รศ.ดร.ดารณี ศักดิ์ศิริผล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาการศึกษาพิเศษ มศว เปิดเผยว่า จากที่สถาบันวิจัยและพัฒนาการศึกษาพิเศษได้ทำวิจัยและบริการวิชาการมาอย่างต่อเนื่องในเรื่องของการคัดกรองกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาในด้านการอ่าน การเขียน การฟัง และการคิดคำนวณ ดังนั้นเด็ก LD มักมีความบกพร่องของสมองส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการถอดรหัสภาษาไปสู่เสียง ทำให้ยากลำบากมากในการอ่าน เขียน โดยเด็กอาจจำเป็นต้องชดเชยความบกพร่องนี้ด้วยระบบภาษาอีกแบบหนึ่งคือเป็นภาษารูปภาพ ไม่ต้องมีการถอดรหัสตัวอักษรไปสู่เสียงเหมือนระบบภาษาไทย ภาษาอังกฤษ โดยทั่วไปเด็กชั้นประถมปีที่ 1-2 จะเรียนรู้วิธีการอ่านแต่เมื่อเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้นเด็กจะต้องใช้การอ่านเพื่อการเรียนรู้ ดังนั้นการคัดกรองเบื้องต้นจึงมีความสำคัญมาก เพื่อให้เด็กได้รับการแก้ไขและพัฒนาในจุดบกพร่องของเขาได้ตรงจุดมากที่สุด
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาการศึกษาพิเศษ กล่าวต่อว่า การอ่านไม่ออกเกิดจากสมองซึ่งทำหน้าที่ในการถอดรหัสภาษามีความบกพร่อง แยกแยะตัวอักษรที่มีลักษณะคล้ายกันไม่ออก สับสนหัวเข้าหัวออกของตัวอักษร เช่น ถ-ภ สับสนตัวเลข เช่น 6-9 ดังนั้นควรมีกระบวนการตรวจสอบทักษะการอ่านเขียนของเด็กอย่างใกล้ชิด อีกทั้งเด็กกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยมีระดับสติปัญญาอยู่ในระดับสูงกว่าปานกลางจนถึงขั้นเฉลียวฉลาด การจัดระบบการเรียนรู้ ความเข้าใจจากครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องกับเด็กจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
สถาบันวิจัยและพัฒนาการศึกษาพิเศษจึงจัดโครงการ ปลดล็อค..วัยKIDS พิชิตการอ่านขึ้น เพื่อทำการคัดกรองเบื้องต้นโดยค้นหาว่าเด็กมีจุดที่จะพัฒนาหรือส่งเสริมในเรื่องใด จากการวินิจฉัยโดยผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านเด็ก เช่น ถ้าเด็กต้องได้รับการส่งเสริมในเรื่องของภาษา นักวิชาการก็จะกระตุ้นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมและใช้อุปกรณ์การสอนมาช่วยเพื่อให้เด็กจำได้ง่ายยิ่งขึ้น เป็นต้น สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาการศึกษาพิเศษ อาคาร 28 ชั้น 1 สำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา โทรศัพท์ 02-649-5000 ต่อ 1-5639 , 086-895-1616 http://rise.swu.ac.th.