สำหรับการดำเนินงานโครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ในพื้นที่บ้านหนองปากชัฎ หมู่ 6 ตำบลแก้มอ้น อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักทรัพยากร น้ำบาดาล เขต 8 ราชบุรี ครอบคลุมพื้นที่กว่า 592 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 122 คน แบ่งเป็น 5 กลุ่ม โดยยึดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญในการร่วมจัดตั้งกลุ่ม กำหนดกติกา เงื่อนไข ในการบริหารจัดการ การจัดตั้งกองทุน การวางแผนการใช้น้ำบาดาล ทั้งนี้ ผลผลิตในพื้นที่ส่วนใหญ่ คือ มะม่วง กระท้อน มันสำปะหลัง อ้อย และผักสวนครัว ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2556 นี้
ด้านนายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวถึงที่มาของการดำเนินโครงการนี้ว่า สืบเนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 132 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ในเขตชลประทานเพียง 37 ล้านไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตชลประทานหรือเกษตรน้ำฝนประมาณ 95 ล้านไร่ ส่วนใหญ่จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ทำให้ผลผลิตทางเกษตรเสียหาย เกษตรกรสูญเสียรายได้ จากสภาพปัญหาดังกล่าว กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้สำรวจพื้นที่นอกเขตชลประทาน พบว่า มีพื้นที่ทางการเกษตรที่มีศักยภาพน้ำบาดาลสูงประมาณ 28 ล้านไร่ และได้ดำเนินโครงการนำร่องการศึกษาการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรจำนวน 12 พื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อศึกษาและกำหนดรูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรให้เหมาะสม กับพื้นที่ในปี 2555 สามารถบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ต่อมาในปี 2556 รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 483 ล้านบาท ให้ดำเนินโครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 31 พื้นที่ ประกอบด้วยจังหวัดลำพูน แพร่ กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม หนองบัวลำภู เลย นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครพนม มุกดาหาร สกลนคร หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ สระแก้ว สุพรรณบุรี ลพบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และจังหวัดพัทลุง โดยมีบ้านหนองปากชัฎ หมู่ 6 ตำบลแก้มอ้น อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่ดำเนินงาน