ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยระบบทางเดินอาหารที่มีอาการอาหารไม่ย่อยและกรดไหลย้อนมีจำนวนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะกลุ่มคนเมือง จากการศึกษาวิจัยพบว่า 20% ของผู้ป่วยจะมีอาการ 2 อย่างพร้อมกัน โดยผู้ป่วยมักแยกความแตกต่างอาการของโรคไม่ออก ในปัจจุบันเริ่มเห็นจำนวนของผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เพราะความชุกของโรคเพิ่มขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งความชุกโรคนั้นเท่าเดิม แต่ผู้ป่วยให้ความสำคัญกับตัวเอง และเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์มากขึ้น เพื่อรับการรักษาเบื้องต้น เพื่อบรรเทาอาการในระยะแรก และทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนเดิม โดยในงานได้รวบรวมวิธีการป้องกันและรักษาที่เป็นประโยชน์สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันอีกด้วย
ภายในงาน ศูนย์กู้ภัยอาหารไม่ย่อยและกรดไหลย้อน ได้รับเกียรติจาก แพทย์หญิงวิภากร เพิ่มพูล อายุรแพทย์ ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มาให้ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของโรค โรคแทรกซ้อนและการป้องกันรักษาอาการอาหารไม่ย่อยและกรดไหลย้อนให้กับผู้ร่วมงาน โดย แพทย์หญิงวิภากร เพิ่มพูล กล่าวว่า “ทั้งอาการอาหารไม่ย่อยและ โรคกรดไหลย้อนกลายเป็นโรคยอดฮิตในคนยุคปัจจุบัน และเข้ามาใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย เพราะสถานการณ์การใช้ชีวิตของคนที่เปลี่ยนไป การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ และไม่ตรงเวลา การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอลล์ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนเป็นโรคนี้เพิ่มมากขึ้น ในอดีตคนไทยยังไม่รู้จักโรคนี้ เพราะคิดว่าเป็นโรคของชาวตะวันตก เนื่องจากชาวตะวันตกมักจะมีน้ำหนักตัวเกิน และรับประทานอาหารประเภท คาร์โบไฮเดรต และไขมันที่ย่อยยาก แต่ในปัจจุบันการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของชาวเอเชีย ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าวได้เช่นกัน โดยความรุนแรงของโรคแบ่งเป็น 3 ระดับ คือกลุ่มที่มีอาการไม่มากเป็นแล้วหาย กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่เป็นแล้วเป็นซ้ำแต่ไม่รุนแรง กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเป็นแผลในหลอดอาหาร แม้จะพบผู้ป่วยที่เป็นโรคในระดับที่รุนแรงในจำนวนไม่สูงนัก แต่กลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการพัฒนาของโรคเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ และอาจลุกลามไปเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหารได้ การรักษาเบื้องต้นจึงมีความสำคัญมากที่จะบรรเทาอาการในระยะแรก โดยผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นที่ต่างกันได้ สำหรับอาการอาหารไม่ย่อยนั้นเกิดจากการมีกรดเกินในกระเพาะอาหารจึงทำให้มีอาการปวดท้อง แน่นท้อง จุกเสียด อิ่มเร็ว เรอมากเป็นอาการเด่น ส่วนกรดไหลย้อน ผู้ป่วยจะมีอาการจุกแน่นอยู่ที่หน้าอกคล้ายอาหารไม่ย่อย แต่จะมีอาการแสบร้อนกลางอก เรอบ่อย จุกคอ ไอมาก เจ็บคอเรื้อรัง เพราะเกิดจากหูรูดที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารเสื่อมหรือปิดไม่สนิท ทำให้กรดที่อยู่ในกระเพาะอาหารซึ่งอาจรวมไปถึงเอนไซม์เปบซินและน้ำดีมีการไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารก่อให้เกิดการระคายเคืองหลอดอาหารและทำให้เกิดการเจ็บปวดแบบแสบร้อนในอก สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน คือ ปัจจัยเรื่องโรคอ้วน การตั้งครรภ์ พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่นิยมอาหารรสจัด อาหารขยะหรือมันเกินไป การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอลล์ นอนทันทีหลังมื้ออาหาร รวมถึงความเครียดที่เป็นตัวกระตุ้นให้อาการของโรคทวีความรุนแรงมาก”
