ขณะที่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและปริมาณการทำธุรกรรมยังคงไม่เทียบเท่ากับในอดีต แต่ตลาดการควบรวบรวมกิจการในภูมิภาคยุโรปยังคงเป็นที่จับตามองของเหล่านักลงทุนจากเอเชียแปซิฟิก การประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ค่อนข้างต่ำประกอบกับโอกาสอันเกิดจากการที่บริษัทในยุโรปถอนการลงทุนออกจากทรัพย์สินที่ไม่ได้เป็นธุรกิจหลักของบริษัทแต่เป็นทรัพย์สินมีคุณภาพ ทำให้เกิดทางเลือกในการควบรวมกิจการอันน่าสนใจสำหรับผู้ซื้อที่มีความประสงค์ที่จะเข้าทำธุรกรรม
ข้อมูลดังกล่าวเป็นหนึ่งในสิ่งที่ได้ค้นพบจากการสำรวจทั่วโลกประจำปีล่าสุด โดยอ้างจากรายงาน การวิเคราะห์การควบรวมกิจการในภูมิภาคยุโรป: อยู่บนแนวทางสู่การฟื้นฟูหรือไม่ (European M&A: On the road to recovery?) ของบริษัทคลิฟฟอร์ด ชานซ์ ซึ่งเป็นรายงานผลการสำรวจการควบรวมกิจการทั่วโลกประจำปีฉบับที่สองที่สถาบันวิจัย Economist Intelligence Unit (EIU) เป็นตัวแทนทำการสำรวจให้แก่บริษัทคลิฟฟอร์ด ชานซ์ โดย EIU ได้สำรวจความคิดเห็นจากมุมมองของผู้บริหารอาวุโสจากบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกกว่า 400 แห่งจากหลากหลายอุตสาหกรรม และพบว่าบริษัทมากกว่าครึ่งหนึ่งนั้นมีรายได้ประจำปีเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทำไมต้องเป็นยุโรป?
วิกฤตการณ์ทางการเงินในยูโรโซนและความไม่มั่นคงที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและยังไม่ได้รับการแก้ไขมีผลทำให้ความต้องการในการควบรวมกิจการในยุโรปและทั่วโลกลดลง โดยตัวเลขล่าสุดแสดงให้เห็นถึงปริมาณการควบรวมกิจการทั่วโลกที่ต่ำที่สุดประจำไตรมาสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 โดยอ้างอิงจากเมอร์เจอร์มาร์เก็ต (Mergermarket) อย่างไรก็ตามมีเพียง 9 เปอร์เซนต์ของผู้ตอบแบบสำรวจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคิดว่ายุโรปเป็นสถานที่ที่ไม่น่าสนใจในการทำการควบรวมกิจการ ในปีที่ผ่านมาสหราชอาณาจักรเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งในการได้รับความสนใจจากบริษัทเอเชีย ตามด้วยประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศส* ความน่าสนใจของบริษัทใน สหราชอาณาจักรเกิดขึ้นส่วนหนึ่งจากการที่ประเทศดังกล่าวได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในยูโรโซนน้อยกว่าประเทศอื่นและถูกมองว่ามีสภาพแวดล้อมของการลงทุนที่ให้ความยอมรับแก่ต่างชาติมากกว่า อีกทั้งโดยรวมแล้วบริษัทเหล่านี้ยังมีงบดุลที่ดี จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ของ Citi บริษัทเหล่านี้จะมีรายได้มากกว่า 150 พันล้านปอนด์ (230 พันล้านดอลลาร์) ภายในสิ้นปี**
จากผลการสำรวจพบว่า 43 เปอร์เซนต์ ของผู้ตอบแบบสอบถามในเอเชียแปซิฟิกคิดว่าเทคโนโลยีและความรู้เชิงปฏิบัติการถือเป็นปัจจัยหลักสำหรับการเข้าซื้อกิจการในยุโรป โดยเฉพาะประเทศเช่นเยอรมนีที่พบการทำการควบรวมกิจการรวมไปถึงการที่กลุ่มบริษัทสัญชาติเกาหลีอย่างฮันวา (Hanwha) ซื้อผู้ผลิตเซลล์สุริยะ คิว-เซลล์ และการที่บริษัทซานยิ (SANY Heavy industry) เข้าซื้อบริษัทพุตซ์ไมสเตอร์ (Putzmeister) ผู้ผลิตรถปั๊มคอนกรีตชั้นนำ
28.7 เปอร์เซนต์ คิดว่าการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่อยู่กลุ่มตลาดอิ่มตัว อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำลังมองหาตลาดในต่างประเทศสำหรับขยายธุรกิจในอนาคตเนื่องจากมีโอกาสเติบโตภายในประเทศที่จำกัด
ผู้ตอบแบบสอบถามในเอเชียแปซิฟิกกว่า 26.2 เปอร์เซนต์ คิดว่าการที่แบรนด์มีชื่อเสียงที่เข้มแข็งเป็นเรื่องที่สำคัญและยังเป็นกลยุทธ์ของบริษัทจีนที่ใช้ในมองหาลู่ทางขยายธุรกิจ “การออกไปหาตลาดในต่างประเทศเป็นสิ่งที่บริษัทจีนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ เติบโต และพัฒนาความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเพื่อที่จะยกระดับห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) หนทางที่ง่ายและปลอดภัยที่สุดในการขยายธุรกิจ คือการใช้ทรัพยากรของบริษัทต่างชาติก็เพื่อที่จะพัฒนาทักษะการจัดการเชิงกลยุทธ์ แบรนด์และการเข้าถึงตลาด” มร.หลิง โฮ หุ้นส่วนของบริษัทคลิฟฟอร์ด ชานซ์ ที่ทำงานในแผนกทรัพย์สินทางปัญญาที่ประเทศฮ่องกง กล่าว
การประเมินมูลค่าอันน่าสนใจก่อให้เกิดโอกาสที่ดีใน ‘การต่อรอง’
ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคยุโรปทุกวันนี้กำลังเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนที่กล้าเสี่ยงที่จะได้สินทรัพย์ในมูลค่าที่น่าดึงดูด ผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกประมาณ 43 เปอร์เซนต์คิดว่าความท้าทายจากสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจกำลังเพิ่มแรงจูงใจในการทำการควบรวมกิจการในภูมิภาคยุโรป
นอกจากนี้ 72 เปอร์เซนต์ ของผู้ตอบแบบสอบถามในเอเชียแปซิฟิก เห็นว่าการประเมินค่าของทรัพย์สินในยุโรปนั้นถ้าไม่ประเมินต่ำกว่าความเป็นจริงก็ประเมินได้อย่างถูกต้อง และอีก 71.3 เปอร์เซนต์ คาดว่าการประเมินค่าของทรัพย์สินจะยังคงเท่าเดิมหรืออาจลดลงในอีกสองปีข้างหน้า นั่นหมายความว่าเราอาจเห็นนักลงทุนเอเชียฉวยโอกาสเข้าทำการควบรวมกิจการในยุโรปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
เงินสดคล่องตัวแต่ยังคงรอดูท่าทีเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ
บริษัทในเอเชียแปซิฟิกโดยรวมมีงบดุลที่ดี โดยผู้ตอบแบบสอบถามชาวจีน 87.1 เปอร์เซนต์ และผู้ตอบแบบสอบถามชาวญี่ปุ่น 80 เปอร์เซนต์ ชอบใช้เงินสดสำรองเพื่อที่จะทำการเข้าซื้อและควบรวมกิจการ ถึงแม้ว่าจะมีแรงขับเคลื่อนอันแข็งแกร่งและทัศนคติต่อการลงทุนเชิงบวก ปริมาณการทำธุรกรรมการเข้าซื้อและควบรวมกิจการในยุโรปยังไม่ได้เกิดขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ โดยบริษัทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังรอดูแนวโน้มทางธุรกิจอยู่
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินยังถือเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดที่จะส่งผลกระทบต่อการควบรวมกิจการในภูมิภาคยุโรป โดยคิดเป็น 41.8 เปอร์เซนต์ของผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตามมาด้วยปัจจัยด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากค่าแรงและภาษี (35.2 เปอร์เซ็นต์) และปัจจัยความเสี่ยงด้านชื่อเสียงคิดเป็น 30.3 เปอร์เซนต์
จากการที่ปริมาณของการควบรวมกิจการลดลงอย่างต่อเนื่องแสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้สนใจเข้าร่วมตลาดยังคงเห็นว่าความเสี่ยงที่ได้จากการควบรวมกิจการในภูมิภาคยุโรปนั้นยังคงมีมากกว่าประโยชน์ที่จะได้กลับมา
มร.โรเจอร์ เดนนี่ หัวหน้าฝ่ายการเข้าซื้อและควบรวมกิจการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวเสริมว่า “แม้ว่าผลจากการสำรวจของเราจะพบว่าบริษัทเอเชียมุ่งเน้นไปที่การเข้าซื้อกิจการภายในภูมิภาคมากกว่า แต่ภูมิภาคยุโรปยังมีความน่าดึงดูดและโอกาสเชิงกลยุทธ์สำหรับบริษัทของเอเชียแปซิฟิกเพื่อพัฒนาธุรกิจของพวกเขาอยู่ เราคาดว่าการเติบโตด้านการลงทุนนอกภูมิภาคเอเชียจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยุโรปจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตนี้”
ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับบรรณาธิการ:
1. เกี่ยวกับรายงาน: ในหกเดือนแรกของปี พ.ศ. 2556 EIU ทำการสำรวจทั่วโลกในนามของบริษัทคลิฟฟอร์ด ชานซ์ เพื่อสำรวจทัศนคติเกี่ยวกับการควบรวมกิจการในภูมิภาคยุโรป EIU สำรวจความดึงดูดใจของทรัพย์สินในภูมิภาคยุโรปสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายทั่วโลก และยังสามารถระบุถึงปัจจัยหลักด้านความเสี่ยงและโอกาสสำหรับบริษัทที่ตัดสินใจจะเข้าทำการควบรวมกิจการในภูมิภาคยุโรป ทั้งนี้ EIU ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 370 ราย ซึ่งทั้งหมดต่างก็เป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องหรือคุ้นเคยกับกลยุทธ์ทางด้านการควบรวมกิจการของบริษัทและยังเป็นตัวแทนของบริษัทที่มีแผนหรือกำลังวางแผนทำข้อตกลงควบรวมกิจการระหว่างประเทศที่มาจากหลากหลายอุตสาหกรรมและภูมิภาคกัน ประมาณสองในห้ามีฐานประจำอยู่ที่ยุโรป หนึ่งในสามประจำอยู่ที่เอเชียแปซิฟิก หนึ่งในห้ามาจากอเมริกาเหนือ และส่วนหนึ่งมาจากตะวันกลาง แอฟริกา และลาตินอเมริกา มากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มบริษัทตัวอย่างมีรายได้ประจำปีมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีกส่วนมีรายได้ประจำปีระหว่าง 500 — 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อที่จะทำให้การสำรวจนี้สมบูรณ์แบบ EIU ยังรวบรวมซีรี่ย์การสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้บริหารธุรกิจระดับอาวุโส รวมถึงผู้เชี่ยวชาญไว้อีกด้วย
2. บริษัทคลิฟฟอร์ด ชานซ์ เป็นหนึ่งในบริษัทกฎหมายชั้นนำของโลก ที่ช่วยลูกค้าให้บรรลุวัตถุประสงค์โดยการผสมผสานมาตรฐานสูงสุดระดับโลกจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้บริษัทยังมีความได้เปรียบและมีความพร้อมทางด้านทรัพยากรที่ถูกต้องตามกฎหมายทั่วทั้ง 5 ภูมิภาคสำคัญอันได้แก่ แอฟริกา อเมริกา เอเชียแปซิฟิก ยุโรป และตะวันออกกลาง อีกทั้งยังมุ่งเน้นไปยังส่วนสำคัญต่างๆในการดำเนินธุรกิจทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นใน ตลาดทุน องค์กรและการควบรวบกิจการ การเงินและการธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ ภาษี เงินบำนาญและการจ้างงาน ตลอดจนการฟ้องร้องและการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ
3. บริษัทมีสำนักงานทั้งสิ้นกว่า 35 แห่งใน 25 ประเทศ ประกอบด้วยที่ปรึกษากว่า 3,400 ราย บริษัทยังดำเนินงานร่วมกับบริษัทกฎหมาย อัล-จาดาอัน แอนด์ พาร์ทเนอร์ ของประเทศซาอุดิอาระเบียอีกด้วย
4. บริษัทคลิฟฟอร์ด ชานซ์ ปฏิบัติการทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีสำนักงานประจำกรุงเทพฯ ฮ่องกง เพิร์ธ กรุงโซล นครเซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ นครซิดนีย์ และมหานครโตเกียว อีกทั้งทนายกว่า 400 รายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยคลิฟฟอร์ด ชานซ์ถือเป็นหนึ่งในบริษัทสากลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้และมีชื่อเสียงในฐานะผู้นำทางธุรกิจอีกด้วย
*เมอร์เจอร์มาร์เก็ต (Mergermarket)
**ซีเอ็นบีซี "Why a wave of European Deals could be next" ประจำวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556