งานแถลงข่าว Accademia Italiana for Thailand & Central Group

พุธ ๑๔ สิงหาคม ๒๐๑๓ ๑๓:๒๗
บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ร่วมกับ สถาบันอาคาเดเมียร์ อิตาเลียนาจัดงาน Accademia Italiana for Thailand & Central Group สร้างสรรค์ไหมไทยสู่แฟชั่นโลกนำดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ร่วมดีไซน์ผลงานจากผ้าไหมและผ้าฝ้ายชาวเขาจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ

ด้วยเล็งเห็นคุณค่าของผ้าไหมไทยและผ้าฝ้ายชาวเขาซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ รวมทั้งเพื่อเป็นการสืบสานและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางเพื่อการพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และมูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์ ร่วมกับ สถาบันแฟชั่นและการออกแบบ อาคาเดเมียร์ อิตาเลียนา (Accademia Italiana Fashion & Design Institute) เตรียมนำผ้าไหมที่ได้รับความเสียหายจากการถูกน้ำท่วมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และผ้าฝ้ายชาวเขามาให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ซึ่งเป็นนักเรียนของสถาบันออกแบบเป็นชุดแฟชั่นนำสมัย เพื่อนำไปวางจำหน่ายที่ลา รีนาเซนเต ห้างสรรพสินค้าชื่อดังในประเทศอิตาลี ซึ่งบริหารงานโดยบริษัทในกลุ่มเซ็นทรัล

บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และอาคาเดเมียร์ อิตาเลียนา ได้ร่วมกันเปิดเผยความร่วมมือครั้งสำคัญพร้อมโชว์ศักยภาพด้านดีไซน์ที่ผสานกับผ้าไหมไทยและผ้าฝ้ายชาวเขาได้อย่างลงตัว ภายในงานแถลงข่าวการจัดงาน Accademia Italiana for Thailand & Central Group โดยมี ท่านผู้หญิง ภรณี มหานนท์ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ, สุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และ มร.วินเซนโซ จุบบา ผู้บริหาร สถาบันอาคาเดเมียร์ อิตาเลียนา ซึ่งจัดขึ้น ณ ร้านอาหาร Zense ชั้น 17 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อเร็วๆ นี้

ท่านผู้หญิง ภรณี มหานนท์ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ กล่าวถึง พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถที่ทรงอนุรักษ์ผ้าไหมไทยมิให้สูญหายไปจากสังคมไทย โดยนอกจากทรงรับซื้อผ้าไหมจากชาวบ้านแล้ว ยังทรงส่งเสริมอาชีพแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม กระทั่งทอเป็นผ้าไหม เพื่อให้พสกนิกรสามารถมีอาชีพที่ยั่งยืน

“สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นห่วงว่าผ้าไหมไทยจะหายไปจากสังคมไทย จึงมีรับสั่งให้ชาวบ้านทอผ้าเพิ่มจากเดิมที่ทอใช้ภายในครอบครัวโดยทรงรับซื้อไว้ทั้งหมด นอกจากนี้พระองค์ท่านก็ทรงนำผ้าที่ชาวบ้านทอไปให้ดีไซเนอร์ดังๆ ของโลกนำไปออกแบบตัดเย็บฉลองพระองค์ อย่างในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ก็จะเห็นว่ามีฉลองพระองค์ในรูปแบบต่างๆ ที่ตัดเย็บจากผ้าไหมทั้งสิ้น ซึ่งเป็นอีกวิธีในการอนุรักษ์ศิลปะที่แทบจะสูญหายไปจากแผ่นดินไทย ทั้งยังทรงชักชวนให้ข้าราชบริพารใช้ผ้าไหมตามพระองค์ด้วย

“รวมทั้งทรงส่งเสริมให้ชาวบ้านเรียนรู้ทุกขั้นตอนในการผลิตผ้าไหมแบบครบวงจร ทั้งปลูกหม่อน เลี้ยงไหมซึ่งเป็นอาชีพเสริมที่สำคัญ บางคนแทบไม่ต้องทอผ้า แต่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผลิตเฉพาะเส้นไหมก็มีคนมาขอซื้อเส้นไหมแล้ว เพราะไหมไทยแท้จะมีสีเหลือง เส้นเหนียว เมื่อนำมาทอจะได้ผ้าไหมที่งดงามมาก และต้นหม่อนให้ผลที่เรียกว่า มัลเบอร์รี่ ซึ่งนิยมรับประทานกันสดๆ หรือจะคั้นน้ำมาดื่มก็อร่อย นำไปหมักทำไวน์ก็ดี ส่วนใบหม่อนนอกจากไปเลี้ยงหนอนไหมแล้ว ก็ยังสามารถนำไปทำชาหม่อนมีคุณสมบัติในการลดคลอเลสตอรอล การส่งเสริมครบวงจรในลักษณะนี้ทำให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอ และมีรายได้ทดแทนหากที่นาเสียหายในช่วงน้ำท่วม หรือฝนแล้ง และเป็นอาชีพเสริมที่ทำอยู่กับบ้านได้ มีรายได้มากพอที่จะยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง”

พร้อมกันนี้ ท่านผู้หญิงภรณี ได้กล่าวถึงผ้าไหมของมูลนิธิศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยเมื่อปี 2554 ว่า “ผ้าไหมจำนวนหลายหมื่นเมตรที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงรับซื้อมาจากสมาชิกศิลปาชีพทั่วประเทศ ซึ่งเก็บไว้ที่คลังผ้าไหมตั้งอยู่ที่ ต.เกาะเกิด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ถูกน้ำท่วมทั้งหมด ผ้าแช่อยู่ในน้ำเป็นเดือน สภาพส่วนใหญ่ก็ยังดี แทนที่จะทิ้งให้สูญเปล่าจึงนำผ้าเหล่านี้มาทำความสะอาดและผ่านการฆ่าเชื้อโรค เพื่อนำออกจำหน่ายหารายได้หมุนเวียนกลับมาให้ศิลปาชีพอีกครั้ง โดยผ้าไหมเหล่านี้สามารถนำไปตัดเย็บได้เลย ส่วนสีสันอาจจะเป็นเทรนด์ใหม่ที่ผ้าด่างก็สวยได้ ที่สำคัญแต่ละผืนด่างไม่เหมือนกันด้วย เรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละผืนที่ไม่ซ้ำกันก็ว่าได้”

ปัจจุบัน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ พยายามส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปใส่ผ้าไหม ไม่ใช่ใส่เฉพาะคนสูงอายุ แต่แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นลูกก็ใส่ผ้าไหมได้ รวมทั้งสามารถดูแลรักษาได้ไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องส่งซักแห้งแต่ซักแบบเสื้อผ้าธรรมดาก็ได้ ที่สำคัญผ้าไหมยิ่งซัก ยิ่งสวย ยิ่งนิ่ม ที่สำคัญดีไซเนอร์รุ่นใหม่ก็สามารถออกแบบเสื้อผ้าออกมาได้โดนใจวัยรุ่นมากขึ้น

สุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวถึงแนวทางดำเนินงานของมูลนิธิเตียงฯ ที่มุ่งสร้างแนวทางในการพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืนในด้านการพัฒนาอาชีพในด้านศิลปะวัฒนธรรมไทย โดยความร่วมมือในโครงการดังกล่าวนั้นเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการนำ ผ้าไทยมาประยุกต์ใช้ในโลกแฟชั่น ผ่านการสร้างสรรค์จากดีไซเนอร์รุ่นใหม่ในสถาบันแฟชั่นนานาชาติซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

“สำหรับโครงการล่าสุดที่บริษัทบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัดและมูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์ ได้ร่วมมือกับสถาบันอาคาเดเมียร์ อิตาเลียนา ซึ่งเป็นสถาบันออกแบบแฟชั่นชื่อดังจากประเทศอิตาลีถือเป็นการเผยแพร่ผ้าไหมไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติ โดยผ้าไหมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่นำมาทำคอลเล็คชั่นพิเศษครั้งนี้จะเป็นผ้าไหมที่เสียหายจากอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2554 ที่ผ่านมา แต่ได้รับการดูแลให้ยังคงความงดงามเสมอ อีกทั้งยังสามารถนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าที่เข้ากับยุคสมัยด้วยฝีมือดีไซเนอร์รุ่นใหม่ เพื่อให้เห็นถึงความงดงาม ที่สำคัญสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ด้วยกลิ่นอายความเป็นไทย ผสมความโมเดิร์น ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เห็นถึงความสำคัญของผ้าไทยและผ้าฝ้ายชาวเขาได้มากขึ้นโดยผลงานที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 10 ชุดจะได้รับการผลิตเพื่อจำหน่ายในลา รีนาเซนเต ห้างสรรพสินค้าสุดหรูอันดับหนึ่งในประเทศอิตาลี ปัจจุบันบริหารงานโดยเครือกลุ่มบริษัทเซ็นทรัล เพื่อเป็นการเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศสู่สายตาสาธารณชนในระดับสากล

นอกจากนี้ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของมรดก ศิลปะของไทย ผ้าไหมและผ้าชาวเขาของทุกจังหวัด ทุกหมู่บ้านชาวเขามีประวัติศาสตร์ มีวิถีชีวิตที่เป็นวัฒนธรรมหยั่งรากลึก ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนเป็นงานทำมือที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ตั้งแต่เนื้อผ้า ลวดลาย วิธีการทอ สีสันที่ใช้ ทางมูลนิธิเตียงฯ จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์วิถีชีวิตของชาวเขาที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมในการสวมใส่ผ้าทอของเขาไว้เป็นอย่างดี อีกทั้งต้องการสนับสนุนเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักและสัมผัสผ้าฝ้ายของชาวไทยภูเขาด้วย

“ทางมูลนิธิเตียงฯ เห็นว่าชาวบ้านที่มีอาชีพทอผ้าซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การทอผ้าอย่างเดียวไม่พอเลี้ยงชีพ ทั้งยังต้องซื้อวัตถุดิบเส้นฝ้ายเองอีกด้วย จึงได้ริเริ่มโครงการสนับสนุนการปลูกฝ้ายออแกนิค การใช้สีย้อมธรรมชาติ เพื่อลดต้นทุน ทั้งยังได้สิ่งแวดล้อมที่ดีและสามารถนำความรู้ความสามารถมาใช้ได้อย่างเต็มที่ พร้อมกับการสนับสนุนให้ปลูกการทำอาชีพผสมผสาน นอกจากการผลิตผ้าชาวเขาและปลูกฝ้ายแล้ว เรายังสนับสนุนการปลูกพืชเศรษฐกิจที่เป็นไม้ยืนต้น เช่น การปลูกแมคคาเดเมียและกาแฟปลอดสารพิษหรือออแกนิค ซึ่งพันธุ์ไม้ 2 ชนิดนี้สามารถปลูกในพื้นที่เดียวกัน โดยแมคคาเดเมียที่มีต้นสูงใหญ่จะให้ร่มเงาต้นกาแฟได้

ซึ่งจะให้ประโยชน์ทั้งการฟื้นฟูพื้นที่บนเขาและให้ผลิตผล โดยจะดำเนินการนำร่องแห่งแรกที่ ดอย แบแล ต.สบโขง ดอยบ้านมูเซอ ต.ม่อนจอง และ บ้านด้ายปูลิง ต.ม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ 20 หมู่บ้าน เพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดการเกิดปัญหาสังคมทั้งหมด สามารถส่งลูกเรียนได้ มีบ้านอยู่ มีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยจะลงไปสนับสนุนชุมชนให้ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญที่สุดการทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่สมบูรณ์แบบที่สุดจะต้องนำจุดแข็งของธุรกิจมาเอื้อประโยชน์ให้กับสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งดำเนินงานของมูลนิธิเตียงฯ เราเน้นให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงได้พัฒนาโครงการให้ตรงกับความต้องการของสังคมมากที่สุด โดยได้จัดตั้ง “โครงการเซ็นทรัลอาสาพัฒนาชุมชน” ขึ้นเพื่อช่วยเหลือชุมชนและพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง โดยน้อมนำแนวทางพระราชดำริ เพื่อเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาประยุกต์ใช้ ด้วยการส่งเสริมให้มีอาชีพหลักและอาชีพเสริมที่มั่นคงอย่างยั่งยืนกับชุมชน โดยพิจารณาจากความสามารถและทรัพยากรของแต่ละชุมชน ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและลดการเกิดปัญหาสังคมทั้งหมด”

