นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เด็กปฐมวัยและเด็กวัยเรียนเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคอุจาระร่วงและอาหารเป็นพิษมากกว่ากลุ่มวัยอื่นๆ จึงต้องมีการเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีเพราะเป็นโรคที่การแพร่ระบาดเกิดขึ้นได้ง่าย เพื่อลดอัตราการป่วย ตายและลดผลกระทบจากการเจ็บป่วยจากอาหารเป็นพิษให้เหลือน้อยที่สุด กระทรวงสาธารณสุขได้มอบเป็นนโยบายให้สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) ดำเนิน“โครงการอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” โดยเป็นเจ้าภาพหลักบูรณาการเชื่อมโยงการดำเนินงานระหว่างกรมวิชาการที่รับผิดชอบในส่วนกลางได้แก่ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมทั้งจังหวัด และท้องถิ่นในส่วนภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนโครงการอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในทุกจังหวัดให้มีการทำงานที่เข้มข้นและต่อเนื่องตลอด 4 ปี ตั้งแต่ปี 2556 -2559 โดยในปี 2556 นี้จะมีการคัดเลือกจังหวัดนำร่อง ต้นแบบการดำเนินงานบูรณาการอาหารปลอดภัยเข้ากับโภชนาการสมวัยใน 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง นครสวรรค์ นนทบุรี สมุทรปราการ ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา ภูเก็ต เพื่อส่งเสริมให้เกิดแลกเปลี่ยนและระดมความคิดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ พร้อมทั้งหาแนวทางการดำเนินงานแผนรับมือความปลอดภัยด้านอาหารในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉิน เมื่อมีการค้าขายในกลุ่มประชาคมอาเซียนอย่างเสรีกว้างขวางมากขึ้นระยะต่อไป
ระหว่างการลงพื้นที่ศึกษาติดตามการดำเนินโครงการอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ นางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) กล่าวว่า จังหวัดสมุทรปราการเป็น 1 ใน 9 จังหวัดนำร่องโครงการฯและเป็นพื้นที่ในการศึกษาติดตามงานครั้งนี้ได้ลงพื้นที่รวมทั้งสิ้น 3 แห่งได้แก่โรงเรียนเทศบาล 1(ในระบบสาธิตรามคำแหง) อำเภอเมือง, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลปู่เจ้าสมิงพราย 7 ( ฉัตรทิพย์เทพวิทยา ) อำเภอพระประแดง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเฉลิมพระเกียรติเทศบาลเมืองลัดหลวง อำเภอพระประแดง การศึกษาในภาพรวมพบว่าโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กแต่ละแห่งสามารถดำเนินการได้ตามเกณฑ์มาตรฐานมากกว่าร้อยละ 90 และถือว่าผลการดำเนินโครงการอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ มีบ้างที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาในบางจุด ซึ่งทาง สสอป.ได้ให้ข้อชี้แนะในเบื้องต้นไปบ้างแล้ว ทั้งนี้พบประเด็นสำคัญของความสำเร็จสำหรับการทำงานเชิงบูรณาการในลักษณะนี้ที่ถือว่าเป็นปัจจัยความสำเร็จ คือการมาเยี่ยมชมติดตามงานจากทีมงานส่วนกลาง เพื่อมากระตุ้นและให้กำลังใจ นำข้อมูลไปวางแผนปรับปรุงแก้ไขปัญหา รับฟังข้อเสนอแนะจากพื้นที่ด้วยความตั้งใจจริง
ด้านนายแพทย์อัษฏางค์ รวยอาจิณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า จ.สมุทรปราการได้เริ่มดำเนินโครงการนี้ มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 เพื่อลดโรคอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วงในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เน้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ท้องถิ่นจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา สาธารณสุขจังหวัด เครือข่ายภาคประชาชนและสื่อมวลชน เครือข่ายศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก /รวมทั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก ฯลฯ มีการดำเนินกิจกรรมต่างๆตามแนวทางของโครงการ อาทิ การจัดประชุมคณะทำงานระดับจังหวัดเพื่อบูรณาการแผนงานด้านอาหารปลอดภัย การจัดอบรมผู้ประกอบการในเรื่องกฎหมายและมาตรฐานอาหารแปรรูป การจัดอบรมพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งแม่ครัวและครูพี่เลี้ยง การจัดอบรมให้ความรู้ครูและนักเรียน แกนนำนักเรียนอย.น้อย เป็นต้น และได้กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงานไว้ 4 ข้อได้แก่ 1.โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีระบบบริหารจัดการอาหารที่ปลอดภัยให้ได้ 100% 2.โรงอาหารของโรงเรียนผ่านเกณฑ์มาตรฐานสุขาภิบาลอาหารกรมอนามัย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 3.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้องผ่านเกณฑ์อาหารปลอดภัย ปลอดโรค ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และ 4.ร้อยละ 70 ของโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกลุ่มเป้าหมายมีเหตุการณ์การระบาดของโรคอาหารเป็นพิษลดลง โดยได้กำหนดผลลัพธ์เป้าหมายไว้คือ “นักเรียนในโรงเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกลุ่มเป้าหมายได้รับประทานอาหารที่สะอาดปลอดภัยและปลอดโรคอันเกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ”
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.)
โทรศัพท์ 0 2965 9730 / 0 2951 0000 ต่อ 99985
โทรสาร 0 2588 3020