รัฐฯพร้อมให้การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาด้านวัคซีนของประเทศ

พฤหัส ๐๘ สิงหาคม ๒๐๑๓ ๑๕:๒๘
ในการประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ที่ผ่านมาภายใต้หัวข้อ “การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและการวิจัยพัฒนาวัคซีนในทศรรษหน้า : การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน” ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ รัชดา กรุงเทพฯ มีผู้สนใจจากหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักวิชาการ อาจารย์ และบุคลากรด้านสาธารณสุข กว่า 300 คนเข้าร่วมงาน

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โดยภาพรวมเรื่องของนโยบายวัคซีนมีคำถามมาโดยตลอดในเรื่องของความจำเป็นที่ต้องมีวัคซีนเพื่อใช้ประโยชน์ภายในประเทศไทย ซึ่งเราต้องมาคุยกันเพื่อวิเคราะห์สิ่งที่จะต้องปรับคือกรอบความคิดระหว่างนักวิชาการกับผู้ปฏิบัติ เนื่องจากนักวิชาการมองว่าประเทศไทยควรผลิตวัคซีนได้ทุกชนิด แต่ในเชิงบริหารคงไม่สามารถผลิตได้ทั้งหมด เพราะจะต้องคำนึงถึงความจำเป็นของวัคซีนแต่ละชนิด ทั้งในเรื่องของความมั่นคงและเรื่องความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจของประเทศด้วย ซึ่งวัคซีนบางตัวเราอาจจะผลิตได้ตั้งแต่ต้นน้ำ แต่บางตัวอาจต้องผลิตแบบปลายน้ำ บางตัวอาจแก้ปัญหาวัคซีนขาดแคลนโดยการสำรองวัคซีนเพิ่มขึ้น การวิจัยวัคซีนต้องมีการพัฒนาต่อยอดอย่างไร ซึ่งการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะเป็นตัวจุดประกายป้องกันปัญหาในอนาคตได้

นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่าเราต้องมองอาเซียนและเริ่มต้นก้าวไปข้างหน้า เรามีสถาบันวัคซีนแห่งชาติ มีคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เราควรตั้งต้นมองเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมและต้องปรับความคิดระหว่างนักวิชาการกับการปฏิบัติด้วย และสิ่งที่เราต้องเริ่มต้นทำคือปรับบทบาทของภาครัฐกับภาคเอกชน ไม่ใช่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างผลิต แต่ควรมาร่วมมือกันว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความชัดเจน โดยรัฐบาลจะพยายามสนับสนุนในเรื่องของการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R&D) เพราะเป็นตัวที่ใช้ทรัพยากรและเงินจำนวนมาก ภาคเอกชนอาจจะยังไม่พร้อม แต่ทำอย่างไรที่จะให้ภาคเอกชนเข้ามาต่อยอดร่วมกันได้โดยเฉพาะการผลิตและการทำตลาด

“ท่านนายกรัฐมนตรีพูดชัดเจนมากว่าการทำวิจัย ต้องเป็นงานวิจัยที่ออกมาแล้วได้ผล สามารถนำไปใช้ในเชิงปฏิบัติได้ ซึ่งหากทำมาในทิศทางนี้การผลิตวัคซีนจะเดินหน้าต่อได้ โดยภาครัฐและเอกชนอาจจะต้องตกลงผลประโยชน์กัน และการสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาต่อยอดการผลิตวัคซีนก็ไม่จำเป็นต้องห่วงเรื่องความมั่นคง ว่าถึงเวลาขาดแคลนเอกชนจะไม่ขายให้ เพราะถึงอย่างไรโรงงานผลิตวัคซีนก็อยู่ในไทย นอกจากนี้จะต้องทำงานในเชิงรุกและเชิงรับเพิ่มมากขึ้นเช่นมองการขายวัคซีนในตลาดภูมิภาคอาเซี่ยน หรือมีการปรับกระบวนการฉีดวัคซีนใหม่ เพื่อเพิ่มยอดการผลิตให้อุตสาหกรรมนี้คุ้มทุนและอยู่ได้ ด้วยตัวเองเป็นต้น”

ในขณะที่ ศ.ดร.นิลวรรณ เพชระบูรณิน สมาชิกวุฒิสภาและในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม กล่าวว่า จากการศึกษาในมุมมองของวุฒิสภามองเห็นศักยภาพของคนไทยมากมาย โดยไม่ต้องคาดหวังว่าการผลิตวัคซีนของไทยจะทำสำเร็จในหลายๆตัว แค่ทำวัคซีนตัวใหม่ตัวเดียวที่มีความต้องการสำเร็จก็สามารถขยายตลาดไปได้ทั้งโลก เนื่องจากตลาดวัคซีนขยายตัวอย่างมาก และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ศ.ดร.นิลวรรณ ยังได้กล่าวถึงความสามารถในการแข่งขันของไทยด้วยว่า ปัจจุบันตลาดวัคซีนของประเทศไทยถูกผูกขาดโดยองค์กรภาครัฐและบริษัทต่างชาติที่ร่วมทุนกับรัฐบาล ส่งผลให้ภาคเอกชนไทยไม่มีความเข้มแข็งพอ มีผลต่อการยับยั้งการพัฒนาการผลิตวัคซีน ของประเทศและที่แย่ไปกว่านั้นคือการเข้ามาแทรกแซงและผูกขาดนโยบายสาธารณสุขจากภาครัฐ

