ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า การจัดมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ๒๕๕๖ (Thailand Research Expo 2013) ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ ๘ โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับเครือข่ายภาคีระบบวิจัยทั่วประเทศ นำผลงานวิจัยที่มีศักยภาพมีความความโดดเด่นมาจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งถือเป็นเวทีระดับชาติที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยไทยทั่วประเทศได้มานำเสนอผลงานวิจัย ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม อย่างยั่งยืน” ภายในงานจะแบ่งเป็น ๒ ภาคส่วน คือ ภาคนิทรรศการ และการประชุม/สัมมนาในประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับการวิจัย
ภาคนิทรรศการ ประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ในด้านการทรงงานที่เกี่ยวกับการวิจัย หรือการนำงานวิจัยไปใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ และนิทรรศการผลงานวิจัยของหน่วยงานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า ๖๐๐ ผลงาน เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ใน ๕ กลุ่มเรื่อง ได้แก่ งานวิจัยพื้นฐาน, งานวิจัยเชิงประยุกต์ด้านคุณภาพชีวิตและสังคม, งานวิจัยเชิงประยุกต์ด้านธรรมาภิบาลและคอร์รัปชั่น งานวิจัยเชิงประยุกต์ด้านเศรษฐกิจ และงานวิจัยเชิงประยุกต์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“ปีนี้ วช. ไม่ได้เน้นแต่งานวิจัยที่มุ่งประโยชน์เพื่อเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ได้มุ่งเน้นงานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่างานวิจัยเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนสามารถชมและหยิบยกนำไปพัฒนาต่อยอด ปรับใช้ให้เข้ากับปัญหาหรือความต้องการของตนเอง อาทิ งานวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรสำหรับมันสำปะหลังของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็เป็นเรื่องที่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังควรจะได้รู้ว่าเครื่องจักรกลตัวนี้จะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต หรือเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังได้อย่างไร หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจว่านอกจากจะปลูกและเก็บหัวมันขายเพียงอย่างเดียว เกษตรกรจะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากมันได้อย่างไรบ้าง และหากนำมันสำปะหลังไปพัฒนาแปรรูปจำหน่ายเองได้ด้วยก็จะเป็นการเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง”
เลขาธิการ วช. กล่าวต่อว่า บนเวทีกลางยังได้นำเสนอผลงานวิจัยที่มีความโดดเด่นเพื่อนำสู่การใช้ประโยชน์และเชิงพาณิชย์ เช่น ผลงานวิจัย/ผลงานประดิษฐ์คิดค้นที่ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ผลงานประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลจากงาน Seoul International Invention Fair [SIIF] 2012 จากประเทศสาธารณรัฐเกาหลี และจากงาน41st International Exhibition of Inventions of Geneva ประเทศสมาพันธรัฐสวิส โดยเสนอในรูปแบบของการถอดบทเรียน ถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคนิค เช่น การฝึกออกเสียงพยัญชนะและสระภาษาจีนโดยใช้บทเพลง, Green Innovation “อะแมซิ่งกล้วยตาก”, อุปกรณ์พ่นยาผู้ป่วยหอบหืดที่ทำได้ด้วยตัวเอง,แฟชั่นโชว์ Collection Spring Summer จากแรงบันดาลใจ การแต่งกายจากภาพจิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยใช้ผ้าทอเอกลักษณ์ไทย ๔ ภาค, หุ่นยนต์เสริมกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติก, “ข้าววรางกูร” วัสดุห้ามเลือดทางศัลยศาสตร์อันเป็นผลผลิตจากข้าวเจ้าไทย และนวัตกรรมเครื่องตรวจความเสี่ยงโรคสมองขาดเลือดแบบเข้าถึงชุมชนที่ผู้ชมสามารถเข้าร่วมทดสอบได้ เป็นต้น
และเนื่องจาก วช. เป็นหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบด้านนโยบายยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศ จึงพบว่าในแต่ละปีหน่วยงานวิจัยที่มีอยู่หลากหลายแต่ต่างคนต่างทำงาน ทำให้เกิดการทำงานที่ซ้ำซ้อน มีผลงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่ถูกละเลยและไม่ได้นำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานวิจัย ๖ ส. และ วช. จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.)” ขึ้น ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.), สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์การมหาชน) (สวก.) เพื่อให้ระบบงานวิจัยมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน มีทิศทางที่สอดคล้องกัน พร้อมกันนี้ วช. ได้จัดทำ “คลังข้อมูลงานวิจัยไทย (Thai National Research Repository, TNRR)” ที่เปรียบเสมือนเป็น “เสิร์ชเอนจิน (Search Engine)” ให้นักวิจัยหรือผู้ที่สนใจงานวิจัยสามารถเข้ามาค้นคว้าและเข้าถึงงานวิจัยได้ง่ายขึ้น
“โดยให้ชื่อกลุ่มนิทรรศการนี้ว่า Highlight Zone (Highlight: Research Interchange Station)หรือนิทรรศการของเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) เพื่อสร้างศักยภาพของชาติด้วยงานวิจัยจากหน่วยงาน คอบช. ภายใต้ผลงานวิจัยมุ่งเป้า ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ เปรียบเสมือนสถานีหลักในระบบวิจัย เชื่อมโยงเครือข่ายร่วมกันวางพื้นฐานแห่งการวิจัยและพัฒนาเพื่อการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแบบ Growth City ตามหลักยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในชื่อ ๖ ส. กับ วช.”
นอกจากนี้ ยังมีการประชุม/สัมมนาในหัวข้อที่น่าสนใจกว่า ๑๐๐ เรื่องที่เปิดโอกาสให้กับนักวิจัยและผู้สนใจได้เข้าฟังโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ อาทิ บทเรียนจากโครงการพระราชดำริ ยุทธศาสตร์และบูรณาการกับยุทธศาสตร์การวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ นโยบายและเป้าหมายการสนับสนุนส่งเสริมการวิจัย การสัมมนาทางวิชาการไทย — อินเดีย ครั้งที่ ๗ คลังข้อมูลงานวิจัยไทย การวิจัยเพื่อพัฒนาการศึกษาในอนาคต เทคโนโลยีสาหร่าย วว. กับอนาคตของประเทศไทย ฯลฯ โดยวิทยากรจากหลากหลายสาขาอาชีพที่มีชื่อเสียง
“จึงขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจ นักวิจัย นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้นำชุมชน เช่น อบต. อบจ. เข้าชมงาน เพราะมีงานวิจัยเพื่อชุมชนมากมายที่รอให้ท่านมาศึกษาเรียนรู้และนำกลับไปใช้ประโยชน์ ในขณะเดียวกันหากท่านมีปัญหาและต้องการให้นำงานวิจัยเข้าไปช่วยวิเคราะห์ หาคำตอบเพื่อการแก้ไขก็สามารถแจ้งความจำนงกับ วช. ได้ เพื่อจะได้จัดเจ้าหน้าที่ นักวิจัย และหน่วยงานวิจัยลงไปร่วมทำงานเพื่อแก้ไขปัญหากับชุมชน และไม่ต้องกังวลว่ามางานแล้วไม่รู้จะชมอะไร เพราะ วช. ได้จัดมัคคุเทศก์น้อยที่ไว้คอยบริการและอำนวยความสะดวกในการนำชมและให้ข้อมูลที่ท่านสนใจ”
ผู้สนใจเข้าฟังการประชุม/สัมมนา สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th ภายในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ศกนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางโทรศัพท์หมายเลข ๐๒-๕๓๙-๓๑๒๘