ภ.ง.ด. 50) ของภาคธุรกิจต่ำกว่าประมาณการ นอกจากนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 4,591 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.6 โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 6,675 ล้านบาทหรือร้อยละ 21.1 เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,084 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.2 จากการบริโภค ในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 9,420 ล้านบาท หรือร้อยละ 47.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก บมจ.ปตท. นำส่งเงินปันผลแล้วในเดือนเมษายน 2556 จากที่ประมาณการ จะนำส่งในเดือนพฤษภาคม 2556

อย่างไรก็ดี ในเดือนพฤษภาคมมีภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญได้แก่ 1) ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 14,592 ล้านบาท เป็นผลจากผลประกอบการในธุรกิจปิโตรเลียมที่ขยายตัวได้ดี สอดคล้องกับมูลค่าการขายปิโตรเลียมในปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 20.3 2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1,558 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.6 สาเหตุหลักมาจากรายได้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และ 3) ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 546 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.6 สืบเนื่องจากโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกเป็นสำคัญ ประกอบกับหน่วยงานอื่นจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ 2,215 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.0 จากรายได้สัมปทานปิโตรเลียมที่สูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ

2. ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555 — พฤษภาคม 2556)

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,433,851 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 84,186 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14.0) เป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังที่สูงกว่าเป้าหมาย 54,664 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.8 ประกอบกับการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นและการนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจสูงกว่าเป้าหมาย 44,847 ล้านบาท และ 5,874 ล้านบาท หรือร้อยละ 60.2 และร้อยละ 7.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การคืนภาษีของกรมสรรพากร การจัดสรรรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มให้ อบจ. และเงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก สูงกว่าประมาณการ 21,117 600 และ 537 ล้านบาท ตามลำดับ

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,112,778 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 29,432 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.9) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ (1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 20,558 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14.2) สะท้อนถึงรายได้ภาคครัวเรือนที่ขยายตัวได้ดีตามการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ (2) ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 17,866 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.6 เป็นผลจากผลประกอบการในธุรกิจปิโตรเลียมที่เติบโตดี (3) ภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 5,668 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.8 เป็นผลจากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยภาษีธุรกิจเฉพาะที่เก็บจากธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 29.9 และ (4) ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 3,210ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.0) สาเหตุหลักมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศสูงกว่าเป้าหมาย 16,344 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.0 สะท้อนการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 19,373 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.1) สืบเนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยในปี 2554 ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงผลประกอบการที่ยื่นชำระภาษีจากกำไรสุทธิประจำปี 2555 (ภ.ง.ด. 50) ของภาคธุรกิจต่ำกว่าประมาณการ

2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 302,339 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 24,839 ล้านบาทหรือร้อยละ 9.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 24.5) สาเหตุสำคัญมาจากภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 29,079 ล้านบาท หรือร้อยละ 35.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 73.2) เป็นผลจากโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 4,387 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.6 จากปริมาณการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น และภาษียาสูบจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 4,140 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.4 ตามลำดับ สืบเนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบและสุราเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 อย่างไรก็ดี ภาษีน้ำมันและภาษีสุราจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 10,507 และ 4,860 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.8 และ 11.7 ตามลำดับ

2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 76,243 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 393 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.5 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.1) โดยอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 364 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.5 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.0) ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาท ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555 — เมษายน 2556) ขยายตัวร้อยละ 11.8 และ ร้อยละ 9.3 ตามลำดับ โดยสินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็กและเหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า

2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 83,182 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 5,874 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.3) โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้/เงินปันผลสูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ธนาคารออมสิน บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.ปตท นำส่งรายได้/เงินปันผลสูงกว่าประมาณการ 3,793 2,471 และ 2,190 ล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่ รัฐวิสาหกิจบางแห่งนำส่งรายได้/ เงินปันผลต่ำกว่าประมาณการ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บมจ.ทีโอที และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนำส่งรายได้/เงินปันผลต่ำกว่าประมาณการ 5,437 2,413 และ 1,550 ล้านบาท ตามลำดับ

2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 119,371 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 44,847 ล้านบาท หรือร้อยละ 60.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 56.6) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้สัมปทานปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 7,384 ล้านบาท สาเหตุมาจากปริมาณปิโตรเลียมที่ขุดเจาะได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าที่คาดไว้

กรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย 1,303 ล้านบาท จากการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนและเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังมีรายได้พิเศษ ได้แก่ (1) รายได้จากการประมูลให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ย่าน 2.1 GHz จำนวน 20,843 ล้านบาท (2) การส่งคืนเงินที่กันไว้เพื่อชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับ ผู้ส่งออกสินค้าจำนวน 8,227 ล้านบาท (3) การเหลื่อมนำส่งรายได้จากกำไรสุทธิประจำปี 2553 ของ กสทช. จำนวน 1,655 ล้านบาท (4) เงินชำระหนี้ค่าข้าวจากโครงการขายข้าวรัฐบาลรัสเซียจำนวน 1,118 ล้านบาท (5) เงินรับคืนจากโครงการจัดจ้างผลิตเล่มหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Passport) ระยะที่ 1 จำนวน 913 ล้านบาท และ (6) การส่งคืนเงินบำรุงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (TPBS) จำนวน 616 ล้านบาท

2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 200,063 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 21,117 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.8 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 157,795 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 18,976 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.7 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคลภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 42,268 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,141 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.3

2.7 การจัดสรรรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 10,496 และ 9,868 ล้านบาท ตามลำดับ สูงกว่าประมาณการ 600 และ 537 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.1 และ 5.8 ตามลำดับ

2.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 5 งวด เป็นเงิน 39,635 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,055 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสุทธิต่ำกว่าประมาณการ (ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บหักการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม)

สำนักนโยบายการคลัง

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร 02 273 9020 ต่อ 3543 และ 3544

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