นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยถึงการแข่งขันการประกวดเส้นไหมไทยพื้นบ้าน ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานผลิตภัณฑ์จากรังไหม/ผ้าไหม และการออกแบบชุดผ้าไหม ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพฯ ว่า อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม และการทอผ้าไหมเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ที่สืบทอดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน ถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทยที่ทุกคนต้องช่วยกันอนุรักษ์ให้คงอยู่คู่กับประเทศไทยตามแนวพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเห็นว่าคนไทยนั้นมีความผูกพันกับผ้าไหมเป็นเวลานับพันปี ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นเครื่องแต่งกายที่สวยงามเท่านั้น ยังเป็นสมบัติอันทรงคุณค่าของแผ่นดิน ที่ถ่ายทอดเรื่องราวในชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมลงบนผืนผ้า ซึ่งสามารถบอกเล่าประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของคนไทยได้เป็นอย่างดี ทรงมีพระราชประสงค์จะให้การประกวดไหม อันเป็นมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า การประกวดดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรและเยาวชนจากสถาบันการศึกษา มีความตื่นตัวในการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับการผลิตผ้าไหมที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น และตระหนักถึงคุณค่าของไหมไทย เพื่อให้เยาวชน เกษตรกรและกลุ่มผู้ผลิตไหมและสินค้าไหมไทยมีความตื่นตัวในการพัฒนาคุณภาพสินค้า และการสร้างสรรค์ผลงานได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงและตรงตามความต้องการของตลาด ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนารูปแบบในการนำผ้าไหมมาใช้ในชีวิตประจำวันได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและสามารถขยายตลาดผ้าไหมไทยให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ที่ผลิตงานที่มีคุณภาพ อันจะทำให้เกิดการพัฒนา คุณภาพการผลิตสินค้ารายอื่นๆ ต่อไป
โดยการแข่งขันการประกวดเส้นไหมไทยพื้นบ้าน ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ระดับประเทศ ปี 2556 ในครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 36 ประเภท มีผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 964 ชิ้น แยกเป็นแต่ละประเภทได้แก่ เส้นไหมน้อยและเส้นไหมหลืบ ระดับประถมศึกษา จำนวน 32 ชิ้น เส้นไหมน้อยและเส้นไหมหลืบ ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 36ชิ้น เส้นไหมน้อยและเส้นไหมหลืบระดับบุคคลทั่วไป ระดับบุคคลทั่วไป จำนวน 42 ชิ้น ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีทอง จำนวน 214 ชิ้น ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีเงิน จำนวน 53 ชิ้น ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน จำนวน 488 ชิ้น ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีเขียว จำนวน 15 ชิ้น ผลิตภัณฑ์จากรังไหม จำนวน 38 ชิ้น ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม จำนวน 22ชิ้น การออกแบบชุดผ้าไหม จำนวน 24 ชุด
สำหรับการแข่งขันในระดับประเทศ กรมหม่อนไหมได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นคณะกรรมการตัดสินในการแข่งขันแต่ละประเภท ซึ่งผลงานที่ชนะการประกวดในประเภทต่างๆ จะนำไปจัดแสดงในงาน “ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย และงานพระมารดาแห่งไหมไทย ประจำปี 2556” ซึ่งจะจัดในระหว่างวันที่ 8 - 12 สิงหาคม 2556 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยผู้ชนะการแข่งขันแต่ละประเภทจะเข้ารับโล่พระราชทาน โล่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และโล่กรมหม่อนไหม ในงานดังกล่าวต่อไป