“อย่างไรก็ตามสามารถกล่าวได้ว่าอาการอาหารไม่ย่อยนี่เองที่มีความเกี่ยวเนื่องกับกรดไหลย้อน เนื่องจากจากกรดที่เกินจะเป็นสัญญาณบอกถึงความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร หากปล่อยทิ้งไว้จึงมีโอกาสทำให้กรดในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนขึ้นไปสู่ทางเดินอาหารและหลอดอาหารจนทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้ ส่วนในแง่ของปัจจัยเสี่ยง สาเหตุ และอาการของทั้งสองโรคนี้แทบจะไม่แตกต่างกันเลย จึงนับได้ว่าเป็นเหมือนโรคฝาแฝด ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตและสร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยไม่น้อย ในขณะที่โรคกรดไหลย้อนเป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตแบบไม่รู้ตัว ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สบายตัว ช่วงกลางวันหากมีอาการก็บั่นทอนสมาธิการทำงาน อาจต้องลางานเพื่อรักษาตัว ช่วงกลางคืนผู้ป่วยมักต้องตื่นขึ้นมานั่ง เพราะนอนไม่ได้เนื่องจากแสบอก จึงหลับไม่สนิท ส่งผลให้คุณภาพชีวิตในวันถัดไปแย่ตามไปด้วย หากละเลยไม่ดูแลรักษาอาจมีการอักเสบ เกิดแผล มีเลือดออก ในบางรายที่เป็นมาก และเป็นนานจนเกิดภาวะที่เซลล์เยื่อบุหลอดอาหารผิดปกติ หรือที่เรียกว่า Barrett's Esophagus ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยมีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นก็ควรป้องกันตั้งแต่ระยะเริ่มต้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมีความสำคัญที่สุด เช่นปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารไขมันเยอะ เพราะทำให้การย่อยช้าลง เลี่ยงอาหารรสจัด งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เพราะอาหารเหล่านี้จะสร้างลมในทางเดินอาหาร ซึ่งจะดันกรดและอาหารที่ยังย่อยไม่หมดขึ้นไปสู่กระเพาะและหลอดอาหารได้ แบ่งย่อยอาหารมื้อหลัก จากวันละ 3 มื้อ เป็น 5-6 มื้อ ต่อวัน และเข้านอนหลังจากมื้ออาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที จะช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น ส่วนในกรณีของผู้ที่มีอาการบ่อยควรยกหัวเตียงนอนให้สูงขึ้น 6 - 10 ฟุต จะสามารถช่วยลดอาการได้ ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วยก็ขอให้คำนึงถึงการใช้ยาที่ถูกกับโรคและอาการ รวมทั้งการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องตามที่แนะนำข้างต้นจะสามารถช่วยบรรเทาอาการได้”
คุณเจิดสาย สุขแก้ว ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แผนก เฮลท์แคร์ บริษัท เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า “เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์ยาชั้นแนวหน้าของโลกตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ของคนในยุคปัจจุบัน เราเชื่อว่า การดูแลตนเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน ร่วมกับการปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยจากอาการอาหารไม่ย่อยและโรคกรดไหลย้อนมีอาการดีขึ้น หากผู้ป่วยมีอาการฉับพลันก็ควรเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับสาเหตุและกลไกของการเกิดโรค โดยจากการศึกษา