นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าวว่า “กระทรวงฯ ปฏิเสธที่จะพูดคุยกับเรา ทั้งๆ ที่กฎหมายนี้จะสร้างความลำบากยุ่งยากให้เรามากขึ้นในการค้าขาย ภาพคำเตือนสุขภาพขนาดที่ใช้อยู่ปัจจุบันในไทยก็นับว่าใหญ่เป็นลำดับต้นของโลก ซึ่งทุกคนโดยทั่วไปทราบในเรื่องอันตรายด้านสุขภาพจากการสูบบุหรี่กันแล้ว สมาคมฯ จึงไม่เห็นถึงความจำเป็นในการออกกฎบังคับให้ใช้ภาพขนาดใหญ่กว่าเดิม ซึ่งครั้นแต่จะให้ร้านค้าที่ทำมาหากินต้องมีความยากลำบากในการทำงานมากขึ้น ร้านค้าก็เป็นกลุ่มที่ทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพและเราก็ปฏิบัติตามกฎต่างๆ ดังนั้นกระทรวงฯ ก็ควรปฏิบัติตามกฎบ้าง ไม่ควรที่จะมาออกกฎหมายอะไรแบบลับหลังอย่างนี้ เรามีสิทธิ์ออกเสียงให้ความเห็น ซึ่งส่วนนี้เป็นเหตุผลที่เราร้องขอให้ศาลเข้ามาช่วยเหลือ
สมาคมการค้ายาสูบไทยคาดว่ากฎหมายใหม่นี้จะนำมาสู่ความยุ่งยากต่างๆ แก่ร้านค้า อาทิ
- ต้นทุนการบริหารจัดการที่เพิ่มสูงขึ้น
- แนวโน้มที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนหันไปหายาเส้นมวนเองที่ราคาถูกและมีผลต่างรายได้ที่ต่ำกว่า ซึ่งกฎระเบียบภาพคำเตือนใหม่นี้ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงยาเส้นมวนเอง ซึ่งคิดเป็นประมาณเกือบร้อยละ 50 ของยาสูบที่จำหน่ายในประเทศไทย
- เพิ่มความต้องการสินค้าจากตลาดมืด เนื่องจากสามารถหาซื้อสินค้าที่มีภาพคำเตือนขนาดเล็กกว่าหรืออาจไม่มีภาพคำเตือนเลย ซึ่งยังสามารถหาซื้อได้ในราคาถูกที่ลง เป็นการส่งเสริมกลุ่มธุรกิจตลาดมืดให้มีกำไรในการขายมากขึ้น
ร้านค้าปลีกไม่ได้เป็นเพียงผู้เกี่ยวข้องกลุ่มเดียวที่ถูกเพิกเฉยในการออกฎกระทรวงดังกล่าว ในกระบวนการออกกฎหมายนี้ไม่ได้มีกระทรวงอื่นๆ ที่ควรได้รับการหารือได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด อีกทั้งกลุ่มผู้สูบบุหรี่วัยผู้ใหญ่ ร้านค้าส่ง ตัวแทนจำหน่ายสินค้า ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ที่จะได้รับภาระจากกฎหมายนี้ ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการออกกฎหมายนี้เลย
นายดนัย สุรวัฒนาวรรณ เจ้าของร้านสหการค้า ผู้ประกอบการร้านค้าส่งจากจังหวัดเชียงใหม่ ให้ความเห็นในการดำเนินการทางกฎหมายครั้งนี้ว่า “รัฐบาลควรจะรับฟังความเห็นจากทุกด้านก่อนที่จะตัดสินใจออกกฎหมายที่จะมากระทบประชาชน สิ่งนี้เป็นพื้นฐานที่พึงกระทำแต่กระทรวงฯ กลับไม่รับฟังและกลับมาใช้อำนาจที่ไม่เคยได้รับมาก่อน มาตัดสินใจทำเรื่องใหญ่โดยไม่หารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องหรือพูดคุยกับเจ้าของธุรกิจที่จะโดนกระทบเลย ซึ่งผมรู้สึกไม่พอใจได้ที่ถูกเลือกปฏิบัติแบบนี้ โดยถูกปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น ดังนั้นผมจึงต้องขอความเป็นธรรมทางชั้นศาล ให้ศาลพิจารณาช่วยเหลือ
ประเด็นสำนวนคดีจากสมาคมฯ เป็นเรื่องของการที่กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการเกินขอบเขตอำนาจของกระทรวงฯ ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมการผลิตภัณฑ์ยาสูบ ด้วยการออกประกาศกระทรวงฯ ที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายหลักที่สูงกว่า นอกจากนั้นยังละเมิดกระบวนการพิจารณากฎหมายที่ถูกต้องของไทย เพราะได้กีดกันไม่ให้ผู้ที่จะได้รับผลกระทบได้ให้ความเห็น นอกจากนั้นยังไม่ได้มีการประเมินผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นจากกฎหมายดังกล่าว โดยประเด็นคดีนี้แสดงให้เห็นว่า ประกาศกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ไม่สมเหตุสมผล มีการกีดกันไม่ให้ภาคธุรกิจสามารถการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม อีกทั้งยังเพิกเฉยต่อการปกป้องตราสินค้าภายใต้กฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ
ด้าน ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ได้ให้ความเห็นในการยื่นสำนวนคดีของทางบริษัทฯ ว่า “เนื่องด้วยผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้นกับเครื่องหมายการค้าและบรรจุภัณฑ์สินค้าของเรา และการที่กระทรวงสาธารณสุขเพิกเฉยกับความเห็นของร้านค้าที่จะได้รับผลกระทบหลายแสนราย เราจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองให้ช่วยพิจารณา กฎหมายนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเพิ่มความตระหนักความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่อย่างที่ควร เพราะกระทรวงฯ ปล่อยให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบอีกครึ่งนึงที่ขายในไทยไม่ต้องถูกบังคับใช้กฎหมายนี้ ซึ่งพิจารณาแล้วมันไม่สมเหตุสมผล โดยเรามองว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อลงโทษผู้ประกอบการกระทรวงฯ ควรรับฟังทุกภาคส่วนตามข้อปฏิบัติของกฎหมาย ก่อนที่จะออกกฎหมายที่ไม่สมเหตุสมผลที่จะทำให้สภาพแวดล้อมของตลาดต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง” น.ส. อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารและกิจการภายนอก ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด กล่าวสรุป
ทั้งสมาคมฯ พร้อมด้วยตัวแทนร้านค้า และ ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด จะทำการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกรุงเทพฯ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายภายในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 โดยคาดว่าจะทราบผลการตัดสินคดีภายใน 10 -14 เดือน
ข้อมูลการบังคับใช้ข้อความและภาพคำเตือนสุขภาพบนซองบุหรี่ในประเทศไทย
พ.ศ. 2517: บังคับใช้ข้อความคำเตือนสุขภาพครั้งแรกบนบริเวณข้างซอง โดยไม่ระบุลักษณะและขนาดของตัวอักษร
พ.ศ. 2532: บังคับใช้ข้อความคำเตือนสุขภาพบริเวณด้านหน้าซองเท่านั้น ขนาดตัวอักษร 2x2 มิลลิเมตร
พ.ศ. 2535: บังคับใช้ข้อความคำเตือนสุขภาพบริเวณด้านหน้าและด้านหลังของซอง บนพื้นที่ร้อยละ 25 บริเวณด้านล่างของซอง กำหนดตัวอักษรสี่พระยาขนาด 16 พอยต์
พ.ศ. 2540-2547: บังคับใช้ข้อความคำเตือนสุขภาพบริเวณด้านหน้าและด้านหลังของซอง บนพื้นที่ร้อยละ 33.3 บริเวณด้านบนของซอง กำหนดตัวอักษรสี่พระยาขนาด 20 พอยต์
พ.ศ. 2548: บังคับใช้ภาพคำเตือนสุขภาพ 4 สีบริเวณด้านหน้าและด้านหลังของซองครั้งแรกในประเทศไทย พื้นที่ร้อยละ 50 ของซอง ซึ่งเป็นประเทศที่ 4 ของโลกที่มีการบังคับใช้ภาพคำเตือน
พ.ศ. 2549: บังคับใช้ข้อความคำเตือนสุขภาพบริเวณข้างซอง บนพื้นที่ร้อยละ 50 ของซอง
พ.ศ. 2553: บังคับใช้ภาพคำเตือนสุขภาพ 4 สีบริเวณด้านหน้าและด้านหลังของซอง บนพื้นที่ร้อยละ 55 ของซอง ซึ่งภาพคำเตือนที่ใช้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 9 ของโลก
พ.ศ. 2554: บังคับใช้ข้อความคำเตือนสุขภาพบริเวณข้างซอง บนพื้นที่ร้อยละ 60 ของซอง
สำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ 124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง โทร 0 2 718 1886