นางมหา คิวบาร์รูเบีย ผู้อำนวยการองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานประเทศไทย เปิดเผยว่า จากรายงานพบว่าปัจจุบันวัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นโดยเริ่มครั้งแรกที่อายุเฉลี่ย 15-16 ปี และมีแนวโน้มจะเริ่มมีเพศสัมพันธ์ในอายุที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มัธยมศึกษาปีที่ 5 และปวช. ปี 2 โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2550-2554 พบว่าการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกส่วนใหญ่ใช้ถุงยางอนามัยเพียงร้อยละ 55.1ด้วยพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของวัยรุ่นดังกล่าวจึงส่งผลให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น และมีจำนวนสูงขึ้นอย่างน่าวิตก รายงานขององค์การยูนิเซฟพบว่าสถิติแม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีในประเทศไทยมีจำนวนสูงถึง 150,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดในเอเชียและเป็นอันดับสองของโลก
ในฐานะที่แพลนฯ เป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของการประกวดมิสไทยแลนด์-ไชนีส คอสมอส 2556 จึงได้ใช้โอกาสนี้ในการกระตุ้นให้สังคมไทยตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนี้อย่างจริงจัง และเป็นกระบอกเสียงในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเยาวชน โดยการให้ความรู้และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบทบาทของเด็กหญิงและสตรีในทุกภาคส่วนของสังคมที่สามารถที่จะเพิ่มขีดความสามารถขึ้นได้ด้วยการให้การศึกษาอย่างจริงจังโดยกิจกรรมดังกล่าวได้นำสาวงามผู้เข้าประกวดมิสไทยแลนด์-ไชนีส คอสมอส 2556 ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมในหัวข้อ “Love Yourself and others” ร่วมให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาแก่เยาวชนอายุระหว่าง 12-16ปี จำนวน 60คน ณ โรงเรียนวัดปากบ่อ อ่อนนุช 35 เขตสวนหลวง จังหวัด กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เด็กวัยรุ่นมีความเสี่ยงสูงในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร
กิจกรรม“Love Yourselfand Others” ประกอบด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ร่วมวิเคราะห์ปัญหา และสร้างสรรค์กิจกรรมผ่านเกมส์เพื่อการอบรมเยาวชนที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์สามารถเรียนรู้และเข้าใจการป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร โดยผ่านการเรียนรู้จากผู้เข้าประกวดให้กับเยาวชนถือเป็นการส่งต่อความรู้ที่สามารถนำไปถ่ายทอดต่ออันเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้
“นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กองประกวดมิสไทยแลนด์-ไชนีส คอสมอส 2556 เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมเพื่อการแก้ปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหาของวัยรุ่นตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากในประเทศไทย ไม่เพียงแต่สาวงามเหล่านี้จะช่วยรณรงค์ต่อยอดให้กับรุ่นน้องให้ได้รับความรู้ในเรื่องนี้ ถือเป็นการติดอาวุธป้องกันตัวเองในเรื่องเพศศึกษาได้ แต่ยังสามารถเป็นกระบอกเสียงเผยแพร่ไปสู่สังคมในวงกว้างได้อีกด้วย องค์การแพลนฯ หวังอย่างยิ่งว่ากิจกรรมนี้จะสะท้อนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสนใจแก้ไขปัญหานี้กันอย่างจริงจังมากขึ้น” นางมหา กล่าวทิ้งท้าย