ระดับความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของนักธุรกิจไทยต่ำกว่า ASEAN และทั่วโลก

พฤหัส ๑๘ กรกฎาคม ๒๐๑๓ ๑๑:๕๔
ผลการสำรวจล่าสุดจากรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน (The Grant Thornton International Business Report: IBR) พบว่าทัศนคติด้านบวกของผู้บริหารธุรกิจในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนการเกิดเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปี 2011 ค่อนข้างมาก

แม้ว่าทัศนคติด้านบวกของนักธุรกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2013 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 22% จาก 14% เมื่อไตรมาสที่ 1 แต่ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรวมของ 3 ไตรมาสแรกของปี 2011 ซึ่งอยู่ที่ 42% ค่อนข้างมาก โดยภายหลังจากเหตุการณ์อุทกภัยเป็นต้นมา ค่าเฉลี่ยของทัศนคติด้านบวกอยู่ที่ 16%

ผลการสำรวจเปรียบเทียบทัศนคติด้านบวกก่อนเหตุการณ์อุทกภัยและแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์เพื่อความสำเร็จภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งทัศนคติด้านบวกมีความชะลอตัว เนื่องมาจากผลกระทบระยะแรกจากเหตุการณ์อุทกภัย สภาวะเศรษฐกิจที่ในกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกและประเทศคู่ค้า ตลอดจนปัจจัยภายในประเทศที่น่าวิตกกังวล อาทิ ผลกระทบจากนโยบายจำนำข้าวต่อสภาวะเศรษฐกิจ การเพิ่มสูงขึ้นของหนี้ครัวเรือน และความกังวลต่อความโปร่งใสของโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย

ทั้งนี้ นักธุรกิจมีความเชื่อมั่นลดลงต่อความสามารถในการขยายธุรกิจ โดยมีนักธุรกิจ 28% ที่คาดว่ารายรับจะเพิ่มสูงขึ้น และ 28% มองว่าผลกำไรจะเพิ่มสูงขึ้นภายในช่วง 12 ข้างหน้า เปรียบเทียบกับผลการสำรวจของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 56% และ 52% ตามลำดับ นอกจากนี้ ความคาดหวังต่ความสามารถในการทำกำไรเมื่อปี 2011 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 50% เปรียบเทียบกับ 39% เมื่อ 4 ไตรมาสที่ผ่านมา

เอียน แพสโค กรรมการบริหาร แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย กล่าวว่า "ณ เวลานี้ ผู้บริหารธุรกิจชาวไทยกำลังมุ่งเน้นแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดสัมฤทธิผล เนื่องจากกลุ่มเศรษฐกิจหลักยังมีการขยายตัวที่ต่ำ ซึ่งประเทศจีนยังคงมีการชะลอตัว และธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ได้ริเริ่มทดสอบการตอบรับของตลาดในเรื่องของการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ"

"ในขณะเดียวกัน ธุรกิจในประเทศรับรู้ถึงผลกระทบอย่างชัดเจนจากนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ดำเนินการก่อนหน้านี้ และหนี้ครัวเรือนก็มีการเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยังคงดำเนินต่อไปแม้ว่าจะสูญเสียรายรับอย่างมากและเกิดความเสียหายที่ไม่อาจระบุได้ต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในระยะยาว ทั้งยังมีความวิตกกังวลต่อความคุ้มทุนและการสนับสนุนเงินลงทุนของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และธนาคารแห่งประเทศไทยยังปรับลดคาดการณ์ GDP อีกด้วย"

ในการนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศจีนซึ่งถือเป็นยักษ์ใหญ่ของภูมิภาคยังเห็นได้ชัดเจนในตัวเลขจากรายงาน IBR กล่าวคือมีธุรกิจเพียง 4% ที่มีทัศนคติด้านบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งลดลงจาก 19% เมื่อไตรมาสที่ 1 ดังนั้น การที่ธุรกิจไทย 51% มีการรายงานในช่วง 4 ไตรมาสที่ผ่านมาว่าข้อจำกัดที่สำคัญต่อการขยายตัวของธุรกิจคือการลดลงของอุปสงค์จึงไม่ได้เป็นเรื่องบังเอิญ อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดที่ธุรกิจไทยรายงานคือการแปรปรวนของเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ที่ 60% โดยสูงกว่าทั้งค่าเฉลี่ยของ ASEAN ที่ 43% และทั่วโลกที่ 41%

ในขณะที่ตลาดหลักของการส่งออกส่งผลกระทบต่อประเทศไทย อาทิ เศรษฐกิจในสหภาพยุโรปยังคงอ่อนแอ และเศรษฐกิจในจีนซึ่งเป็นตลาดการส่งออกรายประเทศที่ใหญ่ที่สุดมีการชะลอตัว อย่างไรก็ตาม การส่งออกช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมปีนี้ได้เพิ่มสูงขึ้น 8.3% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2012 โดยสามารถระบุสาเหตุได้ว่าเกิดจากทัศนคติด้านบวกที่ดีขึ้นของธุรกิจญี่ปุ่น ซึ่งช่วยหักล้าง "ผลกระทบจากประเทศจีน (China Effect)" ที่มีต่อภาคการผลิตของประเทศไทย

มร. แพสโค กล่าวเพิ่มเติมว่า "คติพจน์ที่สำคัญคือต้องใช้ความระมัดระวัง แม้การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่ต่อเนื่องตลอดจนอัตราภาษีนิติบุคคลที่ลดลงได้ชดเชยปัจจัยลบบางประการ อย่างไรก็ดี ธุรกิจไทยยังคงมีความกังวลต่อปัจจัยในระดับประเทศ ภูมิภาค และทั่วโลก สูงกว่าธุรกิจในประเทศอื่นๆ โดยโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะส่งเสริมให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจกลับคืนสู่ระดับก่อนหน้าเหตุการณ์อุทกภัย"

หมายเหตุ

รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน หรือ Grant Thornton International Business Report (IBR) นำเสนอทัศนคติและความคาดหวังของกว่า 12,500 ธุรกิจจาก 44 กลุ่มประเทศเศรษฐกิจในแต่ละปี โดยเป็นการสำรวจที่มีลักษณะเฉพาะคือมีการนำผลการสำรวจจากปีที่ผ่านๆ มามาจัดทำแนวโน้มข้อมูลซึ่งรวมถึง 21 ปีจากหลายประเทศในยุโรปและ 10 ปีจากหลายประเทศนอกเหนือทวีปยุโรป ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.internationalbusinessreport.com

การเก็บข้อมูล

การเก็บข้อมูลนั้น บริหารจัดการโดยบริษัทวิจัย Experian โดยจัดทำผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เป็นหลัก และแบบสอบถามจะถูกแปลเป็นภาษาของแต่ละประเทศ โดยนอกเหนือจากคำถามหลักแล้ว แต่ละประเทศสามารถเพิ่มเติมคำถามที่สำคัญหรือเจาะจงเกี่ยวกับประเทศตนเองได้ การเก็บข้อมูลได้จัดทำทุกไตรมาส

กลุ่มตัวอย่าง

IBR เป็นการสำรวจทัศนคติของนักธุรกิจในบริษัทเอกชนทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ สำหรับผลสำรวจในหัวข้อนี้ได้มาจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารในระดับประธานกรรมการบริษัท กรรมการบริหาร ประธาน และผู้บริหารอาวุโส จำนวน 3,224 รายทั่วโลก ครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2556 ที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทย ผู้บริหารจำนวน 50 คนถูกสัมภาษณ์

เกี่ยวกับ แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย

แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงธุรกิจในฐานะบริษัทที่ปรึกษาและให้บริการอย่างมืออาชีพระดับแนวหน้าของประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาแก่บริษัทต่างๆ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี พ.ศ. 2540 โดยใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ การลดค่าใช้จ่าย และการปรับปรุงแผนธุรกิจ รวมถึงดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าขยายธุรกิจผ่านการควบรวมและมองหาโอกาสในการขยายกิจการ ทั้งนี้ การให้บริการของแกรนท์ ธอร์นตัน ครอบคลุมถึง การให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ การตรวจสอบบัญชีทั้งภายในและภายนอกองค์กร การให้คำปรึกษาทางภาษีทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ การให้คำปรึกษาด้านการเงิน การปรับโครงสร้างองค์กร การควบรวมกิจการ งานด้านกฏหมายและการสืบสวน การบริหารความเสี่ยง การประเมินราคาทรัพย์สินสุทธิทางการเงินและภาษีก่อนที่จะทำการซื้อขายกิจการ ความช่วยเหลือด้านการโอนเงิน การประเมินมูลค่าสินทรัพย์ การแนะกลยุทธ์ให้บริษัทในการออกจากธุรกิจเพื่อถอนทุนคืน การจัดหาบุคลากรระดับผู้บริหาร การเตรียมการเพื่อถ่ายโอนกิจการ และการพิจารณาผลตอบแทน ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย กรุณาค้นหาที่เว็บไซต์ www.grantthornton.co.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