“บริษัทยินดีเป็นอย่างยิ่งกับความสำเร็จของ Sector ETF ทุกกอง เนื่องจาก Sector ETF ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยให้นักลงทุนบริหารพอร์ตลงทุนได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหมวดธุรกิจที่คาดว่าจะมีผลประกอบการดี (Outperform) และลดน้ำหนักการลงทุนในหมวดธุรกิจที่คาดว่าจะมีผลประกอบการด้อย (Underperform) เนื่องจากสามารถซื้อขายแต่ละดัชนีหมวดธุรกิจได้อย่างง่ายดาย โดยไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์หุ้นเป็นรายตัว และสามารถทำกำไรได้ ไม่ว่าดัชนีจะขึ้นหรือลง นอกจากนี้ นักลงทุนสามารถใช้กลยุทธ์ Arbitrage เพื่อทำกำไรระหว่างหุ้นอ้างอิง กับ Sector ETF หรือ Sector Futures กับ Sector ETF ได้แบบครบวงจร” คุณนฤมล กล่าว
บล. เอเชีย พลัส ถือเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ทำหน้าที่เป็น Market Maker ให้กับกองทุนรวมอีทีเอฟมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย Sector ETF รวม 5 กอง ได้แก่ 1) กองทุนเปิด KTAM SET Banking ETF Tracker (EBANK) อ้างอิงดัชนีหมวดธุรกิจธนาคาร 2) กองทุนเปิด KTAM SET Energy ETF Tracker (ENY) อ้างอิงดัชนีหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค 3) กองทุนเปิด KTAM SET Food & Beverage ETF Tracker (EFOOD) อ้างอิงดัชนีอาหารและเครื่องดื่ม 4) กองทุนเปิด KTAM SET Commerce ETF Tracker (ECOMM) อ้างอิงดัชนีพาณิชย์ 5) กองทุนเปิด KTAM SET ICT ETF Tracker (EICT) อ้างอิงดัชนีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ซึ่งนักลงทุนสามารถซื้อขาย Sector ETF ทุกกองได้อย่างสะดวกสบายแบบ Real time บนกระดานตลาดหลักทรัพย์
ล่าสุดหลัง บล. เอเซีย พลัส เปิดให้นักลงทุนจองซื้อ EICT เนื่องจากคาดว่ากำไรของกลุ่มสื่อสาร (ICT) ในปีนี้และปีหน้า จะเติบโตโดดเด่นสูงกว่าอัตราการเติบโตของกำไรรวมทั้งตลาด ทั้งยังให้ผลตอบแทนสูงในรูปของเงินปันผล 4-5% ต่อปี จึงถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความน่าสนใจลงทุนเป็นอย่างมาก ประกอบกับราคา IPO ที่หน่วยละ 6.7911 บาท (โดยใช้ราคาปิด ณ วันที่ 19 ส.ค. 2556 ของกลุ่มดัชนีหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (SETICT) หารด้วย 35) ถือเป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสมและราคาต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ หลังตลาดหุ้นพักฐานจากการเมืองและรอปัจจัยใหม่ๆเข้ามาสนับสนุน
ทางด้านฝ่ายวิจัย บล. เอเชีย พลัส คาดว่ากำไรของกลุ่ม ICT ในปีนี้จะเติบโตโดดเด่นถึง 34.6% และเพิ่มขึ้นอีก 26.9% ในปีหน้า สูงกว่าอัตราการเติบโตของกำไรตลาดฯ ทีคาดจะเติบโต 23% และ 10% ตามลำดับ ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มน้ำหนักลงทุน จาก “เท่าตลาด” มาเป็น “มากกว่าตลาด”