นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุม “ซักซ้อมมาตรการของการส่งน้ำมันเชื้อเพลิง” โดยมีผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และผู้ประกอบการกิจการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและกิจการที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศ ทั้งผู้ค้า ผู้ขนส่ง และโรงกลั่นกว่า 50 บริษัทเข้าร่วมการประชุม ที่อาคารศูนย์เอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน โดยมีการแจ้งย้ำและทำความเข้าใจในการปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการประกอบกิจการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วย มาตรการป้องกันอุบัติภัย มาตรการเตือนภัย มาตรการระงับอุบัติภัย และมาตรการจัดการให้เกิดความปลอดภัย
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันได้เกิดอุบัติภัยเกี่ยวกับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงบ่อยครั้งจึงต้องการให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงมาตรการความปลอดภัยที่กระทรวงพลังงานกำหนดขึ้น ทั้งในด้านการขนส่งทางน้ำ การขนส่งทางท่อ การขนส่งทางรถยนต์ และการขนส่งทางรถไฟ โดยมาตรการป้องกันอุบัติภัยกำหนดให้ต้องมีการออกแบบระบบการขนส่งพร้อมอุปกรณ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมระดับสากล รวมทั้งต้องทำการทดสอบตรวจสอบระบบพร้อมอุปกรณ์ก่อนและระหว่างการใช้งาน ที่สำคัญการดำเนินการดังกล่าวต้องทำโดยผู้ทดสอบและตรวจสอบที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมธุรกิจพลังงานเท่านั้น
ทางด้านมาตรการเตือนภัย ในส่วนของระบบการขนส่งทางท่อเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินต้องมีระบบเตือนภัยอัตโนมัติผ่านระบบสื่อสารไปยังห้องควบคุมหรือControl Room ส่วนระบบการขนส่งทางรถต้องมีการติดตามความเคลื่อนไหวโดยใช้ระบบ GPS และให้ผู้ประกอบกิจการขนส่งแจ้งกรมธุรกิจพลังงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทุกครั้งเช่นเดียวกับการขนส่งทางรถไฟ
ส่วนมาตรการระงับอุบัติภัย ในระบบการขนส่งทางรถไฟและการขนส่งทางรถต้องมีการติดตั้งถังดับเพลิงแบบเคมีแห้ง และมีอุปกรณ์ควบคุมการไหลได้ในระยะปลอดภัย ซึ่งสามารถปิดตัวเองทันทีหากเกิดเพลิงไหม้
สุดท้ายคือมาตรการจัดการให้เกิดความปลอดภัยต้องมีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรการโดยเคร่งครัด ผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับการอบรม มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย มีการจัดทำแผน และมีการฝึกซ้อมเป็นประจำทุกปี
สำหรับการขนส่งทางน้ำนั้นมีขั้นตอนพิเศษที่กำหนดให้ต้องดำเนินการ นั่นคือต้องมีการประเมินความปลอดภัยของเรือก่อนทำสัญญาว่าจ้างขนส่งน้ำมันดิบ ประชุมทำความเข้าใจในเรื่องของการปฏิบัติงาน ตรวจสอบความปลอดภัยร่วมกันระหว่างเรือและท่าเรือ อุปกรณ์ทางด้านความปลอดภัยและป้องกันมลภาวะ ทั้งนี้ต้องมีการเตรียมพร้อมให้สามารถใช้งานได้ทันที โดยเฉพาะท่อยางจะต้องถูกเปลี่ยนทันทีเมื่อพบสภาพความเสียหาย
ปัจจุบันการขนส่งน้ำมันในประเทศไทยทางทะเลใช้ท่อเป็นอุปกรณ์ลำเลียง ซึ่งท่อที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทThai Oil มีความยาวท่อ 16 กม. อยู่ที่จังหวัดชลบุรี ท่อที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทPTT GC ความยาวท่อ 20 กม. อยู่ที่จังหวัดระยอง และท่อที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท Pan Asia ความยาวท่อ 6.5 กม. อยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี ส่วนระบบท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติทั้งในทะเลและบนบกมีความยาวรวมทั้งสิ้น 4,837 กิโลเมตร
ระบบขนส่งทางบก มีรถบรรทุกขนส่งทั้งน้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ก๊าซธรรมชาติ รวมกันทั้งสิ้น 17,642 คัน และจำนวนโบกี้ขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางรถไฟ มีจำนวนทั้งสิ้น 1,060 โบกี้
นอกจากนี้นายพงษ์ศักดิ์ ยังได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทุกรายให้ปฏิบัติถูกต้องตามมาตรการอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ และยังได้กำชับให้ผู้ปฏิบัติงานด้านน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมีบัตรพนักงาน ผ่านการอบรมตามกฎหมาย และต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง