ICT จับมือสามหน่วยงานไอทีภาครัฐ EGA, SIPA และซอฟต์แวร์พาร์ค เปิดตัวระบบบริการซอฟต์แวร์ออนไลน์ภาครัฐ

พฤหัส ๒๐ มิถุนายน ๒๐๑๓ ๐๙:๐๑
ICT จับมือสามหน่วยงานไอทีภาครัฐ EGA, SIPA และซอฟต์แวร์พาร์ค เปิดตัวระบบบริการซอฟต์แวร์ออนไลน์ภาครัฐ หรือ G-SaaS หวังสร้างมิติใหม่การใช้ซอฟต์แวร์ภาครัฐ ประเดิมระบบส่งหนังสือข้ามหน่วยงาน พร้อมเตรียมเปิด 11 โปรแกรมภายในสิ้นปีนี้ เชื่อมาตรฐานแต่ะโปรแกรมเปิดช่องอิสระให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์เข้าตลาดภาครัฐ

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT เปิดเผยว่า ICT ร่วมมือกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA และเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค ได้จัดทำระบบ Government Software as a Service (G-SaaS) หรือบริการซอฟต์แวร์ออนไลน์ภาครัฐ โดยเป็นซอฟต์แวร์พื้นฐานจำนวน 11 โปรแกรม ซึ่งขณะนี้เปิดให้บริการเบื้องต้นจำนวน 3 โปรแกรม ที่เหลือจะทยอยเปิดให้บริการกับภาครัฐภายในปีนี้

ที่ผ่านมาทาง EGA ได้เปิดบริการประเภท Infrastructure as a service (G-IaaS) หรือพวกโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบ ฐานข้อมูล และอื่นๆ ตามด้วย Platform as a service (G-PaaS) ที่เกี่ยวพันกับระบบปฏิบัติการต่างๆ ถือเป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐยอมรับได้ในระดับหนึ่งแล้ว เป้าหมายที่ ICT และ EGA ได้ดำเนินการต่อในครั้งนี้คือ การเป็น Software as a service (G-SaaS) หรือบริการซอฟต์แวร์ออนไลน์ภาครัฐที่จะเป็นทางเลือกให้ภาคราชการไทยได้มีโอกาสเลือกใช้ซอฟต์แวร์ที่ทำงานผ่าน Government Cloud Service (G-Cloud) เชื่อมต่อกับโครงสร้างบริการอื่นที่มีอยู่ใน GIN ของ EGA และทุกอย่างอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ทำให้การเชื่อมต่อการทำงานของโปรแกรม ข้อมูล และเครือข่ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

“การริเริ่มทำโครงการนำร่อง G-SaaS มีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากปล่อยให้เกิด ตามธรรมชาติแล้ว บริการนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐที่ใช้ซอฟต์แวร์ทั้งหลายหาใช่ผู้ที่พัฒนาซอฟต์แวร์เองแต่อย่างใด เป็นการจัดซื้อจัดจ้างผู้ให้บริการระบบ หรือ System Integrators หรือ SI มาจัดการให้ ซึ่งก็เป็นไปได้ที่จะมีการเลือกซอฟต์แวร์ไทยเข้ามาร่วมด้วยแต่ถือว่าน้อยมาก และที่ผ่านมา SI เหล่านั้นก็ต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐมานาน โอกาสที่จะให้ซอฟต์แวร์ไทยรายใหม่ๆ ได้แจ้งเกิดในเวทีภาครัฐเป็นไปได้น้อยมาก และที่สำคัญแต่ละหน่วยงานก็ต้องใส่ความต้องการในด้านการทำงานของตนเองเป็นหลัก และโอกาสที่จะให้ซอฟต์แวร์ของตนเองไปเชื่อมกับหน่วยงานภายนอกแทบจะไม่มีความเป็นไปได้เลย ภาคราชการไทยจึงเสียงบประมาณจำนวนมากไปกับระบบไอทีที่แม้จะมีความทันสมัย แต่ไม่สามารถนำประสิทธิภาพเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างเต็มที่” น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว

ตัวอย่างของ G-SaaS คือซอฟต์แวร์ทางด้านสารบรรณ ซึ่งซอฟต์แวร์ชนิดนี้หน่วยงานรัฐเกือบ 80% จัดซื้อจัดจ้างมาใช้สำหรับทำหนังสือเข้า-ออก แต่ละรายมีความแตกต่างกัน แม้ลักษณะงานแทบจะเหมือนกันก็ตาม ทำให้ในหนึ่งกระทรวงอาจมีระบบสารบรรณเป็น 10 ระบบ แต่ละระบบไม่สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ และก็ไม่สามารถเชื่อมต่อข้ามกระทรวงกันได้เช่นเดียวกัน ถือเป็นการสูญเปล่าทางด้านงบประมาณของราชการไทยอย่างมาก

ดังนั้น EGA จึงเข้ามาทำมาตรฐานระบบสารบรรณ โดยมาตรฐานนี้ได้รับการยอมรับจากผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ทางด้านสารบรรณที่มีอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว จากนั้นก็ช่วยเหลือแนวทางที่จะให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ปรับระบบของตัวเองให้เข้ากับมาตรฐานนั้น ขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนให้ทำงานได้บนระบบ G-Cloud ของ EGA ไปด้วยพร้อมกัน ไม่เพียงเท่านั้น EGA ยังช่วยเหลือทางด้านมาตรฐานระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อทำให้หน่วยงานรัฐเกิดความมั่นใจในการที่จะมาใช้งาน เท่ากับ EGA เป็นเหมือนตราประทับและการันตีการทำงานของซอฟต์แวร์ที่อยู่บนคลาวด์ของ EGA ไปด้วยในตัว

G-SaaS จึงเป็นเหมือนปลายทางการให้บริการระบบ G-Cloud ซึ่งเป็นโครงการยุคใหม่ของภาคราชการไทย เป็นอนาคตที่จะปรับโฉมการทำงานของภาครัฐทั้งระบบ วันนี้แม้จะเริ่มต้นที่ 3 และจะมีอีก 8 โปรแกรมตามมา แต่ภายในปีหน้าจะเกิดโปรแกรมที่อยู่บน G-SaaS อีกมากมาย มูลค่าการใช้งานจะมากขึ้น เป็นทางเลือกให้กับภาคราชการไทย เป็นอนาคตใหม่ของวงการซอฟต์แวร์ไทย และเป็นบริการใหม่ๆ ที่จะส่งผลต่อการบริการ ภาคประชาชนในเร็วๆ นี้

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า บริการซอฟต์แวร์ที่อยู่ภายใต้ G-SaaS จะทำงานอยู่บนระบบ G-Cloud ของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) โดยในปีนี้ซอฟต์แวร์ออนไลน์ภาครัฐที่ให้บริการบริการจะมี 11 กลุ่ม โดย 3 กลุ่มแรกสามารถให้บริการได้ทันทีคือ 1.Saraban as a Service บริการระบบสารบรรณกลางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับหน่วยงานภาครัฐ 2. SMS as a Service บริการส่งข้อความ(SMS) ผ่านเว็บไซต์ 3. Conference as a Service ระบบห้องประชุมเสมือน นอกนั้นจะมีการกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมและทยอยให้บริการภายในปีนี้ต่อไป

ระบบสารบรรณกลางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับหน่วยงานภาครัฐ เป็นการให้บริการระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ Software as a Service: SaaS บนระบบ G-Cloud เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขยายผลการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานภาครัฐที่มีความแตกต่างกันได้อย่างอัตโนมัติ (Cross Platforms Interconnection) ให้สามารถแลกเปลี่ยนกันได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและขั้นตอนในการติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงาน รวมถึงการลดการใช้กระดาษ (Paperless) ได้อย่างเต็มรูปแบบ

ระบบนี้ทาง EGA ได้ร่วมมือกับผู้พัฒนาซอฟต์แวร์คนไทย โดย EGA ได้กำหนดมาตรฐานของ ระบบสารบรรณขึ้นมา โดยก่อนหน้านั้นได้มีการหารือกับตัวแทนของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้มาตรฐานดังกล่าวเสร็จแล้ว ทำให้ซอฟต์แวร์สารบรรณของทั้ง 4 รายสามารถเชื่อมระบบเอกสารถึง กันได้ ดังนั้นหน่วยงานราชการที่เลือกใช้ระบบนี้อาจเลือกซอฟต์แวร์จากรายใดรายหนึ่ง ก็สามารถเชื่อมระบบเอกสารไปยังหน่วยงานอื่นๆ ได้ทันที

สำหรับหน่วยงานราชการที่ต้องการใช้ระบบภายในปีนี้ ทาง EGA จะให้ทางหน่วยงานเข้ามา ศึกษา และคัดเลือกซอฟต์แวร์ที่ต้องการใช้ โดย EGA จะให้ทดลองใช้ฟรี 1 ปี ซึ่ง EGA จะเป็นผู้ลงทุน ทางด้าน ระบบเซิร์ฟเวอร์และโครงข่ายคลาวด์คอมพิวติ้งทั้งหมด โดยให้เจ้าของซอฟต์แวร์ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนระบบของตนเองมาทำงานบนคลาวด์แล้วได้ใช้สาธารณูปโภคของ EGA อย่างเต็มที่บน เงื่อนไขที่ต้องมีมาตรฐานดังกล่าว และผ่านการทดสอบเรื่องระบบความปลอดภัยแล้ว หลังจาก 1 ปีแล้ว ทางหน่วยงานสามารถ ตัดสินใจเลือกใช้ซอฟต์แวร์ต่างๆ ได้ โดยค่าบริการจะเก็บเป็น Pay Per Use หรือจ่ายตามการใช้งานจริง ซึ่ง EGA จะมีการกำหนดราคากับทางเจ้าของซอฟต์แวร์อีกครั้งหนึ่ง

ระบบมาตรฐานของสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์นั้น EGA จะเปิดโอกาสให้ซอฟต์แวร์ของนักพัฒนา ทุกรายสามารถเข้ามาติดตั้งเพื่อเป็นตัวเลือกให้บริการอย่างเสรี เพียงแค่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ EGA, SIPA และซอฟต์แวร์พาร์ค กำหนด และซอฟต์แวร์เหล่านั้นอาจถูกถอดออกจากระบบได้ หากพบว่าการให้บริการ ต่ำกว่ามาตรฐาน

ส่วนระบบ SMS as a Service บริการส่งข้อความ (SMS) ผ่านเว็บไซต์ เพื่อการประชาสัมพันธ์หรือติดต่อสื่อสารภายในหน่วยงาน รวมถึงการแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชน และ Conference as a Service ระบบห้องประชุมเสมือน ที่จากเดิมที่ สรอ. ได้มีให้บริการ GIN Conference เพื่อเป็นการประชุมทางไกลผ่านเครือข่ายภาครัฐนั้น EGA พัฒนาต่อเป็นการให้บริการ Web Conference ในรูปแบบของ Software as a Service บริการดังกล่าวเป็นบริการที่ EGA เห็นว่าทางหน่วยงานภาครัฐมีความจำเป็นต้องใช้งาน แต่หากหน่วยงานนั้นใช้ในปริมาณไม่มาก การจัดซื้อจะยุ่งยากและได้ใช้บริการในราคาที่แพง ดังนั้นบริการนี้เท่ากับว่า EGA จะเป็นผู้รวบรวมและให้บริการเอง ซึ่งในระยะยาวหากมีหน่วยงานอื่น ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถให้บริการเช่นนี้ได้ ก็สามารถเสนอตัวเข้ามาในระบบนี้ได้

สำหรับซอฟต์แวร์ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและทดสอบ จำนวน 8 ชนิดจะประกอบด้วย 1.Office on Cloud ซึ่งเป็นบริการซอฟต์แวร์ออฟฟิศเพื่อการสร้างเอกสาร ตารางคำนวณ รวมถึงงานนำเสนอ ซึ่งจะสนับสนุนการทำงานได้จากทุกที่ทุกเวลา 2.Personal Storageระบบบริการจัดเก็บข้อมูลภาครัฐ 3.Government Website as a Serviceระบบเว็บไซต์ภาครัฐ 4.Conference as a Service ในระดับขั้นสูงหรือ Premium 5.SMART IVR (Interactive Voice Response) 6.Streaming as a Service 7.Antivirus (Client Security for GIN) และ 8.Private Instant Messaging

ขณะนี้ซอฟต์แวร์ทดสอบได้รับความสนใจจากนักพัฒนาจำนวนมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่าซอฟต์แวร์เหล่านี้ คือบริการขั้นพื้นฐานที่หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยสามารถใช้ได้ทั้งหมด โดยในเบื้องต้น EGA จะยังไม่ลงไปสู่ซอฟต์แวร์เฉพาะทางที่เกี่ยวกับการทำงานของหน่วยงานที่เป็นลักษณะเฉพาะ

ในระบบ G-SaaS ทาง EGA จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานการให้บริการและสร้างมาตรฐาน ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ช่วยลดความซ้ำซ้อนและสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่ อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับหน่วยงานภาครัฐ เพียงแค่หน่วยงานนั้นแจ้งผ่านระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์กลางเพื่อการสื่อสารในภาครัฐ (Mailgothai) ก็สามารถเข้ารับบริการที่ EGA เปิดให้บริการได้ทันที ทำให้หน่วยงานต่างๆ ได้ใช้ซอฟต์แวร์ที่ได้มาตรฐานกลางภาครัฐที่คัดเลือกโดย EGA, ลดขั้นตอนการจัดซื้อ, ลดค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีเสารสนเทศ, มีมาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูลในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในระดับภาครัฐกับภาครัฐ, สะดวกในการใช้งานได้จากทุกที่ ทุกเวลา และเป็นมาตรฐานเดียวในการติดต่อสื่อสาร

