นายวราเทพ กล่าวต่อไปว่า น้ำผึ้งเป็นสินค้าเกษตรชนิดหนึ่งที่ไทยมีศักยภาพการผลิตและส่งออกสูง จึงควรสนับสนุนให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องของมาตรฐานการผลิตและคุณภาพ เพื่อให้ได้น้ำผึ้งที่มีคุณภาพและปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เกษตรกรสามารถจำหน่ายน้ำผึ้งได้ในราคาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับคุณภาพของน้ำผึ้ง อันจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งอีกทางหนึ่ง รวมทั้งพัฒนาบรรจุภัณฑ์น้ำผึ้งให้น่าสนใจ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค เพื่อให้จำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น และทำให้เกษตรหันมาสนใจอุตสาหกรรมเลี้ยงผึ้งเพิ่มมากขึ้น นายวราเทพ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งของไทยและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น น้ำผึ้ง นมผึ้ง (รอยัล เยลลี่) ไขผึ้ง เกสรผึ้ง และพรอพอลิส ได้ขยายตัวเติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยปี 2555 ประเทศไทยมีการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ในพื้นที่ 40 จังหวัด มีฟาร์มเลี้ยงผึ้ง 964 ฟาร์ม จำนวน 184,927 รัง ได้ผลผลิตน้ำผึ้ง ประมาณ 10,000 ตัน ทั้งยังผลิตนมผึ้ง (รอยัล เยลลี่) ได้ประมาณ 200 ตัน ไขผึ้ง 300 ตัน และเกสรผึ้งประมาณ 100 ตัน สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงผึ้งค่อนข้างสูง ทั้งยังเกิดการจ้างงานในระดับชุมชนและระดับประเทศ ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมผึ้งมากกว่า 10,000 คน คิดเป็นมูลค่ารวม 1,000 ล้านบาท กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐเพียงแห่งเดียว ที่ดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งให้แก่เกษตรกร ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 โดยมีศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (ผึ้ง) จำนวน 5 ศูนย์ ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการเลี้ยงผึ้ง การผลิตผึ้งให้ได้คุณภาพได้มาตรฐาน ตลอดจนสนับสนุนการเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดน้ำผึ้งตลอดห่วงโซ่การผลิต ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ความสำคัญ จึงมีการพัฒนากระบวนการเลี้ยงผึ้ง การเพิ่มมูลค่าจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดย “มหกรรมน้ำผึ้งไทยก้าวไกลสู่ครัวโลก” นี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการดังกล่าว
อนึ่ง กิจกรรมภายในงาน “มหกรรมน้ำผึ้งไทยก้าวไกลสู่ครัวโลก” ประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการวิชาการ การแสดงชีววิทยา การแสดงลักษณะน้ำผึ้งบ่มสุกจากคอนน้ำผึ้งคุณภาพดี การแสดงความหลากหลายของชนิดน้ำผึ้งในประเทศไทย การจำหน่ายน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์ผึ้งคุณภาพดี