จากตัวอย่างของการศึกษาดูงานด้านพลังงาน ณ ประเทศนอร์เวย์ ของ กกพ. นั้นชี้ให้เห็นข้อดีในเรื่องนี้ว่า การที่นอร์เวย์ซึ่งเป็นประเทศที่ริเริ่มการเปิดตลาดกลางค้าไฟฟ้าระดับภูมิภาค ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย (The Nord Pool Spot) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศนอร์เวย์มีความมั่นคงทางพลังงานมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถซื้อไฟฟ้าจากตลาดกลางได้ในช่วงเวลาที่กำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศไม่เพียงพอ ซึ่งตอนนี้ The Nord Pool Spot ยังเป็นตลาดกลางซื้อไฟฟ้าสำคัญของทวีปยุโรปที่มีการซื้อขายไปไกลถึง สหราชอาณาจักร และประเทศเยอรมันนี
ดร.พัลลภา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเวลานี้ ประเทศไทยเริ่มมีการติดต่อซื้อขายไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านระหว่างกันบ้างแล้ว แต่จะอยู่ในรูปแบบทวิภาคี เช่น การซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาวและมาเลเซียซึ่งสามารถช่วยเสริมความมั่นคงของกลุ่มจังหวัดในภาคอีสานและภาคใต้ที่มีโรงไฟฟ้าจำนวนน้อย ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีในการเริ่มต้นสร้างระบบระบบโครงข่ายพลังงาน ตลอดจนความมั่นคงทางด้านพลังงานระหว่างกัน แต่เนื่องจากภูมิภาคอาเซียนนั้นมีความแตกต่างในด้านสาธารณูปโภคค่อนข้างมากจึงต้องใช้เวลาพัฒนาระบบและกฎเกณฑ์ในการเชื่อมโยงระบบโครงข่ายพลังงานร่วมกัน
แต่อีกไม่นานเมื่อประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ AEC แล้วการสร้างความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวนี้คงจะเห็นแนวทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากเรามีการสร้างระบบโครงข่ายพลังงานที่เข้มแข็ง นอกจากจะเป็นการช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้วยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการสำรองพลังงานในภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อเช่นกัน