นำเป็นที่ 1 ตามติดด้วย ทีม OVEC_SOOMKOR ทำคะแนนเป็นอันดับ 2 และ ทีม Stabilize ก็โชว์ศักยภาพได้ไม่แพ้กันสามารถทำคะแนนมาเป็นอันดับ 3 ส่วนประเภทหุ่นยนต์ทำงานบ้าน (RoboCup @Home) 2 ทีมเยาวชนไทย ได้แก่ ทีม Skuba ทำคะแนนรวมมาเป็นอันดับ 7 และทีมดงยาง อันดับ 10 ได้ผ่านเข้าสู่รอบต่อไป
วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี ผู้สนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย กล่าวว่า “เอสซีจีได้สนับสนุน 3 ทีมเยาวชนไทยที่ชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์
ชิงแชมป์ประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยและหุ่นยนต์ทำงานบ้านระดับโลก เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนไทยได้แสดงศักยภาพในเวทีนานาชาติ การแข่งขันปีนี้ทีมเยาวชนไทยมีความตั้งใจสูงมากในการพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีสมรรถนะสูงสุด และน้องๆ ทุกทีมก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถเป็นอย่างดี โดยในการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยรอบคัดเลือก ทีม iRAP_Furious จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทำคะแนนนำเป็นอันดับ 1 ตามติดด้วยทีม OVEC_SOOMKOR จากคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา อันดับ 2 และ ทีม Stabilize จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร อันดับ 3
ส่วนการแข่งขันประเภทหุ่นยนต์ทำงานบ้าน รอบคัดเลือก ซึ่งจะคัดจาก 21 ทีมให้เหลือ 11 ทีม ทีม Skuba จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำคะแนนเป็นที่ 7 ได้คะแนนรวม 2,548 คะแนน และทีมดงยาง จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำคะแนนเป็นที่ 10 ได้คะแนนรวม 2,383 คะแนน ได้ผ่านเข้าสู่รอบต่อไป ส่วนทีม TRCC จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำคะแนนเป็นที่ 13 ทำให้ไม่ผ่านเข้ารอบไปอย่างน่าเสียดาย สำหรับทีมที่ทำคะแนนสูงสุดในการแข่งขันรอบคัดเลือก ประเภท RoboCup@Home ได้แก่ ทีม WrightEagel@home จากประเทศจีน ได้คะแนนรวม 3,367 คะแนน อันดับ 2 ทีม NimbRo@home จากประเทศเยอรมัน ได้คะแนนรวม 3,295 คะแนน และอันดับ 3 ทีม Tech United Eindhoven จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้คะแนนรวม 3,222 คะแนน จากการสังเกตน้องๆ ทุกคนต่างมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะคว้าแชมป์หุ่นยนต์โลกทั้งสองประเภทให้กับประเทศไทยของเราให้ได้ จึงอยากให้ทุกท่านช่วยส่งกำลังใจให้น้องๆ ประสบความสำเร็จในการแข่งขันครั้งนี้ด้วยค่ะ”
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงภาพรวมของการจัดการแข่งขัน World RoboCup 2013 ในปีนี้ที่เมืองไอน์โฮเวน ซึ่งเป็นเมืองแห่งการศึกษาและเทคโนโลยีของประเทศเนเธอร์แลนด์ว่า มีทีมเข้าร่วมการแข่งขันมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะทีมจากทางยุโรป และตะวันออกกลาง กฎ กติกาในทุกการแข่งขันมีความยากมากยิ่งขึ้น เพื่อเน้นการพัฒนาไปสู่การใช้งานจริงในอนาคต สำหรับสนามการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยในปีนี้ มีความซับซ้อนมากขึ้นเพื่อใช้ทดสอบสมรรถนะของหุ่นยนต์ เช่น ส่วนของกรวด หิน และทราย และยังเน้นความสามารถของหุ่นยนต์ในการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมของสถานที่ที่หุ่นยนต์เข้าไปทำการแข่งขัน นอกจากนั้น สัดส่วนการให้คะแนนได้เพิ่มความสำคัญให้กับหุ่นยนต์อัตโนมัติ ซึ่งทีมเยาวชนตัวแทนประเทศไทยทุกทีมที่เข้าแข่งขันในปีนี้มีการพัฒนาสมรรถนะและความสามารถของหุ่นยนต์มากขึ้น ทำให้การแข่งขันในสนามหุ่นยนต์กู้ภัยปีนี้น่าตื่นเต้นและน่าจับตามองเป็นอย่างมาก
ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการสังเกตทีมเยาวชนไทยในช่วงที่ผ่านมาถือว่าน้องๆ มีการเตรียมตัวมาอย่างดี มีความพร้อม และทุกทีมมีความตั้งใจและมุ่งมั่นเต็มที่ ถึงแม้ว่าเด็กไทยจะยังมีข้อเสียเปรียบต่างประเทศเล็กน้อยในเรื่องการเขียนโปรแกรม แต่ในส่วนของระบบการทำงานของหุ่นยนต์ถือว่าทีมไทยทำได้ดี ทั้งนี้ เชื่อว่าถ้าเยาวชนไทยมีความตื่นตัวที่จะพัฒนาความรู้อย่างสม่ำเสมอ จะสามารถพัฒนาได้ทัดเทียมกับประเทศที่มีความเจริญก้าวด้านเทคโนโลยี เช่น เยอรมัน จีน และญี่ปุ่น ได้ไม่ยาก
ฯพณฯ ศิริลักษณ์ นิยม อุปทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ซึ่งได้เดินทางมาร่วมเชียร์และให้กำลังใจทีมเยาวชนไทยที่ร่วมการแข่งขัน World RoboCup 2013 ในครั้งนี้ กล่าวว่า “รู้สึกยินดีที่เยาวชนไทยมีความตื่นตัวและให้ความสนใจเข้าร่วมการแข่งขันในระดับสากล และสามารถแสดงศักยภาพให้ต่างชาติเห็นถึงทักษะและความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำต่างๆ และขอเป็นกำลังใจให้เยาวชนไทยทุกทีมประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังและนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย”
นายวรรณวุฒิ พินิจ ผู้บังคับหุ่นยนต์กู้ภัยทีม Stabilize ตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลมหานคร กล่าวว่า สำหรับผลงานในวันนี้เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งเป็นผลจากประสบการณ์ที่ได้ไปร่วมการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับโลกในปีที่ผ่านๆ มาช่วยลดความตื่นเต้นและประหม่าในช่วงเวลาของการแข่งขัน ถึงแม้ในช่วงเช้าจะประสบปัญหาฟิวส์ภายในหุ่นยนต์ขาดกะทันหันทำให้ต้องออกจากการแข่งขันก่อนหมดเวลา แต่ในภารกิจช่วงบ่ายก็สามารถทำได้ตามความคาดหมาย
World RoboCup เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 แบ่งการแข่งขันออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ ฟุตบอลหุ่นยนต์ (RoboCup Soccer) หุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCup Rescue) หุ่นยนต์ทำงานบ้าน (RoboCup @Home) หุ่นยนต์ระดับเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี (RoboCup Junior) หุ่นยนต์ขนส่งสินค้า (RoboCup Sponsored - Logistic League by FESTO) และ หุ่นยนต์ช่วยงานอุตสาหกรรม (RoboCup @Work) โดยปีนี้การแข่งขัน World RoboCup 2013 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 มิถุนายน 2556 ที่เมืองไอน์โฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีผู้สมัครเข้าแข่งขันรวมทุกประเภทกว่า 2,500 คน จากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก มีผู้สมัครเข้าแข่งขันในประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCup Rescue) ทั้งหมด 18 ทีมจาก 11 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ออสเตรีย จีน เยอรมัน กรีซ อิหร่าน ญี่ปุ่น เม็กซิโก อังกฤษ อเมริกา โปรตุเกส และไทย โดยเอสซีจีสนับสนุนทีมเยาวชนไทย คือ ทีม Stabilize จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (แชมป์ Thailand Robot Championship 2012 ประเภทการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย และปี 2555 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 และรางวัลหุ่นยนต์ที่มีศักยภาพในการเคลื่อนไหวยอดเยี่ยม หรือ Best Mobility Award จากการแข่งขัน World RoboCup 2012 เมืองเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก) ส่วนการแข่งขันหุ่นยนต์ทำงานบ้าน (RoboCup @Home) มีทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด 21 ทีม จาก 8 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ชิลี จีน เยอรมัน อิหร่าน ญี่ปุ่น เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ และไทย โดยเอสซีจีสนับสนุน 2 ทีมเยาวชนไทย คือ ทีมดงยาง จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และทีม TRCC จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (2 ทีมแชมป์ Thailand Robot Championship 2012 ประเภทการแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ) เข้าร่วมการแข่งขัน