โดย น.พ.อภินันท์ จิรจริต
กุมารแพทย์ โรงพยาบาลธนบุรี2
เรียบเรียงโดย จุฬาพรรณ แม้นมินทร์
ไข้เลือดออกเป็นโรคระบาดที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตทุกปีโดยเฉพาะในเด็ก ถึงแม้จะมีการรณรงค์ให้กำจัดลูกน้ำยุงลาย แหล่งอาศัยของยุงลาย ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้โดนยุงกัดและพ่นควันไล่ยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสของโรค แต่ก็ยังพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกอยู่ทั้งช่วงฤดูฝน(เดือนพฤษภาคม ถึง เดือน กันยายน)ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโรคไข้เลือดออกและช่วงนอกฤดูฝน สถิติจากกรมควบคุมโรคตดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2556 ระยะเวลาเพียง5เดือน(มกราคม- 4มิถุนายน)ประเทศไทยมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเกือบ 4หมื่นราย( 39,029 ) ร้อยละ 50 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 44 ราย ผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ซื้อยามารับประทานเอง
อาการไข้ที่ต้องสงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นไข้เลือดออกได้แก่ อาการมีไข้สูง2-3วัน หรือมีอาการเบื่ออาหาร หน้าแดง คลื่นไส้ ปวดท้อง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว รับประทานน้ำน้อย มีผื่นออกตามตัวโดยอาจไม่มีอาการหวัด ไม่มีน้ำมูก ไม่มีอาการไอหรือจาม ยกเว้นมีอาการหวัดมาก่อนแล้ว เด็กๆที่มีอาการไข้ตัวร้อน ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจเลือดเพื่อดูเม็ดเลือดแดงเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด ว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ ถ้าพบว่าเป็นไข้เลือดออกจะแจ้งให้ทางสาธารณสุขทราบเพื่อให้ไปกำจัดยุงลายที่บ้านผู้ป่วยโดยเร็วเพื่อป้องกันการระบาดของโรค
การรักษาโรคไข้เลือดออกทั้งเด็กและผู้ใหญ่แบ่งเป็น 3 ระยะคือ
1. ระยะไข้ 2-7วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อแขนขา ลำตัวและหลัง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง เลือดกำเดาไหล มีเลือดออกตามไรฟัน รักษาอาการโดยให้ยาลดไข้กลุ่มพาราเซตามอล ห้ามให้ยาที่มีส่วนผสมของแอสไพริน หรือยาลดไข้สูง เพราะจะทำให้มีเลือดออกในกระเพาะ เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา รักษาอาการต่างๆ ให้ดื่มน้ำมากๆ หรือน้ำเกลือแร่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด
2. ระยะวิกฤต หรือช็อค เป็นระยะที่อันตราย อยู่ในช่วงระยะ24-48ชั่วโมง มีอาการไข้ลดลง ตัวเย็น มือเท้าเย็น อาเจียนมาก ปวดท้องมาก ร้องกวนหรือซึมในเด็กเล็ก กระหายน้ำตลอดเวลา เหงื่อออก ไม่ดื่มน้ำ(อาการของไต) ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะ มีอาการแย่ลง เลือดออกผิดปกติ มีอาการช็อก เช่นพูดไม่รู้เรื่อง เพ้อ เอะอะโวยวาย ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล เพื่อแก้ไขอาการความดันเลือดต่ำ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
3. ระยะฟื้นตัว อาการทั่วไปดีขึ้น มีผื่นลักษณะเป็นปื้นแดงร่วมกับมีวงกลมสีขาวกระจายตามแขนขา บางรายเป็นผื่นแดงคัน ซึ่งจะหายได้เองภายใน1สัปดาห์ เริ่มอยากรับประทานอาหาร การรักษาให้ยาแก้คันในรายที่มีอาการคัน ยังต้องเช็คเกล็ดเลือดและระวังการกระแทกอย่างแรง หรือหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ หลังออกจากโรงพยาบาลในรายที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก
เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกในขณะนี้ อาจมีใช้ในอนาคตเพราะยังอยู่ในระยะการทดลอง จึงควรป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด นอนในห้องที่มีมุ้งลวด หรือในมุ้ง ทายากันยุง โลชั่นกันยุง ไล่ยุง ใช้กับดักยุงไฟฟ้า ใช้สมุนไพรไล่ยุง เป็นต้น กำจัดแหล่งที่อยู่ของยุงลาย เช่นปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิดไม่ให้เป็นที่อาศัยของยุงลาย ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมรอบๆบ้านไม่ให้มีน้ำขัง เปลี่ยนน้ำในแจกัน กระถางต้นไม้ จานรองกระถาง บ่อยๆ ปล่อยปลาหางนกยูงให้กินลูกน้ำยุงในอ่างเลี้ยงปลาหรืออ่างบัว ช่วยกันดูแลบ้านและชุมชนไม่ให้มีน้ำขังซึ่งจะเป็นที่วางไข่ของยุงลาย
ยุงลาย ( Yellow fever Mosquito ) เป็น1ใน400กว่าชนิดของยุงที่พบในไทย ลำตัวมีลายสีขาวสลับดำเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสของไข้เลือดออกมาสู่คนโดยยุงที่เคยดูดเลือดจากผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสและมากัดหรือดูดเลือดคนที่ไม่ป่วย ซึ่งคนที่โดนกัดนี้จะได้รับเชื้อไวรัสจากยุง ซึ่งแต่ละคนจะมีภูมิต้านทานไม่เท่ากัน บางคนที่โดนยุงลายกัดอาจไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มาก แต่บางคนที่มีอาการเกล็ดเลือดต่ำก็จะอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ยุงลายปกติจะวางไข่บนผิวน้ำใสและน้ำนิ่ง และออกหากินกลางวัน แต่บางครั้งก็ออกหากินกลางคืนด้วยถ้ากลางวันยังไม่ได้หากินหรือหากินไม่อิ่ม อาศัยในเขตร้อนชื้น เช่นทุกภาคของประเทศไทยทั่วประเทศทั้งในเมืองและในชนบท
สนับสนุนข่าวโรงพยาบาลธนบุรี2 พร้อมให้บริการด้วยน้ำใจ เอาใจใส่ดุจญาติมิตร โทร 02-4483845-58 www.Thonburi2.com และ Facebook Fanpage www.facebook.com/Thonburi2Hospital