นายสุชาติ กล่าวอีกว่า ซีพีเอฟให้การสนับสนุนสำนักงานประมงจังหวัดนครราชสีมา ในโครงการเพาะพันธุ์ปลาบ้า จากการที่ประมงจังหวัดฯได้ทำการสำรวจแหล่งน้ำในจังหวัดนครราชสีมา พบว่าปลาท้องถิ่นชนิดนี้มีเเนวโน้มใกล้สูญพันธุ์มากว่า 10 ปีเเล้ว เนื่องจากชาวชุมชนจับปลามาเป็นอาหารแม้ในฤดูวางไข่ และด้วยปลาชนิดนี้มีนิสัยตื่นตกใจง่าย ส่งผลให้จำนวนลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นวิกฤติ
“ซีพีเอฟดำเนินโครงการรักษ์ลำน้ำมูล มาตั้งเเต่ปี 2551 โดยมีวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ลำน้ำมูล ด้วยการปลูกป่าเเละปล่อยปลาอยู่เเล้ว เมื่อประมงจังหวัดนครราชสีมาจัดโครงการอนุรักษ์พันธุ์และขยายพันธุ์ปลาบ้าขึ้น บริษัทจึงไม่รีรอที่จะให้การสนับสนุนโครงการตั้งแต่เริ่มต้นในปี 2552 เป็นต้นมา กระทั่งประสบความสำเร็จสามารถเพาะพันธุ์ปลาบ้าได้ถึง 100,000 ตัว โดยทั้งหมดจะถูกนำมาปล่อยในงานรักษ์ลำน้ำมูลปี 5 นี้ด้วย”
สำหรับ “โครงการรักษ์น้ำมูล” เกิดจากความร่วมมือของโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ซีพีเอฟ นครราชสีมา กับชุมชนรอบๆ โรงงาน ที่ดำเนินการติดต่อกันมาเป็นปีที่ 5 นับเป็นโครงการหนึ่งที่แสดงออกถึงความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมของซีพีเอฟ อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการส่งเสริมให้พนักงานทุกระดับมีส่วนร่วมในโครงการเพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ "โครงการรักษ์ลำน้ำมูล" ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และพัฒนาลำน้ำมูลและลำน้ำสาขา พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน และการใช้ประโยชน์จากลำน้ำอย่างยั่งยืน โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ชุมชนต้นน้ำเพื่อบำรุงรักษาแหล่งน้ำดิบ และชุมชนท้ายน้ำเพื่อรักษาคุณภาพน้ำ
ทั้งนี้ กิจกรรมมุ่งเน้นการปรับปรุงด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการปลูกต้นไม้ในวรรณคดีจำนวน 1,999 ต้น การสร้างความเป็นมิตรกับชุมชน ตลอดริมฝั่งลำน้ำ การรักษาและเฝ้าระวังลำน้ำ การสร้างสำนึกให้แก่ชุมชนในการดูแลรักษาสภาพธรรมชาติ รวมถึงการปล่อยปลาพื้นถิ่นลำน้ำมูล จำนวน 400,000 ตัว แบ่งเป็น ปลาบ้า 100,000 ตัว และปลาชนิดอื่นอีก 300,000 ตัว รวมถึงอนุบาลพันธุ์ปลาฝายวังไม้โกลนอีก 20,000 ตัว พร้อมกันนี้ทางประมงจังหวัดได้จัดบอร์ดให้ความรู้เเละนิทรรศการเเสดงพันธุ์ปลา เพื่อให้ความรู้เรื่องพันธุ์และการอนุรักษ์ปลาแก่ชาวชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญของปลา และที่สำคัญคือ การสร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชน ด้วยการอบรมให้เด็กๆ ได้ทราบถึงประโยชน์ของน้ำและการอนุรักษ์น้ำ ได้เรียนรู้วิธีการตรวจสอบน้ำตามหลักวิทยาศาสตร์ โดยให้พวกเขามีโอกาสได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง จากการเข้าตรวจสอบลำน้ำอย่างต่อเนื่อง