เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้กับประชาชนและชุมชน และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่ชัดเจนในการเพิ่มศักยภาพของการผลิตและความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน ส่งเสริมให้คนกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนโดยเฉพาะวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ให้บริการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในหญิงตั้งครรภ์ และให้บริการวัคซีนป้องกันตับอักเสบบีในทารกและเด็กเล็กทั่วประเทศ มีมาตรการที่เข้มข้นในการตรวจคัดกรองผู้บริจาคเลือด และการป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มผู้ทำการรักษาพยาบาล เพิ่มมาตรการหรือส่งเสริมโครงการ safe injection ในสถานพยาบาลและกลุ่มผู้ไร้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด
วันที่ 28 กรกฎาคม ปี 56 นี้เป็น “วันตับอักเสบโลก” กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิโรคตับแห่งประเทศไทย สมาคมโรคตับ และหน่วยงานวิชาชีพต่างๆ โดยการสนับสนุนของผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย และประธาน World Hepatitis Alliance ได้ร่วมกันจัดงานรณรงค์ขึ้น ภายใต้คำขวัญ “ไวรัสตับอักเสบบี รู้ทัน ป้องกันรักษาได้” เพื่อดำเนินงานป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและสร้างความตระหนักให้คนไทยรู้สถานะตับไวรัสอักเสบบีของตนเอง ให้สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก ซึ่งถือเป็นการรณรงค์ไปพร้อมๆกับประเทศสมาชิกทั่วโลก ที่ได้ให้ความสำคัญและร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงขอเชิญชวนคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้ที่ไม่เคยตรวจคัดกรองตับอักเสบบี ไปรับบริการตรวจคัดกรองตับอักเสบบีฟรี! ได้ที่สถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้านระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2556 และโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการระหว่างวันที่ 22-26 กรกฎาคม 2556 นี้
ด้าน ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาเหตุของโรคตับอักเสบ นอกจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ส่งผลร้ายต่อตับแล้ว การติดเชื้อ “ไวรัสตับอักเสบ” นับเป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง โดยทั่วไปแล้วไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อผ่านทางเลือดและน้ำเหลือง ทางเพศสัมพันธ์ จากการใช้สิ่งของร่วมกัน จากทางบาดแผล ผิวหนังและติดต่อจากแม่สู่ลูก โดยจะพบเชื้อในเลือดมากที่สุด รองลงมาพบในน้ำลาย น้ำตา น้ำอสุจิ น้ำเมือกในช่องคลอด น้ำดี และน้ำนมของผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะ สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางของเหลวของร่างกายผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะ
โดยปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่า คนไทยประมาณ 5 ล้านคน ติดเชื้อโรคไวรัสตับอักเสบบี และจากสถิติในอดีตพบว่าใน 100 คนจะมีผู้ที่เป็นพาหะโรคไวรัสตับอักเสบบีอยู่ 8-10 คน ซึ่งคนที่เป็นพาหะนั้นไม่ได้เป็นโรค ไม่มีอาการเจ็บป่วย เพียงแต่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีซ่อนตัวอยู่ในร่างกาย และสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เกือบร้อยละ 30 จะมีโอกาสพัฒนาเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็งและมะเร็งตับ และมีอัตราเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งตับมากกว่าคนปกติถึง 223-250 เท่า ดังนั้นผู้ที่ยังไม่ทราบสถานะไวรัสตับอักเสบของตนเอง ควรได้รับการตรวจคัดกรองและประเมินความเสี่ยง เพราะในปัจจุบันมียารักษาที่มีประสิทธิภาพสามารถลดการเป็นตับแข็งและมะเร็งตับได้
“การรู้ทันโรคไวรัสตับอักเสบบี” นอกจากจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการป้องกัน ด้วยการหลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ร่วมกับคนป่วยหรือคนที่เป็นพาหะ หลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือด น้ำเลือด น้ำลายของคนป่วยหรือคนที่เป็นพาหะ รักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ไม่ควรอดนอนหรือดื่มสุราที่จะส่งผลร้ายต่อตับ รวมทั้งการฉีดวัคซีน เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานต่อไวรัสตับอักเสบ
“ประชาชนท่านใดที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไวรัสตับอักเสบบี สามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวปิดท้าย