นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่าไม่เห็นด้วยกับสำนักงานกสทช.ที่ให้ข่าวว่าไม่สามารถควบคุมความเร็วหลังหมดโปรโมชั่นได้ เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคยอมรับไม่ได้ เพราะอย่างน้อยกสทช.ต้องกำกับให้บริษัทรับประกันความเร็วและความเร็วขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า 345 kbps ลักษณะของ FUP ที่ถือปฏิบัติกันทั่วไปคือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ 3G จะอนุญาตให้ผู้บริโภคที่สมัครใช้ แพ็คเกจแบบไม่จำกัด สามารถดาวน์โหลด-อัดโหลดข้อมูลด้วยอัตราความเร็วสูงสุด 42 เมกะบิตต่อวินาที (mbps) ในปริมาณข้อมูลที่จำกัด เช่น 5 ,3 หรือ 1 กิกะไบต์ และเมื่อใช้ข้อมูลครบตามปริมาณที่กำหนดไว้แล้ว ความเร็วในการดาวน์โหลด-อัพโหลดข้อมูลจะลดลงจาก 42 เมกะบิตต่อวินาที เหลือ 384 กิโลบิตต่อวินาที (kbps)
นางสาวสารีกล่าวต่อไปว่า สำหรับ FUP ที่ใช้กันแบบสากลนั้น พบว่า บริษัท T Mobile ของประเทศเยอรมันและ Vodafone ของประเทศอังกฤษ นั้นจะกำหนดบริการที่ถูกควบคุมคือ การฟังเพลงและดูวิดีโผ่านอินเทอร์เน็ต การดาวน์โหลด-อัพโหลด งานที่ต้องใช้การรับส่งไฟล์ระหว่างผู้ใช้อินเทอร์เน็ตด้วยกัน (P2P file sharing)รวมถึงการใช้งานแอปพลิเคชั่นบางตัวที่ต้องใช้การถ่ายโอนข้อมูลจำนวนมาก ขณะที่การสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตยังคงใช้งานได้ตามปกติ
นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการกำหนด FUP ใหม่ๆ ที่ผู้ให้บริการในแถบยุโรปเริ่มนำมาใช้ คือ การจำกัดความเร็วของการถ่ายโอนข้อมูลในบางบริการเฉพาะช่วงที่มีคนใช้งานจำนวนมาก (peak hour)) แทนการจำกัดความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลทั้งหมดหลังจากผู้บริโภคใช้บริการข้อมูลครบตามปริมาณที่จำกัดไว้แล้ว เช่น บริษัท British Telecom ของประเทศอังกฤษกำหนดให้จำกัดความเร็วของการใช้ P2P file sharing ในช่วงเวลา 16.00-24.00 น. ของวันทำการ และเวลา 09.00-24.00 ของวันหยุด ขณะที่บริษัท Orange จากประเทศฝรั่งเศส ได้กำหนดช่วง peak hour ไว้ตั้งแต่ 17.00-23.30 น.ในวันทำการและ 18.00-23.30 ในวันหยุด เป็นต้น
“FUP มีการใช้จริงทุกประเทศ แต่ ที่สำคัญคือ เมื่อใช้งานปริมาณข้อมูลเต็มตามแพ็คเกจแล้ว เช่น 5 หรือ 3 กิกะไบต์ เขาจะไม่เตะผู้ใช้บริการออกจากระบบ3G ทั้งระบบ แต่จะห้ามใช้เฉพาะบริการที่ต้องใช้ปริมาณข้อมูลสูงเท่านั้น ส่วนการใช้บริการประเภทค้นคว้าข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต (web search)หรืออีเมล์ ยังสามารถใช้ความเร็วตามมาตรฐานของระบบ 3G ได้ ผู้ให้บริการของไทยจึงควรกำหนด FUP ที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคบ้าง การที่ผู้ให้บริการของไทยกำหนด FUP สำหรับการให้บริการ3จีไว้ที่ 64 กิโลบิตต่อวินาที (kbps) ถือว่าต่ำมาก ทั้งที่เมื่อประมูลคลื่น 2.1 กิกะเฮิร์ตมานั้นก็เพื่อให้บริการ 3G แต่ความเร็วที่ผู้บริโภคได้รับเมื่อใช้บริการเต็มตามแพ็คเกจกลับสูงกว่า GPRS เพียงเล็กน้อยเท่านั้น (ความเร็วสูงสุดของGPRS คือ 40 kbps) และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ผู้บริโภคบางรายร้องเรียนว่าสมัครใช้บริการ3Gกับผู้ให้บริการรายหนึ่งแพ็คเกจราคา 799 บาท แต่เมื่อใช้จริงกลับได้รับความเร็วไม่ถึง 1mbps โดยบริษัทแจ้งกับผู้ร้องว่า ได้ล็อคความแรงของสัญญาณไว้หากต้องการความแรงสัญญาณมากขึ้นจะต้องสมัครแพ็คเกจที่ราคาสูงกว่านี้ ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้ใช้บริการอย่างชัดเจน “นางสาวสารีกล่าว
นาวสาวสารีกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ผู้ให้บริการมักโฆษณาอัตราความเร็วสูงสุด เช่น 42 mbps แต่ที่สำคัญควรต้องแสดงข้อมูลอัตราความเร็วที่ดาวน์โหลดได้จริง ซึ่งหมายถึงช่วงความเร็วของอัตราความเร็วที่ผู้บริโภคร้อยละ 50 ซึ่งอยู่ส่วนกลางของการกระจายตัวของอัตราความเร็วสามารถดาวน์โหลดได้จริง เช่น 2-5 mbps หรืออาจใช้อัตราความเร็วเฉลี่ย เพื่อให้ความเร็วในการดาวน์โหลดของผู้ใช้บริการแต่ละรายไม่แตกต่างกันมาก