ด้าน มร.วินเซนโซ จุบบา ผู้บริหาร สถาบันอาคาเดเมียร์ อิตาเลียนา กล่าวถึงที่มาของสถาบันฯ รวมทั้งบทบาทในการสนับสนุนด้านการออกแบบ โดยการนำผ้าที่ถูกน้ำท่วมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ มาสร้างสรรค์ผลงานเสื้อผ้าแบบร่วมสมัยซึ่งนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของดีไซเนอร์รุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี

สถาบันอาคาเดเมียร์ อิตาเลียนา เป็นสถาบันแฟชั่นการออกแบบนานาชาติที่ดำเนินกิจการมากว่า 30 ปีแล้ว ตั้งอยู่ที่ฟลอเรนซ์ และโรม ประเทศอิตาลี โดยได้เปิดทำการในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นสถาบันเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับการรับรองจากทั้งสถาบันอาคาเดเมียร์ อิตาเลียนา ประเทศอิตาลี และมหาวิทยาลัยเวลส์ ประเทศอังกฤษ โดยมีจุดมุ่งหมายในการนำวิธีการสอนในแขนงการออกแบบ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากประสบการณ์ที่สั่งสมใน ประเทศอิตาลี และได้แพร่ขยายออกไปทั่วโลก ในโลกปัจจุบัน การออกแบบถือเป็นปรากฏการณ์สากล ซึ่งเกิดขึ้นจากความคิดของแต่ละบุคคล ที่นำมาประยุกต์ใช้กับโลกปัจจุบัน”

ทั้งนี้ในทุกๆ ปี ทางสถาบันอาคาเดเมียร์ อิตาเลียนามีการมอบรางวัลพีรามิดให้กับผู้คนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะบุคคลรุ่นใหม่ที่มีผลงานโดดเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์ เช่น วิเวียน เวสต์วู้ด จอห์น ริชมอน สวารอฟสกี้ เป็นต้น และหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัล คือ สุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ซึ่งปัจจุบันได้เข้ามาบริหารห้างสรรพสินค้าที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานคู่กับประเทศอิตาลี หลังจากนั้นจึงจัดให้มีโครงการในเรื่องการส่งเสริมอาชีพให้กับประเทศด้อยโอกาส เริ่มต้นด้วยโครงการผ้าของประเทศแอฟริกา โดยให้นักเรียนของสถาบันฯ ที่ประเทศอิตาลี ออกแบบเสื้อผ้าโดยใช้ผ้าจากแอฟริกา โดยทางห้างลา รีนาเซนเต ดูแลในเรื่องการจำหน่ายและการโฆษณา จากนั้นจึงมีไอเดียว่าน่าจะใช้ผ้าของคนไทยด้วย คือ ผ้าไหมและผ้าฝ้ายชาวเขาจากมูลนิธิศิลปาชีพ ซึ่งเป็นที่มาของการร่วมมือกันในครั้งนี้

“ทางสถาบันฯ มีความยินดีอย่างยิ่งสำหรับความร่วมมือครั้งนี้ โดยมีการจัดประกวดเพื่อให้นักศึกษาส่งผลงานสร้างสรรค์ผ้าที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯมาออกแบบเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นร่วมสมัยที่ผสมผสานคุณค่าของไหมไทยและการออกแบบที่ทันสมัยมารวมกันไว้อย่างลงตัว ทั้งนี้ผลงานการออกแบบทั้งหมดจะปรากฏในแฟชั่นโชว์ก่อนจบการศึกษาในเดือน พฤษภาคม 2557 โดยผลงานการออกแบบผ้าที่ถูกน้ำท่วมที่เข้าร่วมประกวดทั้ง 20 ชุดจะได้รับการคัดเลือกให้เหลือ 10 ชุด และจะได้รับการผลิตเพื่อจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชื่อดังในอิตาลีซึ่งเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นของโลก”

นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่นอกจากเป็นการเผยแพร่ภูมิปัญญาของไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลแล้ว หากยังเป็นการยกระดับผ้าไหมไทยให้ก้าวสู่เวทีแฟชั่นโลกอีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