“ในการวิจัยพัฒนาวัคซีนของไทยเราต้องตั้งเป้าหมายใหม่ อย่ามองตลาดแค่เมืองไทย ต้องตั้งเป้าไปยังประชากรหกร้อยล้านคนในอาเซียนว่าคือกลุ่มเป้าหมาย ให้มองว่าเจ็ดพันล้านคนคือกลุ่มที่บริโภค อยากฝากว่าวัคซีนนั้นจะเป็นความมั่นคงและมั่งคั่งของประเทศไทย และเป็นความมั่นคงของประชากรโลก การส่งเสริมให้การพัฒนาด้านวัคซีนของประเทศมีความเจริญก้าวหน้า จัดสรรงบประมาณด้านวิชาการ การผลิตและการขาย และสนับสนุนภาคเอกชนเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรทำอย่างยิ่ง ที่สำคัญการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของประเทศต้องมีความโปร่งใสและเป็นธรรมด้วย”

ด้าน ดร. นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน)ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า ด้วยความที่วัคซีนเป็นธุรกิจอย่างเต็มตัว สิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องประสบคือปัญหาการขาดแคลนวัคซีน และหากไม่มีการฉีดวัคซีนก็จะมีคนเสียชีวิตในโลกนี้ไม่ต่ำกว่า 15 ล้านคนต่อปี และหนทางให้ได้มาซึ่งวัคซีนก็ไม่ใช่ทางตรง แต่เป็นทางคดเคี้ยวและมีความเสี่ยงสูง

ปัจจุบันปริมาณการใช้วัคซีนในประเทศกำลังพัฒนามีมากถึง 88% ของตลาดรวมแต่มูลค่าวัคซีนมีเพียง 12% เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นวัคซีนราคาถูก ดังนั้นจึงไม่ดึงดูดใจในแง่การค้า เป็นผลให้การผลิตวัคซีนสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนามีทิศทางลดลงอย่างชัดเจน หากบริษัทวัคซีนต่างๆหยุดผลิตปัญหาที่ตามมาคือไทยหรือบางประเทศก็ไม่สามารถสำรองวัคซีนเป็นจำนวนมากได้ และไทยอาจไม่สามารถหาซื้อวัคซีนติดต่อกันทุกปีได้ อีกทั้งแม้ประเทศจีน อินเดีย บอกว่าผลิตวัคซีนได้ในราคาถูก แต่ไทยก็ซื้อในราคาที่แพง เพราะมันเป็นเรื่องของธุรกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นจะเห็นว่าต้นทุนวัคซีนเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นหากเราผลิตวัคซีนได้สำเร็จเราก็จะมีความมั่นคงเรื่องการใช้วัคซีนในประเทศมากขึ้น

ดร.นพ.จรุง บอกอีกว่าเราไม่สามารถที่จะเลือกซื้อวัคซีนจากหลายๆบริษัทได้ บางปีมีแค่1-2 บริษัทเท่านั้น ซึ่งมีเรื่องของการผูกขาด สำหรับวัคซีนใหม่แน่นอนว่าต้องมีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับวัคซีนพื้นฐานและไทยก็กำลังมีปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งWHO ยังไม่สามารถช่วยได้ และยากที่จะมีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วย อีกทั้งมีข้อสรุปจาก WHO มาว่าภายในปี2020 ประเทศที่กำลังพัฒนาอาจจะต้องพึ่งตัวเองในการผลิตวัคซีนไว้ใช้เองภายในประเทศ แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้วประเทศไทยอยู่ในภาวะถดถอย 80% ของมูลค่าที่ใช้ในการผลิตวัคซีน ไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 2,400 ล้านบาทต่อปี

“ขณะนี้การผลิตวัคซีนจากต้นน้ำของประเทศไทยเหลือแค่เพียง 2 ตัวเท่านั้น ซึ่งมันสะท้อนอะไรได้หลายๆอย่าง จริงๆแล้วหลายฝ่ายทั้งนักวิชาการ คนทำงานก็ยืนยันว่า ยังไงคนไทยก็ต้องพึ่งตนเองให้ได้ต่างประเทศเองก็ชื่นชมว่าคนไทยมีโมเดลที่ดี ซึ่งเราต้องคิดระยะยาว อย่างหวังแต่เรื่องกำไร ต้องเข้าใจว่าธุรกิจวัคซีน85%เป็นต้นทุนคงที่ จะผลิตมากผลิตน้อยก็มีต้นทุนดังกล่าว ดังนั้นการมองตลาดไปถึงประชาคมอาเซียนจึงสำคัญ เพราะยิ่งผลิตมากต้นทุนต่อหน่วยจะลดลง ความร่วมมือกับอาเซียนอาจรวมถึงการต่อรองซื้อวัคซีนร่วมกัน หากสำเร็จเราก็จะซื้อได้ในราคาที่ถูกลง” นพ.จรุง กล่าว

หวังว่าการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นในเวทีการประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติครั้งนี้ จะเป็นการตกผลึกความรู้ความเข้าใจที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรด้านวัคซีน เพื่อการขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถพึ่งตนเองและ มีความมั่นคงด้านวัคซีนต่อไปในระยะยาว โดยมีแรงสนับสนุนภาครัฐเป็นกำลังเสริมที่สำคัญ และเชื่อว่า “การเป็นศูนย์กลางวัคซีนของอาเซียน” คงไม่ไกลเกินเอื้อม สำหรับคนไทย!!!

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO