ศ.พญ.วโรชา มหาชัย ประธานศูนย์วิจัยมะเร็งกระเพาะอาหารและการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรแห่งชาติ ร่วมให้ความรู้ในการเสวนา “เอช. ไพโลไรแบคทีเรียตัวร้าย กับโรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง รู้ทัน…รักษาได้” ในครั้งนี้ว่า “ ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบของคนในปัจจุบัน ส่งผลต่อพฤติกรรมและปัญหาสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งโรคกระเพาะอาหาร หรือ โรคแผลเปปติก ซึ่งเป็นแผลที่เกิดขึ้นที่บริเวณกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น โดย 80% ของผู้ป่วยจะประสบกับปัญหาการเป็นๆ หายๆ ซึ่งปัจจุบันเราพบว่าโรคกระเพาะอาหารมีสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือเรียกสั้นๆ ว่า เอช. ไพโลไร (H. pylori)”
การติดเชื้อ เอช. ไพโลไร ถือว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกที่สำคัญ มีผู้ติดเชื้อแบคทีเรียนี้มากกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งสำหรับในประเทศไทยพบมีการติดเชื้อ เอช. ไพโลไร ถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 20 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งการติดเชื้อชนิดนี้ นอกจากจะเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังแล้ว ยังมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในกระเพาะอาหาร (MALT lymphoma) อีกด้วย”
ด้าน รศ.ดร.นพ.รัฐกร วิไลชนม์ เลขาธิการศูนย์วิจัยมะเร็งกระเพาะอาหารและการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เชื้อ เอช. ไพโลไร เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดที่มีรูปร่างเป็นเกลียวและมีหางมีความทนกรดสูงเนื่องจากสามารถสร้างสารที่เป็นด่างออกมาเจือจางกรดที่อยู่รอบๆตัวมันจึงสามารถอาศัยอยู่ในชั้นผิวเคลือบภายในกระเพาะอาหารได้และยังสร้างสารพิษไปทำลายเซลล์เยื่อบุผิวของกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบและเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารทำให้ผู้ที่ติดเชื้อมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งของกระเพาะอาหารมากกว่าคนทั่วไปถึง 3-6 เท่า การรักษาโดยทั่วไปในปัจจุบันจะมีการตรวจหาเชื้อ เอช. ไพโลไร ในผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งการตรวจหาเชื้อ เอช. ไพโลไร สามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การส่องกล้องกระเพาะอาหาร การเจาะเลือด การตรวจทางลมหายใจ หรือUrea Breath Test และการตรวจอุจจาระ เมื่อพบว่ามีการติดเชื้อ เอช. ไพไลไร จำเป็นต้องทำการรักษาและกำจัดเชื้อนี้ เพื่อรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารให้หายขาดโดยมีแนวทางในการรักษาเพื่อกำจัดเชื้อ เอช. ไพโลไร อยู่โดยใช้สูตรยากำจัดเชื้อซึ่งการรักษาที่นิยมใช้กันมากและมีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ การใช้ยาลดการหลั่งกรด 1 ชนิด ร่วมกับยาปฏิชีวนะอีก 2 ชนิด เป็นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ ซึ่งพบว่าสามารถกำจัดเชื้อได้มากกว่า 90% และภายหลังจากการหยุดรักษาไปแล้ว 4 สัปดาห์ก็จะไม่พบเชื้อ เอช. ไพโลไร นี้อีกโดยหลังจากที่กำจัดเชื้อ เอช. ไพโลไร แล้วโอกาสที่จะกลับมาเป็นแผลในกระเพาะอาหารซ้ำลดลงไปอย่างมาก”
อาเล็ก - ธีรเดช เมธาวรายุทธ ทูตรณรงค์ต้านเชื้อร้าย เอช. ไพโลไร ที่มาร่วมเชิญชวนคนไทยใส่ใจดูแลสุขภาพกำจัดเชื้อ เอช. ไพโลไร ให้ห่างไกลจากโรคแผลกระเพาะอาหารและโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ฝากข้อคิดเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพว่า “ผมอยากจะแนะนำให้ทุกคนดูแลเรื่องอาหารการกิน ถ้าเป็นไปได้ก็ทำตารางการกินในแต่ละวัน เลือกกินอาหารใหม่ สด และสะอาด หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดจ้าน ซึ่งอาจจะไปสร้างแผลในกระเพาะอาหาร ที่สำคัญคือ ต้องไม่เครียด เครียดแล้วปวดท้องจะเครียดไปทำไม นอกจากนี้ ก็พยายามทานผักและผลไม้เพื่อเสริมสร้างการขับถ่ายที่ดี ถ้าเกิดใครสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจาการติดเชื้อ เอช. ไพโลไร ก็อย่าลืมไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา และรับการรักษาอย่างถูกวิธี หรือถ้าอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อโรคที่ว่ากับปัญหาเรื่องแผลในกระเพาะอาหารแบบเรื้อรัง ก็สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.GastroProtection.com ครับ”