นายประมวล จันทร์พงษ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เป็นประธานในงานมอบฉลากประสิทธิภาพสูง การสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนินงาน “โครงการส่งเสริมเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยการติดฉลาก” โดยมีผู้ประกอบการจากภาคเอกชนที่ได้รับมอบฉลากฯ พร้อมด้วยสื่อมวลชนเข้าร่วม
นายประมวลกล่าวว่า พพ. ได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา โดยได้ศึกษาและกำหนดใช้ในวัสดุอุปกรณ์ 7 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เตาหุงต้มในครัวเรือนใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลว อุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์ กระจก ฉนวนใยแก้ว มอเตอร์เหนี่ยวนำสามเฟส เครื่องยนต์ขนาดเล็กสูบเดียว แบบใช้ดีเซล และแบบใช้แก๊สโซลีน และขณะนี้เป็นที่น่ายินดีว่ามีผลิตภัณฑ์รุ่นที่ผ่านเกณฑ์ค่าประสิทธิภาพขั้นสูงรวมสูงถึง 1,753 รุ่น โดย พพ. ให้ฉลากประสิทธิภาพสูงรวมประมาณ 12 ล้านใบ มีผลการประหยัดพลังงานเทียบเท่าน้ำมันดิบรวมประมาณ 455 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ คิดเป็นมูลค่ารวม 14,230 ล้านบาทและลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวม 2.4 ล้านตัน
สำหรับการดำเนินงานในปีต่อๆ ไป พพ. จะยังคงดำเนินการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทั้ง 7 ผลิตภัณฑ์ต่อไป เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง รวมทั้งจะได้มีการศึกษาเพื่อเพิ่มการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่อีกหลายชนิด เช่น หลังคากระเบื้อง อิฐมวลเบา และเตาแก๊สหัวเขียว (เตาแก๊สขนาดใหญ่สำหรับกลุ่มแม่ค้า) ซึ่งจะพิจารณาถึงความพร้อมของผู้ประกอบการด้วย โดยเบื้องต้น พพ. มั่นใจว่าจะช่วยให้เกิดการขยายผลของการมอบฉลากประสิทธิภาพสูงในวัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงานของผลิตภัณฑ์อื่น ๆ รวมทั้งเกิดผลประหยัดพลังงานมากเพิ่มขึ้นอีกด้วย
“โครงการนำร่องเพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิต ผลิตเครื่องจักร วัสดุและอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงออกจำหน่ายรวมถึงการ รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่และส่งเสริมให้ประชาชนผู้บริโภครับรู้และเลือกใช้อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง เพื่อการอนุรักษ์พลังงานอย่างถูกต้อง นับได้ว่าเป็นโอกาสอันดีสำหรับภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีผ่านการผลิตสินค้าประสิทธิภาพสูงที่สามารถประหยัดพลังงานและนอกจากการช่วยผู้บริโภคลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการลดการใช้พลังงานของประเทศด้วย” นายประมวลกล่าว
นอกจากนี้ นายประมวล ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงวัตถุประสงค์สำคัญของการมอบฉลากประสิทธิภาพสูงนี้ว่า พพ. ตั้งใจจะให้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคให้สามารถพิจารณาได้ว่าอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงมีค่าประสิทธิภาพพลังงานเท่าใด เพื่อใช้เปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน ที่ได้ฉลากเหมือนกัน แต่มีค่าประสิทธิภาพต่างกัน ซึ่งผู้บริโภคสามารถสังเกตได้ที่ฉลากซึ่งจะมีตราสัญลักษณ์ของกระทรวงพลังงานชัดเจน ซึ่งหากอุปกรณ์นั้นมีค่าตัวเลขประสิทธิภาพมากเท่าไร ยิ่งประหยัดพลังงานได้มาก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยกันประหยัดพลังงาน และการส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้พลังงานที่เกิดประโยชน์สูงสุด