เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556 — หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เข้าตรวจเยี่ยมพื้นที่ทางเท้า บริเวณด้านหน้าสยามสแควร์ โดยมีนางจงกลลักษณ์ อินทุลักษณ์ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับ เนื่องในโอกาสเปิดโครงการ “ทางเท้าสีขาว” อย่างเป็นทางการ ภายใต้ความร่วมมือ ของสำนักงานเขตปทุมวัน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร ท่ามกลาง ความชื่นชมจากกลุ่มผู้พิการ กลุ่มรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และประชาชนทั่วไปที่ใช้พื้นที่ทางเท้า สยามสแควร์
หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงนโยบายการดำเนินงานว่า ”ผลการสำรวจในปี พ.ศ. 2555 ในเขตกรุงเทพมหานคร มีผู้ค้า หาบเร่-แผงลอย ประมาณ 20,275 คน กรุงเทพมหานคร รับทราบถึงปัญหาและผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างดี และได้ดำเนินการ จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยทั่วกรุงเทพมหานคร ตามแนวทางยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ โดยมอบหมาย ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์ รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าทั้งในและนอกจุดผ่อนผัน ตลอดจนประสานงานจัดหาพื้นที่การค้าใหม่ เพื่อเชิญชวนผู้ค้าเข้าสู่ระบบตลาดปกติ ผู้ซื้อเกิดความปลอดภัย ในการจับจ่ายซื้อของ และผู้ใช้ทางเท้าไม่ต้องเสี่ยงกับอุบัติเหตุบนท้องถนนด้วย”
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเป็นเจ้าของพื้นที่ทางเท้าบริเวณรอบสยามสแควร์ ทั้งฝั่งถนนพระราม 1 พญาไท และอังรีดูนังต์ ยินดีให้การสนับสนุนนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร จึงได้ร่วมกับ กรุงเทพมหานครและสำนักงานเขตปทุมวัน จัดโครงการ “ทางเท้าสีขาว” ขึ้น โดยแบ่งการดำเนินงาน 3 ส่วน ได้แก่
ส่วนแรก คือ การจัดสรรพื้นที่ จุฬาฯ ได้จัดเตรียมพื้นที่ชั่วคราว รองรับผู้ค้าบางส่วนไว้จำนวน 3 แห่งด้วยกัน เป็นจุดที่ให้ผู้ค้าได้เตรียมตัวก่อนที่จะย้ายไปยังพื้นที่การค้าต่างๆ ที่เหมาะสมต่อไป
ส่วนที่สอง คือ การบริหารพื้นที่ จุฬาฯ ได้นำแผนการปรับปรุงทางเท้าและภูมิทัศน์ย่าน สยามสแควร์ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ กรุงเทพเดินสบาย แนวคิด “ปฏิบัติการสีเขียว (green attack)” ให้ความสำคัญต่อการจัดสรรพื้นที่ เส้นทางเดินที่ต่อเนื่องสะดวกต่อทุกคน เด็ก สตรี ผู้สูงวัย และผู้พิการ เสริมบรรยากาศด้วยพื้นที่สีเขียวทั้งจากต้นไม้และสิ่งตกแต่ง ตลอดจนการออกแบบและจัดแสงอีกด้วย
ส่วนที่สาม คือ ขอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมสามหน่วยงาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคประชาสังคม เพื่อบริหารจัดการปัญหาทางเท้าอย่าง บูรณาการในระยะยาวตามที่ได้ตกลงกันไว้”
นอกจากนี้ นางอรยา สูตะบุตร ผู้แทนจาก โครงการกรุงเทพเดินสบาย และกลุ่มรณรงค์ผ่าน Social Network ทวงคืนทางเท้า ได้แสดงความขอบคุณต่อการดำเนินงานดังกล่าว รวมทั้ง หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้มีโอกาสเข็นรถให้แก่นางสาวเสาวลักษณ์ ทองก๊วย ผู้แทนจากกลุ่มผู้พิการ เพื่อนำชมพื้นที่ทางเท้าที่มี ความสะดวก สะอาด และปลอดภัยตลอดเส้นทางถนนพระราม 1 บริเวณด้านหน้าสยามสแควร์ พร้อมกับ กลุ่มผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขต และประชาชนผู้ใช้ทางเท้าทั่วไป