สำหรับภาคเอกชนที่เข้าร่วมจะเกิดประโยชน์คือ ผู้เข้าร่วมพัฒนาระบบงานด้าน e-Government ให้กับภาครัฐ ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัท, เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และได้เปิดตลาดสู่ภาครัฐไปจนถึงระดับนานาชาติ, มีโอกาสนำข้อมูลภาครัฐไปพัฒนาบริการให้กับประชาชน ขณะที่ภาคประชาชนประชาชนจะได้รับบริการที่มีความสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง และเท่าเทียมไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม ทั้งในสถานที่ของหน่วยงานภาครัฐ หรือผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้จากทั่วโลก

นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา SIPA เข้ามาส่งเสริมให้ซอฟต์แวร์ไทยก้าวสู่ระบบ Cloud Computing มาโดยตลอด เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ทั้งระบบ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยเข้มแข็งขึ้นมาได้ในอนาคต ขณะที่ผู้ใช้บริการซอฟต์แวร์ภาคเอกชนของไทยและต่างประเทศมีความตื่นตัวเรื่องนี้อย่างสูง แต่องค์กรรัฐของไทยกลับไม่สามารถขยับตัวสู่ระบบ Software as a Service ได้ ทั้งที่มูลค่าการใช้ซอฟต์แวร์ภาครัฐมีอยู่สูงมาก

ดังนั้น EGA ซอฟต์แวร์พาร์ค และ SIPA สามหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องซอฟต์แวร์ทั้งระบบ จึงต้องจับมือกันเพื่อสร้างระบบ G-SaaS ให้เป็นจริงขึ้นมา โดยทั้งหมดร่วมกันสร้าง มาตรฐานซอฟต์แวร์ในแต่ละบริการ โดยยึดหลักต้องเป็นมาตรฐานที่ไม่มีการผูกขาดให้กับรายใดรายหนึ่ง ทำให้การแข่งขันเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ ที่สำคัญบริษัทซอฟต์แวร์รายเล็กต้องสามารถเข้าสู่ตลาดภาคราชการได้

บทบาทของ SIPA ที่นอกจากการร่วมมือสร้างมาตรฐานร่วมกับอีก 2 หน่วยงานแล้ว หน้าที่ในการส่งเสริมผู้ประกอบการในด้านการตลาดมีความจำเป็นอย่างมาก ดังนั้นการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการตลาด เพื่อทำให้บริษัทซอฟต์แวร์ต่างๆ รู้จักโครงการนี้ และรู้ว่ามาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นเช่นไร และสนับสนุนให้งบประมาณเพื่อให้ซอฟต์แวร์ ต่างๆ สามารถเข้าร่วมกับมาตรฐานนี้ในชั้นต้น เป็นเรื่องที่ SIPA ให้ความสำคัญ

ภายในปีนี้ SIPA จะมีการจัดประกวดซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในงานภาครัฐ โดยอิงกับมาตรฐานที่ร่วมกัน 3 หน่วยงานเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการตัดสิน ซึ่งถือว่าผลงานที่ผ่านเกณฑ์การตัดสินแม้จะไม่ได้รางวัลชนะเลิศ แต่ก็สามารถนำซอฟต์แวร์เหล่านี้เข้าไว้ในหมวดการให้บริการ G-SaaS ได้ในทันที จะเป็นประโยชน์กับวงการซอฟต์แวร์ไทย เพื่อให้เป็นทาง เลือกกับภาคราชการของไทยอย่างมาก

การจัดประกวดในปีนี้ทาง SIPA คาดหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในงาน Software Expo ที่ทาง SIPA จะจัดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ และการจัดประกวดจะแยกจากงาน Thailand ICT Award หรือ TICTA ที่จะขึ้นในปลายปีนี้ จึงถือเป็นการจัดประกวดที่มีความเฉพาะทาง และเน้นหนักเพื่อเข้าสู่ระบบ G-SaaS เท่านั้น

นอกจากนั้นทาง SIPA เตรียมดำเนินตั้งกองทุนค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซอฟต์แวร์เพื่อเข้าสู่มาตรฐาน และทำงานบนคลาวด์ให้กับซอฟต์แวร์ไทยที่สนใจ โดยเงื่อนไขและรายละเอียดนั้นกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา

การเข้าร่วมสร้างระบบ G-SaaS ของ SIPA ในครั้งนี้ มั่นใจว่าจะเป็นการกระตุ้นตลาดซอฟต์แวร์ของไทยในตลาดราชการซึ่งมีมูลค่ามหาศาล และในช่วงเริ่มต้นคาดว่ามูลค่าตลาดรวมของซอฟต์แวร์ไทยที่เข้าร่วมในปีแรกจะมีประมาณ 300 ล้านบาท และจะขยายเติบโตมากขึ้นในปีต่อๆ ไป ดังนั้นตลาดกลุ่มราชการจึงเป็นกลุ่มหลักของซอฟต์แวร์ที่ SIPA ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนวงการเลยทีเดียว

นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค เปิดเผยว่า การเข้าสู่ระบบ G-SaaS ของซอฟต์แวร์ไทยจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการใหม่ แน่นอนอย่างแรกคือการปรับเปลี่ยนซอฟต์แวร์จากระบบเชิงเดี่ยวมาเป็นระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง และในแต่ละหมวดที่ EGA กำหนดมานั้นก็จะมีมาตรฐานที่แตกต่างกันไป เป็นเรื่องที่ ซอฟต์แวร์ไทยต้องทำการศึกษา ดังนั้นทั้งคลาวด์และมาตรฐานซอฟต์แวร์ในแต่ละหมวด ทางซอฟต์แวร์พาร์คต้องเร่งสร้างซอฟต์แวร์ไทยให้รองรับได้

แผนงานของซอฟต์แวร์พาร์คในโครงการนี้คือ การเร่งสร้างมาตรฐานของซอฟต์แวร์ทุกหมวด ร่วมกับ EGA และ SIPA ให้เป็นมาตรฐานกลางเพื่อที่จะทำให้ซอฟต์แวร์ทั้งรายเล็ก รายใหญ่สามารถนำไปอ้างอิงและพัฒนาต่อไปได้ทั้งหมด โดยซอฟต์แวร์จะนำผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านเข้าร่วม เพื่อทำให้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

ต่อจากนั้นซอฟต์แวร์พาร์คจะเตรียมหลักสูตรและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวกับคลาวด์คอมพิวติ้ง และการปรับมาตรฐานให้ตรงกับ G-SaaS ขึ้นมา และจะมีการจัดฝึกอบรมเพื่อสร้างบุคลากร ด้านนี้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้นซอฟต์แวร์พาร์คจะร่วมกับ EGA และ SIPA คัดเลือกซอฟต์แวร์ที่เหมาะสม เข้าสู่ระบบ G-SaaS รวมถึงร่วมประเมินว่าซอฟต์แวร์นั้นๆ มีการเข้ากันกับระบบ และเหมาะสมต่อการใช้งานจริงหรือไม่ รวมถึงดูแลเรื่องความปลอดภัย และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ภาครัฐเกิดความพึงพอใจมากที่สุด ซึ่งหากรายใดไม่ผ่านเกณฑ์ทางซอฟต์แวร์พาร์คอาจเข้าร่วมประเมินและเข้าไปช่วยเรื่องการฝึกอบรมก่อน หากยังไม่ผ่านเกณฑ์ก็จำเป็นต้องคัดออกมาพัฒนาก่อน

ปัจจุบันซอฟต์แวร์พาร์คอยู่ระหว่างการแบ่งหมวดซอฟต์แวร์ที่อยู่ในการดูแลของซอฟต์แวร์พาร์ค โดยหมวดของราชการก็จะเป็นหมวดหนึ่งในด้านการส่งเสริม ซึ่งเท่ากับจะเป็นการเปิดโอกาสให้ซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ได้เข้าสู่ตลาดภาคราชการที่มีขนาดใหญ่ได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดตลาดใหม่ที่มีความต้องการใช้ซอฟต์แวร์จำนวนมากขึ้นมา

ภายใต้แนวคิดการเป็น Gateway to Global Market ของซอฟต์แวร์พาร์ค จะทำให้เกิดการ รวมตัวของซอฟต์แวร์ทางด้านราชการขึ้นมา โดยซอฟต์แวร์พาร์คจะทำการรวบรวม และสร้างฐานข้อมูลเชื่อมโยงโซลูชันระหว่างกัน รวมถึงการสร้างมาตรฐานเพื่อเกิดเป็นแพลตฟอร์มใหม่ในการช่วยเหลือด้านการตลาดต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการสร้างฐานกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านราชการให้เข้มแข็งขึ้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่:

นายธรรณพ ศิริธรรมวิไล

โทรศัพท์ ๐-๒๖๑๒-๖๐๐๐ ต่อ ๖๒๐๓

อีเมล์ [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version