ส่วนทางด้านของการบริโภคนั้นอยู่ในระดับปานกลาง และมีแนวโน้มของการชะลอตัวลง โดยจะเห็นได้จากสัดส่วนของการตอบที่อยู่ในระดับปานกลาง 50.3% แย่ 30% และดีเพียง 16.7% เท่านั้น ในขณะที่การลงทุนนั้น ยังคงมีสัญญาณดีในช่วงของครึ่งปีแรกโดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐ ในขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาของการชะลอตัวลงเล็กน้อย
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 พบว่า แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังยังคงมีสัญญาณของการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากครึ่งแรกของปี 2556 โดยมีผู้ตอบว่าแย่ถึง 41.9% .ในระดับปานกลาง 35.5% และดีเพียง 22.6% เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ของภาคเกษตรในช่วงครึ่งหลังของปียังคงมีแนวโน้มไม่ชัดเจน โดยเฉพาะทางด้านของยางพารา และปาล์มน้ำมัน ทำให้ทางหอการค้าจังหวัดภาคใต้เห็นว่าสถานการณ์ทางด้านภาคเกษตรยังคงอยู่ในระดับที่แย่ โดยมีผู้ตอบถึง 55.1% อยู่ในระดับปานกลาง 41.4% และดีเพียง 3.5% เท่านั้น
ส่วนทางด้านของภาคอุตสาหกรรม และภาคการค้ายังคงมีสัญญาณของการทรงตัวอยู่ในระดับเดิม คือ อยู่ในระดับปานกลาง ไม่ดีและไม่แย่
อย่างไรก็ตามด้านการท่องเที่ยวของภาคใต้ ยังคงเป็นสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยบวกของภาคใต้ในการพยุงเศรษฐกิจ โดยหอการค้าจังหวัดภาคใต้ 64.5% เห็นว่าการท่องเที่ยวในครึ่งหลังของปีจะอยู่ในระดับดี เนื่องจากเป็นช่วงของฤดูกาลท่องเที่ยวของภาคใต้
ส่วนทางด้านการบริโภคหอการค้าจังหวัดภาคใต้ 40% เห็นว่าการบริโภคอยู่ในระดับแย่ 46.7% เห็นว่าอยู่ในระดับปานกลาง และ13.3% เห็นว่าอยู่ในระดับดี ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการบริโภคของภาคใต้ยังคงมีสัญญาณของการชะลอตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากภาระหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากโครงการรถยนต์คันแรก รวมทั้งระดับราคาพืชผลทางการเกษตรที่มีแนวโน้มลดลง
ด้านการลงทุนของภาคใต้ยังคงขยายตัวได้ แต่เป็นการขยายตัวจากการลงทุนของภาครัฐเป็นสำคัญ แต่การลงทุนเริ่มมีแนวโน้มของการชะลอตัวลง เพราะความกังวลเรื่องของสถานการณ์ทางการเมือง แต่การลงทุนในส่วนของโรงแรมและรีสอร์ดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามหอการค้าจังหวัดภาคใต้ยังไม่แน่ใจว่าสถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจที่ชะลอตัวลงอยู่ในปัจจุบัน และในอนาคตที่คาดการณ์นั้น จะมีการฟื้นขึ้นเมื่อใด
สิ่งที่ภาคธุรกิจภาคใต้มีความกังวล
สถานการณ์ระดับราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะยาง และปาล์มที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ความแน่นอนของการอนุมัติงบประมาณภาครัฐจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่
ภาระหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลต่อการบริโภคและยอกขายของภาคธุรกิจ
ผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศทำให้แรงงานเลือกงานมากขึ้น จนเป็นเหตุให้สถานประกอบการขาดแคลนแรงงาน
สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การลงทุน
แนวโน้มของการปรับตัวของภาคธุรกิจที่จะรับพนักงานในวุฒิ ปวช. ปวส. แทนปริญญาตรีมากขึ้น จากแนวนโยบายเงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำ 15,000 บาท