นายศิริวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการผลิตอาหารสัตว์น้ำเพื่อใช้ในการเลี้ยงสัตว์น้ำ ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี แต่ปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์น้ำของไทย คือ วัตถุดิบอาหารสัตว์น้ำที่ใช้เป็นส่วนประกอบ ทั้งเรื่องของชนิดปริมาณ สารตกค้าง การกีดกันทางการค้า ฯลฯ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาอาหารสัตว์น้ำเกิดความสมบูรณ์และเข้าใจตรงกันทุกภาคส่วน กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง จึงได้จัดการสัมมนาในครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาหารสัตว์น้ำ ทั้งภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาครัฐ และเกษตรกร ได้รับทราบสถานการณ์ของอาหารสัตว์น้ำในปัจจุบัน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาอาหารสัตว์น้ำและรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นับเป็นกิจกรรมที่สำคัญและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากอาหารสัตว์น้ำเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่จะทำให้อุตสาหกรรมประมงไทยมีความเข้มแข็ง พร้อมทั้งสามารถใช้เป็นกุลยุทธ์ในการเข้าสู่นโยบาย Seafood Hub และนโยบายความมั่นคงทางด้านอาหารของโลกต่อไป
“การสัมมนาร่วมระหว่างบุคลากรจากภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาครัฐ และเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทย ในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต การสร้างมาตรฐานการผลิตเพื่อการส่งออก เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ก้าวหน้า เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2558 นี้” นายศิริวัฒน์กล่าว
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย ผู้แทนภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาครัฐ และเกษตรกร รวมทั้งสิ้น 150 คน โดยรูปแบบการสัมมนาจะเป็นการบรรยาย และการอภิปราย อาทิ การบรรยายเรื่อง อนาคตธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ กับ AEC, พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ , อนาคตธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกับ AEC, อนาคตการใช้แหล่งวัตถุดิบในอาหารสัตว์น้ำกับ AEC และการระดมความคิดเห็นเพื่อวางกรอบการพัฒนาอาหารสัตว์น้ำ เป็นต้น