ในมุมมองของผู้ป่วยเองนั้นรู้สึกว่าอาการแสดงของทั้งสองโรคคล้ายคลึงกันมาก ทำให้ยากต่อตัวผู้ป่วยที่จะแยกแยะว่าตนมีอาการเจ็บป่วยจากโรคไหน เพราะมีทั้งอาการจุกเสียด แน่นเฟ้อ ปวดท้อง รวมถึงแสบร้อนกลางอก แม้แต่สำหรับแพทย์เองก็ต้องวินิจฉัยโรคด้วยการตรวจอย่างละเอียดจึงจะสามารถระบุได้ว่าผู้ป่วยนั้นป่วยด้วยโรคใด ดังนั้นทาง เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ จึงออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ คือ กาวิสคอน ดูอัล แอคชั่น โดย สามารถออกฤทธิ์ได้ทั้งลดกรดในกระเพาะอาหารที่เป็นสาเหตุของอาการอาหารไม่ย่อยและช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกจากโรคกรดไหลย้อน โดยการออกฤทธิ์ของตัวยาที่ช่วยบรรเทาอาการของทั้งสอง เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติมากขึ้นก็ควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำข้างต้นด้วยเช่นกัน”
กาวิสคอน ดูอัล แอคชั่น ชนิดน้ำและชนิดเม็ด ช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยเนื่องจากจากกรดเกินในกระเพาะอาหารและอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณกลางอกจากโรคกรดไหลย้อนได้อย่างรวดเร็วและยาวนาน กาวิสคอน ดูอัล แอคชั่น ประกอบด้วยตัวยา 3 ชนิด คือ แคลเซียม คาร์บอเนต — โซเดียม ไบคาร์บอเนต และอัลจิเนต โดยมีปริมาณ โซเดียมไบคาร์บอเนต - แคลเซียมคาร์บอเนต ในปริมาณมากกว่าสูตรปกติ ซึ่งจะปรับสภาพกรดในกระเพาะอาหารให้เป็นกลาง ช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย และยังมีตัวยาอัลจิเนต ซึ่งรวมตัวกันเป็นชั้นเจลอัลจินิก แอซิด (Alginic Acid) ลอยตัวเป็นชั้นเจลอยู่เหนือของเหลวในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะของกาวิสคอน ช่วยป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าสู่หลอดอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของชื่อ กาวิสคอน ดูอัล แอคชั่น ซึ่งสามารถบรรเทาทั้งอาการอาหารไม่ย่อยและอาการแสบร้อนบริเวณกลางอกจากโรคกรดไหลย้อนได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากจะได้รับความรู้เรื่องอาหารไม่ย่อยและกรดไหลย้อนจากคุณหมอแล้ว ภายในงานยังมีการแสดงพิเศษที่น่าตื่นตาตื่นใจจากตัวแทนศูนย์กู้ภัยอาหารไม่ย่อยและกรดไหลย้อนออกมาเต้นด้วยลีลาท่าทางที่แข็งแกร่งพร้อมลุยกับภารกิจสำคัญ ต่อด้วยการเปิดตัวนักแสดงหนุ่มชื่อดัง บอย-ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ และน้องชาย ภัทร ฉัตรบริรักษ์ ที่มาร่วมงานในฐานะคู่หูตัวแทนจากศูนย์กู้ภัยอาหารไม่ย่อยและกรดไหลย้อน โดย กาวิสคอน ดูอัล แอคชั่น นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากนักแสดงสาว มิ้นต์-ชาลิดา วิจิตรวงศ์ทอง มาร่วมเสวนาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับอาการดังกล่าว พร้อมด้วยเหล่าเซเลบริตี้ชื่อดัง อาทิ สมิตา ธนะโสภณ, จรสพรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา, ปุญญพัฒน์ ถนอมกุล, สุวรา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กุณฑีรา ปัจฉิมสวัสดิ์, จินดาภา บุณยากร, ปรัชญมน บุรณศิริ, อแมนด้า โทณวณิก, จุฑามาศ สุขุมวิทยา, ณัฏฐิ์ประภา ชุณหะวัณ, ณัฏฐกรม์ ชุณหะวัณ และภาวดี อิศรางกูร ณ อยุธยา เข้าร่วมงาน
สมิตา ธนะโสภณ กล่าวว่า “ด้วยอาชีพอาจารย์ที่ทำให้รับประทานอาหารไม่ค่อยเป็นเวลาจึงมีอาการโรคกระเพาะ พอตอนกลางคืนก็ชอบไปหาร้านอาหารใหม่ๆ เพราะเป็นคนชอบรับประทาน บางครั้งก็ทานตอนดึก ทำให้มีอาการอาหารไม่ย่อยเป็นบางครั้ง ถึงแม้ว่าจะพยายามรับประทานอาหารให้ตรงเวลาแต่ก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าไหร่ แต่พอมียาสำหรับทั้งอาการอาหารไม่ย่อย และบรรเทาอาการกรดไหลย้อนก็ดีค่ะ ช่วยบรรเทาไม่ให้อาการลุกลามไปมากกว่านี้ กาวิสคอนก็ถือว่าตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์มากค่ะ”
สุวรา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กล่าวว่า “ตัวหมิงเองไม่เคยมีอาการอาหารไม่ย่อยหรือกรดไหลย้อนมาก่อนเลยค่ะ แต่คนในครอบครัวคือคุณพ่อมีอาการ พอเริ่มสูงอายุ ก็มีอาการกรดไหลย้อนรู้สึกแสบทรวงอกเวลานอน วิธีการรักษา คุณหมอให้ทานยากาวิสคอน อาการแสบอกก็บรรเทาลงค่ะ”
ณัฏฐกรณ์ ชุณหะวัณ เสริมว่า “ผมเคยมีอาการอาหารไม่ย่อยบ้างครับ แต่กรดไหลย้อนยังไม่เคย ส่วนใหญ่จะมีอาการเวลาทานอาหารเยอะเกินไป แล้วไลฟ์สไตล์ของผมเองก็ทำให้ทานอาหารไม่ตรงเวลาด้วย เวลามีอาการขึ้นมาก็จะมีอาการท้องอืด ผมพยายามเดินเพื่อช่วยย่อยอาหาร ตอนนี้มียาที่สามารถบรรเทาได้ทั้งสองโรค คิดว่าดีครับ เพราะอาหารไม่ย่อยและกรดไหลย้อน เป็นโรคทั่วๆไปที่ทุกคนมีโอกาสพบเจอ จะได้ป้องกันไว้ตั้งแต่เริ่มแรกครับ ”
ณัฏฐิ์ประภา ชุณหะวัณ กล่าวว่า “มีอาการอาหารไม่ย่อยค่ะ ด้วยไลฟ์สไตล์ของด้วยค่ะที่มีอาชีพเป็นคุณครู ตอนเช้ามักทานอาหารเต็มที่ เพราะต้องใช้พลังงานมากในแต่ละวัน และตอนกลางคืนบางทีต้องไปงานต่อ กลับบ้านดึก เลยทำให้ทานมื้อเย็นดึกตามไปด้วย จากนั้นก็เข้านอนเลยโดยที่อาหารยังไม่ย่อย เคยอ่านในหนังสือเจอว่าหลังทานมื้อเย็นควรเว้นเวลาซักอย่างน้อย 3 ชั่วโมง แล้วค่อยนอน พยายามทำตามนะคะ แต่บางครั้งก็ทำไม่ได้ เลยต้องใช้ยาเป็นตัวช่วยให้ย่อยบ้าง กาวิสคอน ออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาที่สามารถช่วยได้ทั้งสองโรค คิดว่าเยี่ยมมากค่ะ ถือเป็นตัวช่วยที่ดี ต้องลอง”
จินดาภา บุณยากร เผยว่า “มิ้นต์เป็นโรคกระเพาะอยู่แล้วค่ะ เวลาไปงานปาร์ตี้แล้วต้องดื่มบ้าง ก็จะมีปัญหาทันที มีอาการจุกขึ้นมาที่ทรวงอก แล้วก็แสบยอดอกด้วย หนักอยู่เหมือนกันค่ะ คิดว่าไลฟ์สไตล์ของเรามีผลต่อโรคกรดไหลย้อนมาก เวลาทานอะไรที่เป็นกรดมากๆ เช่น น้ำอัดลม หรือบางครั้งทานข้าวแล้วนอนเลย ไม่ได้รอให้อาหารย่อยก่อน บางทีก็ทานอาหารเย็นดึก วันรุ่งขึ้นตื่นเช้ามาก็จะมีอาการทันที วิธีการป้องกัน จะเน้นทานอาหารที่ย่อยง่าย การออกกำลังกายก็ช่วยให้ลำไส้ทำงานเป็นปกติ ช่วงไหนถ้าไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย เวลาทานอะไรจะรู้สึกเลยว่าย่อยไม่ค่อยดี การมียาที่สามารถบรรเทาได้ทั้งสองโรคออกมา คิดว่าแป็นการตอบโจทย์ที่ดีมากค่ะ เพราะสองอาการนี้ชอบมาพร้อมกัน ส่วนตัวแล้วมิ้นต?ใช้กาวิสคอนมาตั้งแต่อยู่อังกฤษแล้วค่ะ เมื่อทานยาก็รู้สึกว่าอาหารดีขึ้น คุณหมอที่อังกฤษก็แนะนำกาวิสคอนค่ะ”
อาการอาหารไม่ย่อยและกรดไหลย้อนแม้จะไม่ใช่โรคที่อันตรายถึงชีวิต แต่ผู้ป่วยก็ควรให้ความสำคัญในการรักษาและดูแลตัวเองตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น เพราะโรคดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและสามารถนำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่นที่รุนแรงขึ้นได้ หากผู้ป่วยละเลยไม่ทำการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง ซึ่งนอกจากการใช้ยาบรรเทาให้เหมาะกับโรคและอาการแสดงแล้ว ผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ทั้งในเรื่องของอาหารการกิน การควบคุมน้ำหนัก การมีวินัยต่อตนเอง และการจัดการความเครียด เป็นต้น แล้วจะเห็นว่าการมีสุขภาพดีห่างไกลจากอาการอาหารไม่ย่อยและกรดไหลย้อนไม่ใช่เรื่องยากเลย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.gaviscon.co.uk