สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ร่วมกับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ Sasin Institute for Global Affairs (SIGA) ภายใต้สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดการอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงอาเซียน รุ่นที่ 2 โดยมี ดร. สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้เกียรติมาบรรยายในหัวข้อ “ASEAN: A Regional Perspective” และ Prof. Dipak C. Jain อดีตคณบดีบดีสถาบันบริหารธุรกิจ INSEAD และ Kellogg School of Management บรรยายในหัวข้อ “Asean in a Global Perspective”
นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการ ก.พ. กล่าวว่า การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2558 ย่อมส่งผลต่อประเทศไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง และสังคมวัฒนธรรม ทุกภาคส่วนจึงต้องตื่นตัวและปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ผู้บริหารระดับสูงในภาคส่วนต่างๆ ถือเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนภารกิจของแต่ละภาคส่วนให้เป็นไปตามนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรค รวมถึงโอกาสที่จะมาพร้อมกับการรวมตัวดังกล่าว เพื่อให้การก้าวไปสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนของประเทศไทยเป็นไปอย่างราบรื่น
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการ SIGA กล่าวว่า หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงอาเซียน (ASEAN Executive Management Programme) เป็นโอกาสสำคัญที่ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จะได้เปิดมุมมองและกำหนดทิศทางที่เป็นจุดยืนร่วมกันบนผลประโยชน์ของประเทศ (National Interest) และผลประโยชน์ร่วมของอาเซียน (Collective Interest) ในระยะยาวอย่างบูรณาการและรอบด้าน พร้อมทั้งจะได้เรียนรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสร้างเครือข่ายระหว่างผู้บริหารระดับสูงของอาเซียน เพื่อต่อยอดความร่วมมือในสาขาต่างๆ ต่อไปในอนาคต
ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานผู้เข้ารับการอบรมในรุ่นที่ 1 ที่ผ่านมา กล่าวถึงสิ่งที่รับจากการอบรมว่า หลักสูตรนี้ได้ให้ผู้บริหารมองภาพอนาคตประเทศไทยในประชาคมอาเซียน โดยร่วมกันระดมสมองจัดทำภาพสถานการณ์ที่เป็นไปได้ในอนาคต พิจารณาถึงปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญของโลกและแนวโน้มการขับเคลื่อนขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลสำคัญต่อประเทศไทย ปัจจัยที่คาดว่าจะมีผลกระทบในอนาคต ตลอดจนสรุปบทเรียนที่สำคัญในบริบทของประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ยังได้ศึกษาเกี่ยวกับประเทศสมาชิกอาเซียนในเชิงลึก ซึ่งจะช่วยในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการเข้าสู่ประชาคมอาซียนของแต่ละภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงอาเซียน รุ่นที่ 2 มีผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมด 63 คน เนื้อหาการอบรมแบ่งออกเป็น 5 หัวข้อ ได้แก่ 1) แรงขับเคลื่อนและแนวโน้มทิศทางของโลก (Global Forces and Trends) เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับทิศทางและบริบทของโลก 2) ภูมิทัศน์ของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional Landscape) เพื่อสร้างความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ของอาเซียนในบริบทปัจจุบัน 3) วาระของชาติ (National Agenda) เพื่อวิเคราะห์และวางแผนยุทธศาสตร์ทั้งเชิงรุกและรับ 4) ทักษะการสร้างความร่วมมือและการรวมกลุ่ม (Cooperation and Integration Skills) เพื่อฝึกทักษะที่จำเป็นเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
สำหรับหัวข้อสุดท้ายเป็นการศึกษาดูงานประเทศอาเซียน (ASEAN Site Visit) ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ อินโดนีเซีย และกัมพูชา ในช่วงท้ายของหลักสูตร โดยจะเป็นการเข้าเยี่ยมชมการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนความร่วมมือในกรอบของอาเซียน พร้อมทั้งพบปะผู้บริหารระดับสูงของประเทศนั้นๆ และภาคเอกชนของไทยที่เข้าไปทำการค้าและการลงทุน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปัญหาอุปสรรคและมุมมองการทำงานระหว่างกัน
หลักสูตรดังกล่าวยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมเป็นวิทยากรพิเศษหลายท่าน อาทิ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการ UNCTAD นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดร.สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงวิทยากรที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก อาทิ Mr. Fidel Ramos อดีตประธานาธิบดี ประเทศฟิลิปปินส์ Mr. George Yeo Yong-Boon อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของสิงคโปร์ และ Prof. Dipak C. Jain อดีตคณบดี INSEAD University และ Kellogg School of Management, Northwestern University เป็นต้นพร้อมทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจากหลากหลายหน่วยงาน รวมถึงผู้บริหารบริษัทเอกชนระดับแนวหน้าของประเทศ ที่มาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในหลักสูตรนี้