นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายด้านความมั่นคงของชีวิตและสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการให้ดียิ่งขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นแกนกลางการบูรณาการกับหน่วยงาน องค์กรคนพิการ และทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ (พ.ศ.๒๕๕๕ — ๒๕๕๙) ในภาพรวมที่ครอบคลุมทุกมิติของชีวิตคนพิการ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยรัฐบาลมีจุดมุ่งหมายที่จะสนับสนุนให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอย่างอิสระร่วมกับทุกคนในสังคมอย่างมีความสุขและเสมอภาค
กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายร่วมกับกระทรวงแรงงาน ตระหนักถึงความสำคัญของการมีอาชีพการมีงานทำของคนพิการ เนื่องจากจะทำให้คนพิการมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองของคนพิการอย่างยั่งยืน เป็นการเปลี่ยนคนพิการจาก “ภาระ” ให้เป็น “พลัง ” ของครอบครัว สังคม และประเทศชาติ
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า นับตั้งแต่กฎหมายเรื่องการจ้างงานคนพิการมีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ได้ร่วมกับกระทรวงแรงงาน องค์กรด้านคนพิการ หน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน ดำเนินการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิด้านอาชีพและการมีงานทำของคนพิการอย่างต่อเนื่อง อาทิ ๑) โครงการมหกรรมเสริมสร้างการเข้าถึงสิทธิและอาชีพคนพิการ เป็นการเผยแพร่สร้างความรู้เกี่ยวกับการจ้างงานคนพิการ รวมทั้งการประกาศเจตนารมณ์ “ร่วมส่งเสริมสิทธิการเข้าถึงอาชีพและมีงานทำของคนพิการ” ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชน ๑๑ แห่ง ๒)โครงการเตรียมความพร้อมการเข้าถึงสิทธิและพัฒนาทักษะชีวิตคนพิการสู่การมีอาชีพที่มั่นคง เพื่อเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะด้านสังคมและอาชีพแก่คนพิการ ทั้งการทำงานในสถานประกอบการ ตามมาตรา ๓๓ และการรับบริการจ้างเหมาหรือการรับงานมาทำ ในลักษณะรวมกลุ่มประกอบอาชีพของคนพิการทางสติปัญญา ตามมาตรา ๓๕ ๓)โครงการสัปดาห์รณรงค์การจ้างงานคนพิการ ๗ วัน ๗๐๐ ตำแหน่ง โดยการออกหน่วยจัดหางานคนพิการเคลื่อนที่พร้อมกัน ๗ วัน ระหว่างวันที่ ๑๔—๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๕ พื้นที่ดำเนินการ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีคนพิการเข้าร่วมสมัครงาน จำนวน ทั้งสิ้น ๘๖๔ ราย ๔) โครงการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิด้านอาชีพของคนพิการ โดยการค้นหาสำรวจคนพิการที่ต้องการทำงานในสถานประกอบการ และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจสิทธิด้านอาชีพและการมีงานทำให้แก่คนพิการ รวมทั้งลงทะเบียนจัดหางานและฝึกอบรมเตรียมความพร้อมคนพิการสู่การมีงานทำที่มั่นคง โดยดำเนินการในพื้นที่ ๕๗ จังหวัด ตามรายชื่อคนพิการที่แจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิด้านอาชีพจากข้อมูลการจดทะเบียนคนพิการ ๕)โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการสู่ภาคอุตสาหกรรม รุ่นที่ ๑ วัตถุประสงค์ เพื่อให้สถานประกอบการมีความเข้าใจในด้านกฎหมายการจ้างงานคนพิการ และมีความพร้อมที่จะรับคนพิการเข้าทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพคนพิการด้านอาชีพ ให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ และ ๖)โครงการการเข้าถึงสิทธิการมีงานทำของคนพิการในหน่วยงานของรัฐโดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างทั่วถึง โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐทุกประเภท อาทิ กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์การอิสระ รวม ๑,๐๐๐ คน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจการปฏิบัติตามกฎกระทรวงเกี่ยวกับการจ้างงานคนพิการ
ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินโครงการต่างๆ ส่งผลให้มีคนพิการได้รับการจ้างงานมากขึ้น โดยขณะนี้มีสถานประกอบการที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐต้องรับคนพิการ เข้าทำงานในสัดส่วน ๑๐๐ ต่อ ๑ หรือดำเนินการตามมาตรา ๓๕ จำนวน ๑๒,๗๐๒ แห่ง และในปี ๒๕๕๖ มีคนพิการได้ทำงานในสถานประกอบการ จำนวน ๑๙,๒๒๑ คน และได้รับการสร้างงานสร้างอาชีพโดยการให้สัมปทาน หรือจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าตามมาตรา ๓๕ จำนวน ๒,๕๑๓ คน รวมทั้งสิ้น ๒๑,๗๓๔ คน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบการจ้างงานคนพิการย้อนหลัง ๓ ปี ในปี ๒๕๕๔ มีคนพิการทำงานในสถานประกอบการ จำนวน ๕,๔๔๔ คน ปี ๒๕๕๕ จำนวน ๑๗,๕๐๕ คน และในปี ๒๕๕๖ จำนวน ๒๑,๗๓๔ คน และมีแนวโน้มว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
“การจัดงาน นัดพบแรงงานคนพิการ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจ ชีวิตมีสุข ครั้งนี้ จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่สถานประกอบการ บริษัท ห้างร้านต่างๆ ในการส่งเสริมและให้โอกาสคนพิการและครอบครัว ได้มีอาชีพ มีงานทำ นอกจากนี้ ยังทำให้คนพิการรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เกิดความภาคภูมิใจ มีความมั่นใจในตนเอง และได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้นอีกด้วย” นายอนุสรณ์ กล่าวตอนท้าย.