นายนักรบ เนียมนามธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นฟอร์ซ ซีเคียวริตี้ ซิสเต็มส์ เอพี จำกัด เปิดเผยว่า ในครึ่งปีหลัง 2556 เอ็นฟอร์ซฯ เดินหน้าตอกย้ำกลยุทธ์การทำตลาด กับพาร์ทเนอร์ในรูปแบบแนวดิ่ง (Vertical) อย่างต่อเนื่อง เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าธนาคาร เซอร์วิส โพรวายเดอร์ และสถาบันการศึกษา โดยเอ็นฟอร์ซฯ มีแผนการทำตลาดคือ ดูว่าพาร์ทเนอร์รายไหนมีความแข็งแกร่งงในกลุ่มอุตสาหกรรมใด เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมให้ตรงกับกลุ่มพาร์ทเนอร์นั้น ซึ่งเอ็นฟอร์ซฯ มองว่าการขายผลิตภัณฑ์ไอที ซีเคียวริตี้ต้องใช้ความรู้ความสามารถและมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก ดั้งนั้นทางเอ็นฟอร์ซฯ จึงต้องเข้าไปสนับสนุนการทำงานของพาร์ทเนอร์อย่างจริงจัง พร้อมมุ่งเน้นพัฒนาประสิทธิภาพของพาร์ทเนอร์ให้มีทักษะที่จะสามารถตอบสนองหรือช่วยเหลือลูกค้าได้เอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ ซึ่งเอ็นฟอร์ซฯได้มีการจัดอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนจัดกิจกรรมทางการตลาดและส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้เอ็นฟอร์ซฯ ยังมีแผนที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาวิศวกรระบบของพาร์ทเนอร์ให้ได้การรับรองใบประกาศนียบัตรทางด้าน Next-Gen Firewall และการทดสอบเพื่อหาช่องทางในการเข้าถึงระบบ (Penetration Test) ประมาณ 20 คน เพื่อรองรับการเติบโตของไอที ซีเคียวริตี้ในปีหน้า เนื่องจากอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ ด้าน Next-Gen Firewall เป็นอุปกรณ์ที่ใหม่สำหรับตลาดเมืองไทย และคาดว่าน่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น
“ส่วนในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ธุรกิจของเอ็นฟอร์ซฯ ประสบความสำเร็จ และมีการเติบโตตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ 16% และคาดว่าในครึ่งปีหลัง เอ็นฟอร์ซฯ จะสามารถปิดโปรเจคใหญ่ๆ ได้สำเร็จ และได้ยอดขายตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ 20% ต่อปี”
ทั้งนี้เอ็นฟอร์ซฯ ได้จัดเตรียมผลิตภัณฑ์ใหม่เกี่ยวกับมาตรฐาน PCI compliance (Payment Card Industry Data Security) ซึ่งเป็นข้อบังคับ Regulatory Compliance สำหรับบริษัทที่ใช้เครดิต การ์ดในการทำธุรกรรมต่างๆ อาทิ ธนาคาร บริษัทที่มีสาขาต่างๆ เป็นต้น ซึ่งข้อกำหนดใหม่นี้เป็นมาตรฐานสากล โดยระบบ ไอทีของบริษัทลูกค้าจะต้องผ่านข้อกำหนดมาตรฐานนี้ ซึ่งไม่ใช้แค่หาผลิตภัณฑ์มารองรับแต่บริษัทของลูกค้าเองต้องพัฒนากระบวนการของการทำงานระบบไอทีด้วย ซึ่งคล้ายกับการประกาศ พรบ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปี พ.ศ. 2550
นายนักรบ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตลาดไอที ซีเคียวริตี้ในไทยในครึ่งปีหลังยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการประกาศเรื่องข้อบังคับ Regulatory Compliance ในมาตรฐาน PCI Compliance ซึ่งหลายๆ บริษัทจะต้องมีการตื่นตัวและเตรียมวางแผนเพื่อให้ผ่านมาตรฐานนี้ ส่วนเทคโนโลยีที่น่าจะมาแรง ผมมองว่าเป็น คลาวด์ ซีเคียวริตี้ ซึ่งยังเป็นเทคโนโลยีสำคัญ ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาในไทย 2 ปีแล้ว แต่อาจะยังไม่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง แต่ปัจจุบันเราจะเห็นว่าเทคโนโลยีบนคลาวด์มีมากขึ้น ดังนั้นการทำซีเคียวริตี้ บนคลาวด์ จึงยิ่งจำเป็นมากขึ้น”