นายปรีชา สรวิสูตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัญหาการ ค้ามนุษย์ ได้ส่งผลกระทบในทางลบแก่ประเทศไทย รัฐบาลได้ประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการค้ามนุษย์ และกำหนดนโยบายเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๘ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำนโยบายไปใช้ในการดำเนินงาน รวมทั้งการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ ที่กำหนดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นสำนักงานเลขานุการ ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ทำหน้าที่ประสานและร่วมมือกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และเอกชน เพื่อกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ช่วยเหลือ เยียวยา และคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหาย จากการค้ามนุษย์ และรณรงค์ สร้างความตระหนัก รับรู้ของประชาชน
นายปรีชา กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในแผนแม่บทเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประจำปี ๒๕๕๖ คือ ๑. การค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงาน ๒. การดูแลแรงงานที่เสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์ ๓. การปรับปรุง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ๔. ระบบการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ๕. การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดี ๖. การอนุญาตให้ผู้เสียหายอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้เป็นการชั่วคราว (ตามมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑) ๗. การค้ามนุษย์กับการท่องเที่ยว ๘. การให้ข้อมูลและภาพลักษณ์ของประเทศไทย และ ๙. ทรัพยากรในการดำเนินงานตามแผนแม่บทเร่งด่วน ซึ่งในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงาน ชุดประสานการปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เพื่อทำหน้าที่ประสานการดำเนินงานกับหน่วยงาน องค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักแก่เจ้าของสถานประกอบการ ผู้ประกอบการประมง และแรงงานต่างด้าว ในพื้นที่ ๗ จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง นครศรีธรรมราช สงขลา และสระแก้ว
นายปรีชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ได้มีการเผยแพร่ความรู้ แนวทางการป้องกันตนเองจากขบวนการค้ามนุษย์ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแรงงานต่างด้าวในธุรกิจประมงและสถานบันเทิง ผู้ประกอบการ และภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน เด็ก เยาวชน สตรี สื่อมวลชน เครือข่ายภาคประชาชน ประชาชนในประเทศไทย ประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียน ตลอดจนคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์ รูปแบบของขบวนการค้ามนุษย์ รวมทั้งแนวทางการป้องกันตนเองจากภัยขบวนการค้ามนุษย์ บทบาทภารกิจของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน ภาคีเครือข่ายที่ให้บริการป้องกันและช่วยเหลือแก่กลุ่มเสี่ยง ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ให้สามารถร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังป้องกันปัญหาและสามารถใช้บริการได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว
"หลังจากที่สื่อมวลชน มีความรู้ ความเข้าใจในปัญหาการค้ามนุษย์แล้ว ก็จะช่วยกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และนำเสนอข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนในทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชน สังคม เกิดความตระหนักในปัญหาการค้ามนุษย์ และร่วมกันเฝ้าระวัง มิให้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ พร้อมทั้งแจ้งเบาะแสเมื่อพบเห็นการค้ามนุษย์ ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร.๑๓๐๐ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง" นายปรีชา กล่าวทิ้งท้าย.
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
“ สังคมงอกงาม เพราะเราดูแล ”
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : www.twitter.com/prd_mso และ www.facebook.com/ประชาสัมพันธ์ พม.