ส.อ.ท. รุดยื่นเสนอแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการ LPG ต่อนายกรัฐมนตรี หวังสร้างมาตรการสนับสนุนการใช้พลังงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

ศุกร์ ๑๖ สิงหาคม ๒๐๑๓ ๑๕:๒๐
คลัสเตอร์ปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยื่นเสนอแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ LPG เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศไทย แก่นายกรัฐมนตรี หวังผลักดันสร้างมาตรการสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คลัสเตอร์ปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้จัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ LPG เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศไทย เสนอแก่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณากำหนดเป็นมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ก๊าซ LPG อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นคงในการจัดหาก๊าซ LPG ของประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี 2558 พร้อมช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการ SMEs อย่างเหมาะสม

“เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้มีการปรับตัวขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ประกอบการต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้นของโรงกลั่นน้ำมันฯ ส่งผลให้การดำเนินนโยบายการควบคุมราคาก๊าซ LPG ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดโลกเป็นอย่างมาก นำไปสู่การบิดเบือนราคาที่ไม่สะท้อนราคาที่แท้จริง รวมทั้งยังก่อให้เกิดการใช้ก๊าซ LPG อย่างขาดประสิทธิภาพ และมีการลักลอบนำไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน จนเป็นเหตุให้ปริมาณการผลิตก๊าซ LPG ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้ในอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันฯ และกลุ่มผู้ค้าน้ำมันได้มีการจัดหาเพิ่มเติมโดยการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่เนื่องจากขีดความสามารถในการนำเข้ามีอย่างจำกัด จึงอาจนำไปสู่การขาดแคลนขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ และด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ LPG เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศไทยขึ้น เพื่อเป็นแนวทางการสร้างมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ก๊าซ LPG อย่างมีประสิทธิภาพ ในลำดับต่อไป”

ด้าน ผู้แทนคลัสเตอร์ปิโตรเคมี ส.อ.ท. เผยว่า สำหรับข้อเสนอแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการ LPG ของสภาอุตสาหกรรมฯ มีเจตนาที่ต้องการเห็นภาครัฐมีนโยบายเชิงบูรณาการในการสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งในด้านของนโยบายเชิงปฏิบัติการ และนโยบายด้านโครงสร้างราคา โดยมีรายละเอียดดังนี้

ข้อเสนอนโยบายเชิงปฏิบัติการ

1. บูรณาการปรับปรุงระบบขนส่ง โลจิสติกส์ของประเทศด้วยความร่วมมือของหน่วยที่เกี่ยวข้อง

2. กำหนดผังเมือง (ที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม อาคารพาณิชย์ ศูนย์ธุรกิจ)

3. ส่งเสริมและผลักดันการดำเนินการตามนโยบายการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการกำหนดมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงาน (Building Code) รวมถึงบ้านเรือนและโรงงานตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ไฟฟ้า (เบอร์ 5) รวมถึงการส่งเสริมการใช้รถยนต์ประหยัดพลังงาน (Eco car / Flex-Fuel car) และการศึกษาการใช้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมเซรามิก แก้วและกระจก ที่ประหยัดพลังงาน

4. สนับสนุนเงินลงทุน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Soft Loan และมาตรการจูงใจทางด้านภาษี ให้เกิดการปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

5. ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอื่นแทนการใช้ LPG เพื่อช่วยเหลือ SMEs อาทิ มีการศึกษาและวิจัยเชื้อเพลิงเผาไหม้ประเภทอื่นที่มีประสิทธิภาพ และต้นทุนต่ำ เพื่อทดแทนการใช้ LPG เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) พลังงานชีวมวล (Biomass) ก๊าซธรรมชาติ (NGV) เพื่อรองรับการใช้พลังงานของผู้ประกอบการ SMEs ภายในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมเซรามิก แก้วและกระจก ฯลฯ และ

6. เสนอให้แก้ไขกฎระเบียบ เรื่องการครอบครอง LPG เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเซรามิก SMEs ภายในประเทศ

