นพ. บัญชา ศันสนีย์วิทยกุล ที่ปรึกษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ รพ.รามคำแหง เปิดเผยว่าภาวะหัวใจตายเฉียบพลันถือเป็นภัยเงียบที่ควรต้องใส่ใจอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นภาวะที่มักไม่มีสัญญาณเตือนก่อนดังเช่นโรคอื่นๆ ผู้ป่วยที่เผชิญสถานการณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่จึงต้องสูญเสียชีวิตไปโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจตายเฉียบพลันมักมีอาการหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติจนหัวใจล้มเหลวและหยุดเต้นในที่สุดอาทิ ผู้ป่วยโรคไหลตายซึ่งหัวใจหยุดเต้นโดยไม่รู้ตัวขณะที่เจ้าตัวนอนหลับ ซึ่งภาวะดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้ป่วยทุกเพศทุกวัยและมักเกิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจหรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ ซึ่งหากเกิดอาการหัวใจตายเฉียบพลันแล้วผู้ใกล้ชิดจะมีเวลาในการกู้ชีพเพียง 4 นาที ด้วยวิธีปั๊มหัวใจและปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งเมื่อผู้ป่วยกลับมาหายใจได้ใกล้เคียงกับปกติแล้วจะต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
สำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจตายเฉียบพลันนั้นปัจจุบันสามารถทำได้โดยการฝังอุปกรณ์บางชนิดเข้าไปใต้ผิวหนังช่วงหน้าอกซ้ายและเชื่อมสายไฟไปต่อเข้ากับหัวใจ ซึ่งเมื่อใดที่หัวใจเกิดอาการเต้นเร็วกว่าปกติ อุปกรณ์ดังกล่าวก็จะส่งกระแสไฟเข้าสู่หัวใจทำให้กลับมาเต้นเป็นปกติเหมือนเดิมก่อนที่จะเต้นผิดจังหวะมากจนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างมากเพราะหากเกิดอาการขึ้นแล้วจะต้องได้รับการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธีภายในเวลา 4 นาทีเท่านั้น ทางที่ดีแล้วผู้ที่ป่วยด้วยโรคหัวใจหรือมีอาการเข้าข่ายว่าจะมีความผิดปกติด้านหัวใจจึงควรต้องเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด ส่วนผู้ใกล้ชิดก็ต้องเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับภาวะหัวใจตายและสูญเสียชีวิตอย่างน่าเสียดาย นพ.บัญชากล่าวในที่สุด
สายด่วนสุขภาพ 0-2743-9999
www.ram-hosp.co.th
www.facebook.com/ramhospital