ข้อเสนอนโยบายด้านโครงสร้างราคา

1. เสนอให้ใช้กลไกราคาตลาดเป็นตัวกำหนดราคาพลังงาน เพื่อให้ประชาชนตระหนักคุณค่าที่แท้จริง และเกิดการประหยัด

- ลดบทบาทกองทุนฯ ในการ Cross subsidy เชื้อเพลิงบางประเภท

- ทยอยปรับราคาขายให้สะท้อนราคาตลาดโลกและต้นทุนที่แท้จริง

- การตรึงราคาชั่วคราวอาจดำเนินการได้ โดยใชงบประมาณส่วนกลาง ภายใต้กรอบระยะเวลาที่ชัดเจน และไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงประเภทอื่น

- ยกเลิกการเก็บภาษีหรือเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ จากการใช้ก๊าซ LPG เป็นวัตถุดิบในการผลิตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตามหลักสากล

2. เสนอให้มีการปรับนโยบายภาษีสรรพสามิตของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดให้เหมาะสมและเป็นธรรมตามประสิทธิภาพค่าความร้อนของเชื้อเพลิง และตามหลักสากล

3. เสนอให้เปลี่ยนการอุดหนุนราคา (Product subsidy/ Universal subsidy) เป็นการช่วยเหลือผู้ใช้ที่มีรายได้น้อยโดยตรง (Demand subsidy / Direct subsidy) ภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน โดยการกำหนดเกณฑ์ในการจัดกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และหรือผู้ประกอบการ SMEs ที่สมควรได้รับการอุดหนุนราคา LPG อย่างเหมาะสม และเข้าถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่น ประเทศอินเดียอุดหนุนราคาพลังงานให้กับกลุ่มเกษตรกรโดยตรง

อย่างไรก็ตาม สภาอุตสาหกรรมฯ เชื่อว่าหากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนและร่วมผลักดันแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ LPG ข้างต้นให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้วนั้น จะสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ประเทศไทยในอนาคตมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่แนวทางการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนในที่สุด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ
๑๖:๑๘ ทรู คอร์ปอเรชั่น เตรียมเปิดจองซื้อหุ้นกู้ชุดใหม่รับปีมะเส็ง ตอบโจทย์นักลงทุนที่มองหาโอกาสสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคง
๑๖:๒๕ วัน แบงค็อก เตรียมเฉลิมฉลองเคาท์ดาวน์ศักราชใหม่สุดยิ่งใหญ่
๑๖:๐๖ EXIM BANK โชว์ศักยภาพ SFI แห่งแรกได้รับมาตรฐานสากล ISO 14064-1:2018 เดินหน้าบทบาท Green Development Bank
๑๖:๑๙ ซานตาคลอส ฟลายอิ้ง ส่งความสุขในเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๑๖:๔๓ Spacely AI คว้ารางวัลที่สาม ในการแข่งขันนวัตกรรมระดับโลกของ SketchUp
๑๖:๓๒ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ทุ่มกว่า 1.6 ล้าน มอบความห่วงใย ร่วมฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังจากน้ำท่วมใหญ่
๑๖:๒๑ NRF เปิดตัว Mini C สาขาใหม่ในสหราชอาณาจักร ตอกย้ำกลยุทธ์ค้าปลีกแบบ Hub and Spoke ยอดขายทะลุเป้า พร้อมกระแสรีวิว 5 ดาวจากลูกค้า
๑๖:๓๘ บางจากฯ ร่วมสร้างสีสัน ส่งต่อสุขภาพดี ชวน เมย์ รัชนก ร่วมแข่งกีฬา Econmass Sport Day 2024
๑๖:๐๐ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เอิ้นหาพี่น้องโค้งสุดท้าย! ชวนมาม่วนซื่นส่งท้ายปี สูดอากาศดีกลางทุ่งดอกไม้บาน ชมงานศิลป์สุดอลัง พร้อมกิจกรรมม่วน ๆ ทั้งครอบครัว 2 สัปดาห์สุดท้าย